5 ความเชื่อเรื่อง แร้ง

5 ความเชื่อเรื่อง “แร้ง”
 
 
องค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าทั่วโลกร่วมกันกำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนกันยายน เป็นวันแร้งสากล เพื่อให้เห็นความสำคัญของนกชนิดนี้ที่ปัจจุบันกลายเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของโลกไปแล้ว
 
5 เรื่องน่ารู้ในวันนี้
 
1. ในประเทศอียิปต์ แร้งเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าแร้งมีเทวานุภาพปกป้องคุ้มครองภยันตรายทั้งแบบรูปธรรมและนามธรรม ป้องกันคุณไสย์มนต์ดำต่างๆ สัญลักษณ์แร้งอยู่ปรากฎอยู่บนหน้ากากทองคำของมัมมี่ยุวฟาโรห์ตุตันคาเมน และอีกหลักฐานสำคัญ คือ เทวรูปพระเทวีไอซีส ที่มีปีกเป็นนกแร้ง พระนามว่าเทวีเนฟธีส (Nephthys)
 
2. ที่ทิเบตมีความเชื่อในการปลงศพแบ่งตามธาตุอยู่ 5 แบบ ได้แก่ การเก็บศพไว้ (การดอง) ฝากไว้กับดิน (ฝังศพ) ฝากไว้กับไฟ (เผาศพ) ฝากไว้กับน้ำ (ลอยศพ) และฝากไว้กับฟ้า หรือ Sky Burial โดยวิธีการนี้คือการให้แร้งจิกกินซากศพ เป็นหนึ่งในพิธีศพสำหรับสามัญชน ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สตีตั้งครรภ์ หรือเสียชีวิตจากโรคติดต่อ โดยสัปเหร่อหรือด็อมเอ็มส์ ทำหน้าที่นำร่างผู้เสียชีวิตไปให้แร้งกิน ซึ่งเชื่อว่าแร้งเป็น “ผู้ร่ายรำบนท้องฟ้า” เสมือนผู้นำทางวิญญาณผู้ตายไปสู่สรวงสวรรค์
 
3. แอฟริกาใต้ แร้งถูกใช้เป็นยาและญาณวิเศษ เชื่อกันว่าหัวแร้งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการปรุงยาแผนโบราณ ส่วนสมองนำไปรมควันช่วยให้มีญาณทิพย์สำหรับการมองเห็นอนาคต (น่าสงสารน้องแร้งที่นั้นจริง ๆ)
 
4. สำหรับประเทศไทย ตำรา “สกุณฤกษ์” สอนให้ดูนกบนท้องฟ้าก่อนทำการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นออกจากบ้านหรือยกทัพ มีคำกล่าวว่า “ถ้าเห็นพญาแร้งบินมา ดุจพระยามาร...” แร้งจึงถูกเป็นจัดเป็นสัตว์อัปมงคลและนำโชคร้ายมาให้มนุษย์คล้ายกับนกแสก
 
5. เหตุการณ์หนึ่งที่สันนิษฐานว่าทำให้ภาพจำของผู้คนในอดีตมีความเชื่อว่า แร้ง เป็นสัญลักษณ์แห่งความตาย คือ เหตุการณ์อหิวาห์ระบาดในสมัยรัชกาลที่ 2 ไม่สามารถเผาศพได้ทัน จึงกองศพไว้ที่บริเวณวัดสระเกศ ฝูงแร้งจึงรุมกินซาก กลายเป็นภาพคุ้นตาและคำติดปากว่า แร้งวัดสระเกศ ให้เราได้ยินกันมาจนถึงปัจจุบัน แต่เชื่อหรือไม่ว่า แร้งสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่เคยชุกชุมอยู่ในพระนครสมัยนั้น ปัจจุบันเหลือเพียงหลักสิบตัว และทุกตัวอยู่ในสวนสัตว์ เท่านั้น
 
 
สืบค้นและเรียบเรียง : สุดารัตน์ บ่ายเจริญ
ภาพ : ปิยะพงษ์ ชิณเดช
 
  
Visitors: 1,430,472