วันอาสาฬหบูชา 2564 เปิดประวัติ พร้อมรู้จัก วันธรรมสวนะ

‘วันอาสาฬหบูชา’ 2564 เปิดประวัติ พร้อมรู้จัก 'วันธรรมสวนะ'

‘วันอาสาฬหบูชา’ 2564 เปิดประวัติ พร้อมรู้จัก 'วันธรรมสวนะ'
 

เปิดประวัติ “วันอาสาฬหบูชา” วันสำคัญทางศาสนาที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร และมีความเกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติ “พระพุทธเจ้า” มากแค่ไหน? รวมถึงพาไปรู้จัก "วันธรรมสวนะ" ให้มากขึ้น

เนื่องใน “วันอาสาฬหบูชา” ที่ตรงกับวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 และ “วันเข้าพรรษา” 2564 ที่ตรงกับวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 กรมการศาสนาเชิญชวนพุทธศาสนิกชนชาวไทย "อยู่บ้าน สร้างบุญ" ลด ละ เลิก อบายมุขตลอดพรรษา พร้อมร่วมกิจกรรมในสัปดาห์วันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา ระหว่างวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม 2564

กิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจในปีนี้ คือ การเข้าวัดปฏิบัติธรรมใน วันธรรมสวนะ รูปแบบออนไลน์ (การทำวัตรเช้า-เย็น การรับศีล ฟังพระธรรมเทศนา ปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิ ตลอดพรรษา) โดยพุทธศาสนิกชนปฏิบัติได้โดยไม่ต้องเดินทางไปวัด ในการนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงจะขอพาคุณไปเรียนรู้ประวัติ "วันอาสาฬหบูชา" พร้อมรู้จัก "วันธรรมสวนะ" ดังกล่าวคืออะไร? 

1. วันธรรมสวนะ คือ วันพระหรือวันฟังธรรม

ธรรมสวนะ (อ่านว่า ทำ-มะ-สะ-วะ-นะ) หมายถึง วันประชุมของพุทธศาสนิกชนเพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "วันธรรมสวนะ" อันได้แก่ วันถือศีล วันฟังธรรม โดยเป็นวันที่มีกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ มีเดือนละ 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ, วันขึ้น 15 คำ่ (วันเพ็ญ), วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ

ในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังคงไม่ได้ทรงวางระเบียบในเรื่องนี้ไว้ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสาร ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลพระราชดำริของพระองค์ว่านักบวชศาสนาอื่น มีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าพุทธศาสนายังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้มีการประชุมพระสงฆ์ในวัน 8 ค่ำ 15 ค่ำ และอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์แสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันดังกล่าว

 

จากนั้น พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันธรรมสวนะสืบมา โดยจะเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะไปประชุมกันฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ที่วัด ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่าได้มีประเพณีวันพระมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

2. เปิดประวัติ “วันอาสาฬหบูชา” หรือการบูชาในเดือน 8

คำว่า “อาสาฬหบูชา” แปลว่า เดือน 8 ทางจันทรคติ กับคำว่า บูชา ที่แปลว่า การบูชา เมื่อนำมารวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8 โดยถือกำเนิดขึ้นในช่วงก่อนพุทธศักราช 45 ปี เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรง “ประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก” หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน

โดยพระองค์ได้ทรงแสดงปฐมเทศนาเป็นครั้งแรกด้วย เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม (เป็นวันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก)

ในการนั้นพระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ, พระวัปปะ, พระภัททิยะ, พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ จนพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา

จึงถือว่าวันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

 

 

159385145426

 3. “วันอาสาฬหบูชา” = วันพระธรรม

“วันอาสาฬหบูชา” (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้เป็นครั้งแรก จึงถือได้ว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาแก่ชาวโลก และการที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถแสดงธรรมเปิดเผยด้วยพระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ได้ ทำให้แจ้งแก่ชาวโลก จึงถือได้ว่าพระองค์ได้ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์

นั่นคือทรงสำเร็จภารกิจแห่งการเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็น “สัมมาสัมพุทธะ” คือเป็นพระพุทธเจ้าผู้สามารถแสดงสิ่งที่ตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ซึ่งแตกต่างจาก “พระปัจเจกพุทธเจ้า” ที่แม้จะตรัสรู้เองได้โดยชอบ แต่ทว่าไม่สามารถสอนหรือเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีอีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า "วันพระธรรม"

4. “วันอาสาฬหบูชา” ในไทย มีครั้งแรกปี 2501

เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีการบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาในประเทศพุทธเถรวาทมาก่อน จนมาในปี พ.ศ. 2501 การบูชาในเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาจึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย ตามที่คณะสงฆมนตรี ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2501

โดยคณะสังฆมนตรีได้มีมติให้เพิ่ม "วันอาสาฬหบูชา" เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธในประเทศไทย ตามคำแนะนำของพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) โดยได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา พร้อมทั้งกำหนดพิธีกรรมทางศาสนาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยให้มีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับ “วันวิสาขบูชา” 

159385122016

5. “วันอาสาฬหบูชา” = วันพระสงฆ์

เนื่องจากวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่ “โกณฑัญญะ” ได้บรรลุธรรมสำเร็จพระโสดาบันเป็นพระอริยบุคคลคนแรก และพระพุทธเจ้าได้ประทานเอหิภิกขุอุปสมบทเป็นภิกษุองค์แรกในพระศาสนา

การที่ท่านเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในโลกดังกล่าว พระรัตนตรัยจึงครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีอีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า "วันพระสงฆ์"

  

6. กำเนิดหลักคำสอน “บัว 4 เหล่า”

หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ประทับเสวยวิมุตติสุข อยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลาถึง 7 สัปดาห์ และในขณะที่ทรงนั่งประทับในสัปดาห์ที่ 5 พระองค์ทรงนั่งคำนึงว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเป็นของลึกซึ้ง ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ แม้กระนั้นก็ยังทรงพิจารณาเห็นว่าสัตว์โลกที่สอนได้ยังมีอยู่ เปรียบเสมือนดอกบัว 4 จำพวก ได้แก่

159385121919

- พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว : เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือน “ดอกบัวพ้นน้ำ” เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที

- พวกที่มีสติปัญญาดี : เมื่อได้ฟังธรรมและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือน “ดอกบัวปริ่มน้ำ” ซึ่งจะบานในวันถัดไป

- พวกที่มีสติปัญญาน้อย : แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ ขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธา ในที่สุดก็จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในวันข้างหน้า เปรียบเสมือน “ดอกบัวใต้น้ำ” ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง

- พวกที่ไร้สติปัญญา : แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธา ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือน “ดอกบัวจมในโคลนตม” มีแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน

7. สถานที่สำคัญเนื่องด้วย “วันอาสาฬหบูชา”

ปัจจุบันเหล่านักโบราณคดีมีการสันนิษฐานว่า จุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญใน “วันอาสาฬหบูชา” คือที่ตั้งของ “ธรรมเมกขสถูป” เพราะแม้ในพระไตรปิฎกจะไม่ระบุชัดเจนว่าจุดใดคือที่ตั้งของสถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา และแม้ สารนาถ (จัดเป็นพุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ 3 ตั้งอยู่ในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) จะถูกทำลายและถูกทอดทิ้งไปนานกว่า 700 ปีแล้ว

แต่ด้วยหลักฐานบันทึกของสมณทูตจีนที่บันทึกไว้ และชื่อเรียกของสถูปแห่งนี้ที่มีนามว่า ธรรมเมกขะ ที่แปลว่า "ผู้เห็นธรรม" บอกชัดเจนว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนา และสถูปนี้ถูกสร้างอุทิศให้แด่ผู้เห็นธรรมคนแรก ซึ่งก็ได้แก่พระอัญญาโกณฑัญญะนั่นเอง


159385122083

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/887971



 

 
Visitors: 1,405,478