ใส่เสื้อตัวเดิม เก็บชุดให้อยู่นาน ชวนรู้จัก Slow Fashion แนวคิดตรงข้ามของ Fast Fashion

ใส่เสื้อตัวเดิม เก็บชุดให้อยู่นาน ชวนรู้จัก Slow Fashion แนวคิดตรงข้ามของ Fast Fashion

ใน 1 ปี คุณซื้อเสื้อผ้าใหม่ทั้งหมดกี่ตัว?

 

ในโลกที่กระแสทุนนิยมวนเวียนไปทั่วอย่างไม่อาจต้านทานได้ การมาของ fast fashion ที่เน้นการผลิตเสื้อผ้าแบบเร็วๆ ราคาถูก ใช้ได้ไม่นาน จึงเติบโตขึ้นอย่างหนัก กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบไปทั่วทุกพื้นที่ พร้อมกับการตั้งคำถามเรื่องศีลธรรมแรงงานและปัญหาสิ่งแวดล้อม นำไปสู่กระแสตอบโต้และแนวคิดที่เรียกว่า ‘slow fashion’

แล้ว slow fashion คืออะไร ทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน  ขอชวนทุกคนมาร่วมกันทำความเข้าใจถึงคอนเซปต์ของคำนี้ไปด้วยกัน

 

slow fashion คืออะไร?

ถ้าจะให้อธิบายอย่างสั้นที่สุด slow fashion ก็คือขั้วตรงข้ามของคำว่า fast fashion นั่นแหละ

ความหมายของ fast fashion ก็คือเสื้อผ้าที่ผ่านการผลิตแบบเร่งด่วน ในปริมาณมากๆ ด้วยต้นทุนต่ำเพื่อให้ผู้คนจับจ่ายได้ในราคาถูก และเป็นแฟชั่นที่ใช้ไม่นานก็ทิ้งได้เร็ว หรือกล่าวแบบย่อได้ว่า เป็นแฟชั่นที่มีวงจรสั้นๆ นั่นเอง

เล่าคร่าวๆ ก่อนว่า การมาของ fast fashion ถือกำเนิดแบบเคียงบ่าเคียงไหล่คู่มากับการเติบโตของชนชั้นกลางที่เริ่มมีกำลังจับจ่ายมากขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และยิ่งสินค้าผ่านกระบวนการผลิตแบบต้นทุนถูก ก็สามารถให้ผู้บริโภคซื้อเสื้อผ้าในราคาถูกได้ ทำให้ผู้คนรู้สึก ‘รวยขึ้น’ เพราะสามารถซื้อเสื้อผ้าในปริมาณมากๆ ได้ในราคาไม่กี่บาทเท่านั้น เช่น กำเงินไป 1,000 บาท สามารถซื้อเสื้อผ้าตัวละ 200-300 บาทได้ 3-4 ตัวเลย

ปัญหาหลักๆ ของเรื่องนี้ก็คือ ความมาไวไปไวของ fast fashion ที่ทำให้เกิดประเด็นชวนตั้งคำถามหลายอย่างตามมา ทั้งคำถามด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกระบวนการผลิตเสื้อผ้า fast fashion ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่าง น้ำ ปิโตรเลียม ถ่าน และทรัพยากรอื่นๆ อีกมาก ไปจนถึง คำถามต่อปัญหาการใช้แรงงานมนุษย์ในประเทศโลกที่สามอย่างกดขี่และไม่เป็นธรรม

รายงานของ Pulse of the Fashion Industry เมื่อปี 2018 ระบุว่า จากเสื้อผ้าทุกประเภทแล้ว มีเพียงแค่ไม่ถึง 1% ที่ถูกนำมารีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าใหม่ ซึ่งหมายความว่า เสื้อผ้าที่ถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปีนั้น ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานระยะยาว หรือสำหรับการรีไซเคิลใหม่ แต่เป็นเสื้อผ้าที่ถูกออกแบบมาให้ใช้ในระยะสั้นๆ เพื่อให้ผู้บริโภคไปซื้อเสื้อผ้าใหม่

ประเด็นเหล่านี้นำไปสู่กระแสต่อต้าน fast fashion ด้วยการรณรงค์ให้เลิกสนับสนุนเสื้อผ้าที่เข้ากับคอนเซปต์ความเป็น fast fashion เหล่านี้เสีย ถึงอย่างนั้น fast fashion ก็กระจายอยู่รอบๆ ตัวเราไปแล้ว จะให้คนเลิกซื้อเสื้อผ้าเหล่านี้ขั้นเด็ดขาดเลย ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ด้วยเหตุนี้ คำว่า ‘slow fashion’ จึงถือกำเนิดขึ้น โดยอย่างที่บอกไปว่า คอนเซปต์นี้เป็นขั้วตรงข้ามของ fast fashion ดังนั้น หลักใหญ่ใจความของ slow fashion ก็คือ กระแสเรียกร้องให้ผู้คนใส่เสื้อผ้านานๆ โดยที่เสื้อผ้าเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลร้ายธรรมชาติและมีจริยธรรมต่อทุกคน

ผู้ที่ริเริ่มใช้คำว่า slow fashion คนแรกก็คือ เคท เฟลทเชอร์ (Kate Fletcher) ศาสตราจารย์ด้านความยั่งยืน การออกแบบและแฟชั่นจาก University of the Arts London’s Center for Sustainable Fashion โดยกระแสของคำนี้ เริ่มมีมาให้เห็นกันในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ ด้วยความหวังว่า การใส่เสื้อผ้าอันเป็นปัจจัยพื้นฐานของเราจะไม่ไปทำร้ายธรรมชาติและเพื่อนร่วมโลกให้ได้มากที่สุด


แบบไหนถึงเรียกว่า slow fashion?

อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าในปัจจุบันเป็นไปด้วยความเร่งรีบ จนเกิดปัญหาหลายอย่างตามที่กล่าวไปข้างต้น ดังนั้น แนวคิดของ slow fashion ที่เป็นขั้วตรงข้ามของ fast fashion จึงต้องเป็นเสื้อผ้าที่ผลิตโดยเน้นให้เราใช้งานได้อย่างคงทน ใส่ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

slow fashion ยังยึดถือคอนเซปต์ว่า ไม่จำเป็นต้องซักบ่อยครั้งด้วย แต่แนวคิด ‘ไม่ต้องซักผ้าบ่อยๆ’ อาจเป็นไปได้ยากเสียหน่อยกับประเทศที่มีแต่ฤดูร้อน ร้อนมาก ร้อนมากที่สุด อย่างไทย แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามในการผลิตเสื้อผ้าที่เป็นผ้าโปร่ง โล่ง สบาย เพื่อให้ระบายอากาศได้ดีที่สุด และทำให้เหงื่อของเราออกน้อยที่สุดก็ตาม

ขณะที่ เส้นใยที่ใช้ในการผลิตเสื้อผ้าตามหลักของ slow fashion นั้น ก็ควรเป็นเส้นใยที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ ดังนั้น เส้นใยสังเคราะห์ที่ต้องผ่านกระบวนการอันส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เช่น โพลีเอสเตอร์ ไนลอน สแปนเด็กซ์ ที่ต้องใช้น้ำมันในการผลิตจำนวนมาก ก็ไม่เข้าข่ายเสื้อผ้า slow fashion รวมไปถึง เสื้อผ้าที่ผลิตจากขนและหนังสัตว์ด้วย

แนวทางของ slow fashion จึงหันไปใช้เสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยพืชมากกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เพียงแค่เป็นเส้นใยที่ทำจากพืชแล้วจะนับว่าเป็น slow fashion ได้ เพราะการทำเสื้อผ้าใน fast fashion ก็มีเสื้อผ้าที่ต้องใช้เส้นใยจากพืชมาผลิตด้วย แต่ด้วยอุตสาหกรรมที่เน้นความรวดเร็ว ทำให้กระบวนการผลิตเสื้อผ้าจากพืชของ fast fashion ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน เช่น เสื้อที่ทำจากผ้าฝ้าย ก็จำเป็นต้องใช้น้ำในปริมาณมาก ทั้งยังต้องผ่านสารเคมีมากมาย เพื่อจะเร่งผลผลิตออกมาให้ได้มากที่สุด

งั้นแปลว่า เราควรเลือกซื้อเสื้อผ้าที่มีกระบวนการผลิตแบบรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมใช่ไหม? ว่ากันตามตรงก็ใช่แหละ แต่พอเทรนด์รักษ์โลกมาแรง หลายแบรนด์ก็ใช้เทคนิค greenwashing โดยอ้างว่า ใช้กระบวนการผลิตเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยรักษาธรรมชาติตามที่บอกไว้ เป็นเพียงแคมเปญทางการตลาดที่ทำให้ผู้ซื้อรู้สึกสบายใจขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น หลายคนจึงเรียกร้องให้สนับสนุนเสื้อผ้าที่มีกระบวนการผลิตแบบจบในท้องถิ่นเป็นหลัก เพราะเป็นกระบวนการที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ง่ายว่า มีการเอารัดเอาเปรียบแรงงานหรือไม่ นอกจากนี้ เสื้อผ้าที่มีกระบวนการผลิตแบบครบจบในท้องถิ่น ก็ไม่ต้องผ่านกระบวนการขนส่งมากมาย ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากระบบขนส่งได้อีกด้วย

แล้วแบรนด์เสื้อผ้าไหน ที่ตรงตามหลัก slow fashion บ้างล่ะ?

หากเป็นแบรนด์ slow fashion ของต่างประเทศ ก็จะมีหลากหลาย ต่างสไตล์กันออกไป เช่น Girlfriend Collective แบรนด์ที่นำวัสดุเดิมมารีไซเคิลแล้วขายใหม่ โดยมีไซส์ให้ตั้งแต่ XXS ยัน 6XL, Boody แบรนด์ที่ผลิตเสื้อผ้าจากต้นไผ่ด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมี หรืออย่าง Tonlé แบรนด์เสื้อผ้าจากกัมพูชาและสหรัฐฯ​ ที่เน้นการผลิตแบบ zero waste เพื่อประดิษฐ์เสื้อผ้าทอมือ แถมยังใช้เศษผ้าเล็กๆ ในการทำกระดาษแฮนด์เมดสำหรับป้ายเสื้อ โดยแบรนด์ทั้งหมดนี้ยึดถือหลักการจ่ายค่าแรงอย่างเป็นธรรมด้วย

ขณะที่แบรนด์เสื้อผ้า slow fashion ในไทยเอง อาจจะมีไม่มากนัก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลยนะ เช่น KLAI ที่เน้นว่าทุกขั้นตอนของการออกแบบและผลิต ต้องเป็นไปตามหลักจริยธรรม ใช้ผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ ย้อมสีจากธรรมชาติ ผลิตออกมาตามจำนวนการสั่งซื้อ จ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยผู้ซื้อสามารถตรวจสอบกระบวนการผลิตเสื้อผ้าของแบรนด์ ผ่านทางเว็บเพจได้

หรือแบรนด์ FolkCharm ที่เน้นการผลิตจากผ้าฝ้าย แต่เมื่อไม่ต้องเร่งมือผลิตให้มีปริมาณมากเกินไป จึงไม่จำเป็นต้องใช้น้ำและสารเคมีในการผลิตอย่างหนักหน่วงเหมือนไร่ฝ้ายอื่นๆ โดยจะใช้พันธุ์ฝ้ายที่ชาวชุมชนปลูกกันในพื้นที่ และปลูกช่วงก่อนฤดูฝน เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอ ทั้งยังไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงอีกด้วย

 

เมื่อสินค้ารักษ์โลกแพงไป การใช้ของให้นานจึงเป็นทางออก

ถึงจะมีแบรนด์เสื้อผ้าที่ตรงตามหลักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ราคาของเสื้อผ้ารักษ์โลกส่วนใหญ่ก็แพงหูฉี่ หลายแบรนด์มีราคาสูงไปถึงหลักพันเป็นอย่างต่ำ ดังนั้น การจะดึงดันให้ทุกคนหันไปสนับสนุนแบรนด์เหล่านี้ คงไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ ยิ่งในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูงลิบแล้ว การเรียกร้องให้คนรักษ์โลกโดยไม่สนใจว่าผู้คนจำนวนมากต้องหาเช้ากินค่ำ และมีภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องรับผิดชอบ จึงถือเป็นเรื่องที่โหดร้ายเช่นกัน

ยิ่งกว่านั้น หลายคนอาจคิดว่า จะรักษ์โลกทั้งทีก็วุ่นวายเสียเหลือเกิน โน่นก็ทำไม่ได้ นี่ก็ทำไม่ได้ เพราะล้วนแล้วแต่ส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมไปเสียหมด

หากไม่สะดวกใจจะซื้อเสื้อผ้า slow fashion ที่ราคาแพง การหันไปซื้อเสื้อผ้ามือสองก็เป็นอีกวิธีหนึ่งเหมือนกันนะ เพราะการซื้อเสื้อผ้ามือสองแทนของใหม่ สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน

 

ขณะที่ อีกหนึ่งทางออกที่ง่ายกว่าก็คือ การใส่เสื้อผ้าให้นานขึ้น ซึ่งรายงานเรื่อง Fast fashion’s environmental impact: More clothes to the landfill จากสำนักข่าว NBC ระบุว่า การใส่เสื้อผ้าให้นานขึ้นอีก 9 เดือน จะช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับเสื้อผ้านั้นลงไปได้ถึง 30%

โดยเทคนิคการใช้เสื้อผ้าให้อยู่นานได้ มีดังนี้

  1. เลือกซื้อเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้นานๆ

จริงๆ แล้ว การซื้อให้น้อย คงเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่จะห้ามซื้อเสื้อผ้าใหม่เลย ก็หักดิบกันไปหน่อย ดังนั้น เราควรมีวิธีการเลือกซื้อเสื้อผ้าแต่ละชิ้นให้สวมใส่ได้นานที่สุด โดยออร์ซูลา เดอ แคสโท (Orsola De Castro) จากกลุ่ม Fashion Revolution แนะนำว่า ต้องดูก่อนว่าร่องรอยการเย็บหรือรอยตะเข็บของเสื้อผ้าที่เรา ‘กำลังจะซื้อ’ มีคุณภาพดีไหม

“สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อคุณกำลังเลือกซื้อเสื้อผ้าก็คือ กลับด้านเสื้อผ้าออกมา และดึงด้ายทุกเส้นที่คุณมองเห็นได้”

เธอเสริมว่า หากเสื้อผ้าถูกผลิตขึ้นมาแบบหยาบๆ เส้นด้ายก็จะหลุดลุ่ยได้ง่าย หากเราลองดึงได้แล้วด้ายนั้นคลายออก ก็ไม่ควรซื้อเสื้อผ้าชิ้นนั้นมา เพราะถือเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า เสื้อผ้าเหล่านี้จะไม่อยู่กับเรานานแน่นอน

เอมี่ วินสตัน ฮาร์ต (Amy Winston-Hart) ผู้เชี่ยวชาญด้านเสื้อผ้าวินเทจจาก Amy’s Vintage ก็ให้คำแนะนำสำหรับการเลือกซื้อเสื้อผ้าว่า ให้ลองชูชุดนั้นขึ้นสูงเพื่อส่องกับไฟ หากเห็นว่าแสงสะท้อนผ่านผ้าออกมามาก แปลว่า ผ้าชิ้นนั้นจะสวมใส่ได้ไม่นาน

อีกหนึ่งสิ่งที่ควรรู้ก่อนเลือกซื้อเสื้อผ้าก็คือ การรู้จักชนิดของผ้าที่เราจะสวมใส่ เพราะแน่นอนว่า ต่อให้เราซื้อเสื้อผ้ามาแพงขนาดไหน ก็ไม่มีทางที่เสื้อผ้าชิ้นนั้นจะอยู่ยงคงกระพัน หากเราใส่ซ้ำๆ บ่อยๆ สักวันหนึ่ง เสื้อผ้าชุดนั้นก็ต้องเสื่อมสภาพลง

ประเด็นนี้ก็มีข้อถกเถียงอยู่ว่า ควรใช้เสื้อผ้าแบบไหน บางคนก็เห็นด้วยกับใช้เสื้อผ้าเส้นใยธรรมชาติ แต่บางคนก็มองว่าเสื้อผ้าที่ผลิตจากใยสังเคราะห์คุ้มค่ากว่า อย่าง ชาล์ส โรสส์ (Charles Ross) ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนจาก Royal College of Art ที่เล่าว่า ชุดที่ทำจากโพลีเอสเตอร์ชำรุดช้ากว่าชุดที่ทำจากผ้าฝ้าย

นอกจากนี้ การใส่เสื้อผ้าที่ผลิตจากพืชก็ใช่ว่าจะรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะกระบวนการปลูกพืชในปัจจุบัน ต้องผ่านสารเคมีมากมาย เพื่อจะเร่งผลผลิตออกมาให้ได้มากที่สุด

ขณะที่ เดอ แคสโท กล่าวว่า ควรซื้อเสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติมากกว่า เพราะนำไปรีไซเคิลได้ และยังแนะนำว่า เสื้อผ้าที่เลือกซื้อนั้น ควรเป็นเส้นใยชนิดเดียวกันทั้งชุด เช่น เสื้อที่ผลิตจากผ้าฝ้าย 100% หรือขนแกะเมอริโนธรรมชาติแบบ 100% ซึ่งอาจจะไม่ทนทานต่อการซักซ้ำๆ เหมือนอย่างเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ แต่ผ้าเหล่านี้ระบายอากาศได้ดีกว่า ทำให้เราเหงื่อออกน้อยลง จึงไม่จำเป็นต้องซักบ่อยๆ (แต่ก็อย่างที่บอกว่า ในไทยอาจจะทำได้ยาก)

  1. ทำความสะอาดเสื้อผ้าให้ถูกวิธี

ยิ่งซักผ้าเท่าไหร่ เสื้อผ้าก็ยิ่งเสื่อมเร็วขึ้นเท่านั้น .. แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ควรซักผ้าเลยนะ เพียงแค่ว่า เราไม่ควรซักผ้าให้มากเกินความจำเป็นต่างหาก

สเตลล่า แม็กคาร์ตนีย์ (Stella McCartney) ดีไซน์เนอร์ชาวอังกฤษ เจ้าของแบรนด์ดัง Stella McCartney กล่าวว่า เสื้อผ้าบางชนิด ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำความสะอาดด้วยการซัก เช่น ชุดสูทสำหรับผู้ชาย ที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำความสะอาดด้วยการแปรง ดังนั้น การซักผ้าจึงไม่สามารถใช้ได้กับเสื้อผ้าทุกประเภท

ขณะเดียวกัน เดอ แคสโท ก็แนะนำให้ทำความสะอาดคราบสกปรกบนเสื้อผ้าแบบเฉพาะจุด หรือนำเสื้อผ้าที่ใส่เข้าไปในห้องน้ำขณะที่เราอาบน้ำอยู่ เพื่ออบไอน้ำเสื้อผ้าไปด้วยก็ได้ โดยเธอกล่าวว่า วิธีนี้นอกจากจะช่วยถนอมเสื้อผ้าแล้ว ยังช่วยประหยัดน้ำได้อย่างดีอีกด้วย เพราะเครื่องซักผ้าใช้น้ำโดยเฉลี่ย 13,500 แกลลอนต่อปี เทียบเท่ากับน้ำที่เราดื่มกันตลอดชีวิตเลยทีเดียว

ยิ่งกว่านั้น การซักผ้ายังทำให้เส้นใยของเสื้อผ้าหลุดออกเป็นอนุภาคขนาดเล็ก โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์อย่างโพลีเอสเตอร์ ซึ่งทำให้น้ำทะเลมีอนุภาคไมโครพลาสติกปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก นำไปสู่การตายของสัตว์ทั้งหลาย ตั้งแต่ปลาตัวเล็กตัวน้อย เต่า แมวน้ำ วาฬ ไปจนถึงนกทะเล

แต่ก็ใช่ว่าจะห้ามซักผ้ากันอีกเลย เพราะต้องยอมรับว่า การทำความสะอาดผ้าด้วยเครื่องซักผ้านั้นช่วยประหยัดแรงและเวลา ทั้งยังสะดวกกว่าด้วย ดังนั้น หากจะต้องซักผ้าด้วยเครื่องแล้ว ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของชุดที่เรามี ใช้ความร้อนที่เหมาะสม และควรนำผ้าใส่ถุงซักผ้าก่อน เพื่อลดการเสื่อมสภาพของชุดนั้นด้วย

  1. เก็บรักษาเสื้อผ้าให้อยู่นาน

“เก็บเสื้อผ้าทั้งหมดของคุณไว้ในที่เดียวกัน ฉันเรียกมันว่าพลังของ ‘กองพะเนิน’ ผู้คนจำนวนมากไม่ตระหนักถึงสิ่งของทั้งหมดที่พวกเขาเป็นเจ้าของ จนกว่าจะได้เห็นเต็มๆ” แคทรินา ฮัสซัน (Katrina Hassan) ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการกล่าว

การจัดเก็บตู้เสื้อผ้าของเราเป็นระยะๆ เพื่อดูว่าชุดไหนที่เรายังใส่อยู่ ชุดไหนที่เราไม่อยากใส่แล้ว หรือชุดไหนที่ชำรุดเสียหาย เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เราควรทำในการจัดเก็บเสื้อผ้า โดยฮัสซันยังแนะนำด้วยว่า เราควรเก็บผ้าที่พับไว้เป็นแนวตั้ง เพื่อที่จะได้เห็นในทีเดียวว่า เรามีอะไรอยู่บ้าง

นอกจากนี้ เสื้อผ้าที่ราคาแพงและต้องทะนุถนอม เธอก็แนะนำให้จัดเก็บไว้ในถุงที่ป้องกันแมลงหรือตัวไรเกาะแกะเสื้อผ้า เช่นเดียวกับรองเท้าที่ต้องคอยทำความสะอาด และเก็บรักษาไว้ให้ดี

อีกทั้ง หากเสื้อผ้าชำรุดเสียหาย ก็อย่างเพิ่งรีบทิ้งไป แต่ลองซ่อมแซมขั้นพื้นฐานดูก่อน โดยทอม แวน ไดเนน (Tom van Deijnen) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเย็บปักถักร้อยจากโครงการ Visible Mending แนะนำว่า หากเราต้องการซ่อมแซมเสื้อผ้า แต่ไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไร ให้เราทดลองกับเศษผ้าก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าต้องเย็บอย่างไร ใช้ผ้าชนิดไหน และใช้สีอะไร จึงจะซ่อมแซมเสื้อผ้าให้อยู่กับเราได้นานๆ

ถึงอย่างนั้น ก็ขอทิ้งท้ายไว้หน่อยว่า การมาของ slow fashion อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดเสียทีเดียว ตราบใดที่ fast fashion ยังคงดำเนินต่อไป รวมถึง หากเรายังคงผลิตสินค้าอยู่เรื่อยๆ โดยไม่นำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิล การผลิตเสื้อผ้าที่รักษ์โลกก็คงไม่มีความหมายเท่าไหร่

 

แต่ก็ใช่ว่าเราจะทำอะไรกับเรื่องนี้ไม่ได้เลยนะ เพราะอย่างที่บอกไปว่า หากใครมีกำลังซื้อพอ จะไปอุดหนุนแบรนด์ slow fashion ก็ได้ แต่ถ้าใครไม่สะดวกใจ จะหันไปใช้เสื้อผ้ามือสอง หรือแค่ใส่เสื้อผ้าของเราให้นานขึ้น ก็ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แล้วเช่นกัน

 

 

อ้างอิงจาก

sloww.co

thegoodtrade.com (2)

sustainablejungle.com

theguardian.com

forbes.com

nbcnews.com

readthecloud.co

tcdc.or.th

 

ที่มา : The Matter
https://thematter.co/social/slow-fashion-concept/133408

 

Visitors: 1,371,152