โควิดลงปอด มีอาการแบบไหน? ชวนรู้วิธีทดสอบขณะรอเตียง

'โควิดลงปอด' มีอาการแบบไหน? ชวนรู้วิธีทดสอบขณะรอเตียง

'โควิดลงปอด' มีอาการแบบไหน? ชวนรู้วิธีทดสอบขณะรอเตียง

 

เช็คอีกที! คนที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดแล้วพบว่า "ติดโควิด" ต้องรู้อาการ "โควิดลงปอด" เป็นแบบไหน? และมีวิธีการทดสอบตนเองอย่างไร? ระหว่างการติดต่อเข้าระบบสาธารณสุขและรอเตียง

ยิ่งมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลให้การส่งตัวผู้ป่วยเข้าระบบล่าช้ามากขึ้นเท่านั้น ทางออกของวิกฤตินี้ จึงต้องมีการปรับแผนดำเนินงานเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงระบบการรักษาได้รวดเร็วมากขึ้น แต่ระหว่างรอการติดต่อกลับของเจ้าหน้าที่นั้น ผู้ป่วยหลายคนก็กังวลว่าอาการป่วยของตนเองร้ายแรงแค่ไหน? เชื้อโควิดลงปอดหรือยัง? และต้องดูแลตัวเองระหว่างรอเตียงอย่างไร? 

 

สรุปมาให้รู้กันชัดๆ อีกครั้ง ดังนี้

1. เช็คอาการตัวเอง เขียว/เหลือง/แดง ? 

กรมควบคุมโรค แจ้งอาการของผู้ป่วยโควิด-19 มี 3 สี แยกประเภทดังนี้

ผู้ป่วยสีเขียว : เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส มีผื่น ถ่ายเหลว ตาแดง อุณหภูมิร่างกาย 37.5 องศาขึ้นไป

ผู้ป่วยสีเหลือง :  แน่นหน้าอก ปอดอักเสบ หายใจลำบาก เวียนหัว ไอแล้วเหนื่อย อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว 3 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า อาการแทรกซ้อนจากโรคประจำตัว
 

ผู้ป่วยสีแดง : หอบเหนื่อยหนักมาก แน่นหน้าอก หายใจเจ็บ อ่อนเผลีย ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว

 

 

 

2. "โควิดลงปอด" มีอาการแบบไหน?

โดยทั่วไปหากป่วยโควิดแล้วอาหารทรุดลงในขั้นที่เรียกว่า "โควิดลงปอด" ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยระดับสีเหลืองและสีแดง หมายความว่าจะมีอาการป่วยมากกว่าระดับสีเขียว ได้แก่

  • มีไข้สูงมากกว่า 37.5 องศา °C
  • ไอแห้ง/ไอมีเสมหะ และมีน้ำมูก
  • ไม่ได้กลิ่น ไม่รับรส ท้องเสีย/ถ่ายเหลว บ่อยครั้งต่อวัน
  • หายใจลำบาก รู้สึกหายใจได้ไม่เต็มปอด
  • รู้สึกเหนื่อยหอบ เหนื่อยง่ายขึ้น แน่นหน้าอก
  • มีอาการแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ 

 

162816202175

 

 

 

3. วิธีทดสอบว่า "โควิดลงปอด" หรือยัง?

มีข้อมูลจาก นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด การปลูกถ่ายปอด และวิกฤติบำบัด สหรัฐอเมริกา Doctor Tany (9 ก.ค. 64) ระบุว่า เมื่อรู้ผลตรวจว่า "ติดโควิด" ให้ดำเนินการติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อหาเตียงและเข้าสู่ระบบตามมาตรการ

ระหว่างรอ หากสงสัยว่าเชื้อโควิดลงปอดหรือไม่? สามารถทดสอบด้วยวิธีเดินไปมาในห้อง ปกติแค่เดินในห้องคนเราจะไม่เหนื่อย แต่ถ้าเดินในห้องแล้วเหนื่อยผิดปกติ หรือลุกยืน/ลุกนั่ง 2-3 ครั้งแล้ว "เหนื่อย" และวัดออกซิเจนในเลือดได้ 94% ลงไป ให้สงสัยว่าโควิดลงปอดไว้ก่อน

นอกจากนี้ยังมีวิธีทดสอบจาก นายแพทย์ นิธิพัฒน์ เจียรกุล สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ศิริราช (สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย) เผยถึงวิธีเช็คอาการปอดอักเสบเบื้องต้น(เชื้องลงปอด) โดยเรียกว่า sit-to-stand tests ซึ่งอธิบายเอาไว้ดังนี้

 

162816201998

1. เตรียมเก้าอี้ สวมเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วเอาไว้ ดูค่าที่วัดได้แล้วจำไว้ ยืนเท้าเอวบริเวณหน้าเก้าอี้ 

2. จากนั้นให้นั่งเต็มก้นลงบนเก้าอี้แล้วลุกขึ้นยืนตรงทันที โดยไม่ใช้มือดันเก้าอี้ และกลับไปนั่งเต็มก้นอีกครั้ง ทำซ้ำให้เร็วเท่าที่ทำได้ ภายใน 1 นาที (คนปกติที่ไม่ป่วยควรทำได้ 20-30 ครั้งใน 1 นาที) แต่ถ้าเหนื่อยและไม่ไหวให้หยุดทำทันที

3. เช็คดูที่เครื่องวัดออกซิเจนอีกครั้ง ถ้าออกซิเจนลดลงจากเดิม 3% ขึ้นไป เรียกว่าพบ desaturation (ต้องวัดและแสดงผลติดกัน 2-3 ครั้ง) แปลว่าปอดมีปัญหา ปอดผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์

4. สำหรับคนที่ทำได้ครบ 1 นาที ก็ให้มาดูที่เครื่องวัดออกซิเจนเช่นกัน หากวัดค่าได้เท่าเดิม หรือเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย 1-2% เรียกว่าไม่พบ desaturation ให้ถือว่าการทดสอบเสร็จสมบูรณ์ และปอดปกติดี

*ข้อห้าม : คนที่ไม่ควรทดสอบด้วยวิธีนี้ คือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ทรงตัวได้ไม่ดี และผู้ที่สัญญาณชีพไม่คงที่

 

อีกหนึ่งวิธีที่สามารถทดสอบได้เช่นกัน นั่นคือ การ การเดินเร็วๆ ต่อเนื่องเป็นเวลา 6 นาที แล้ววัดค่าออกซิเจนปลายนิ้ว ถ้าลดลงเกิน 3% แปลว่าปอดมีปัญหา ปอดผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เช่นกัน

 

4. วิธีดูแลตัวเองระหว่างรอเตียง เมื่อโควิดลงปอด

นายแพทย์ธนีย์ แนะนำว่าผู้ป่วยที่มีอาการโควิดลงปอด จะเหนื่อยมากผิดปกติ ดังนั้นระหว่างรอเจ้าหน้าที่มารับเข้าระบบ ให้นอนคว่ำ เนื่องจากปอด 2 ใน 3 จะอยู่ด้านหลัง เพื่อให้ปอดไม่มีการกดทับ และทำงานได้ดีขึ้น และปฏิบัติดังนี้

- ให้นอนคว่ำ และกอดหมอนไว้ที่หน้าอก เพื่อให้นอนสบายขึ้น

- หากนอนคว่ำไม่ได้ หายใจไม่ออก ให้นอนกึ่งตะแคงกึ่งคว่ำ 45 องศามาทางเตียง

- กรณีคนท้องให้นอนตะแคง เอาด้านซ้ายลง

- ระหว่างนอนคว่ำ ให้ขยับขาบ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด เช่น ยืดงอขา หรือยืดเหยียดปลายเท้า เป็นต้น

- หากยังทานอาหารได้ ให้พยายามทานให้เพียงพอ และดื่มน้ำมากๆ ประมาณ 2 - 2.5 ลิตรต่อวัน

- หากในกรณีที่ทานอาหารไม่ได้เลย ควรดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทน หากหาซื้อเกลือแร่ไม่ได้ ให้ใช้เกลือ 1 ช้อนชาและน้ำตาล ผสมลงในน้ำแก้วใหญ่ๆ แล้วดื่ม

- ถ้าเหนื่อยมาก เมื่อปวดถ่ายเบาหรือถ่ายหนักก็ตาม อย่าลุกไปเข้าห้องน้ำคนเดียว เพราะการนั่งเบ่งถ่ายในขณะที่ร่างกายมีออกซิเจนต่ำ จะทำให้หน้ามืด หมดสติ และหัวใจหยุดเต้นได้

- ให้เตรียมห้องน้ำไว้ข้างเตียงดีที่สุด เช่น กระโถน, คอมฟอร์ท100 (กระบอกปัสสาวะ), กระดาษหรือผ้ารองของเสีย ไม่ต้องอาย ไม่ต้องห่วงสุขลักษณะใดๆ เพราะหากโควิดลงปอดแล้ว ชีวิตท่านสำคัญที่สุด

- หากท้องผูกให้ทานยาระบายอ่อนๆ 

-----------------------------

อ้างอิง : 

นพ.ธนีย์ ธนียวัน

thoracicsocietythai

tnnthailand

 

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/953098

 

Visitors: 1,403,452