กิจการอวกาศไทยคลอดแล้ว!
กิจการอวกาศไทยคลอดแล้ว!13 กรกฎาคม 2564
ครม.13 ก.ค.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ จะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมและรองรับการสร้างเศรษฐกิจอวกาศ หรือ New Space Economyเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศแล้ว โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นกฏหมายที่ทันต่อสถานการณ์และรองรับอนาคตของประเทศไทย ด้วยในปัจจุบันเทคโนโลยีอวกาศมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศเกิดขึ้นมากมาย ที่ดำเนินงานโดยหน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน มหาวิทยาลัยหรือแม้แต่ระดับโรงเรียน มีความร่วมมือจากจากภายในประเทศและต่างประเทศ กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ จะส่งผลให้เกิดประโยชน์กับประเทศในวงกว้างทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม
กฎหมายอวกาศหรือพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. .... จัดทำขึ้น เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศ การดำเนินกิจกรรมอวกาศระหว่างประเทศไทยกับนานาชาติ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับกฎกติกา สร้างความเชื่อมั่นของประเทศในระดับสากล และสิ่งสำคัญที่ตามมาคือทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีระดับสูงมาสู่บุคลากรภายในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญสร้างความแข็งแกร่ง ที่ส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถการลงทุนด้านกิจการอวกาศของประเทศด้วย
ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA กล่าวเสริมว่า กฎหมายฉบับนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมและรองรับการสร้างเศรษฐกิจอวกาศ หรือ New Space Economy ที่เน้นบทบาทร่วมจากภาครัฐและภาคเอกชน เป็นกฏหมายที่ให้การดูแลกิจการนิติบุคคลของไทย ส่งเสริมอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมอวกาศของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สร้างมาตรฐานของกิจการอวกาศประเทศไทย ตลอดจนดูเเลการประสานงานกับหน่วยงานอวกาศของต่างประเทศ ทำให้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย เกิดการลงทุน สร้างรายได้ และการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงภายในประเทศ
หลังจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ จะถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฏีกา และการพิจารณาของรัฐสภาก่อนที่จะประกาศบังคับใช้ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อพัฒนาประเทศไทยของเรา ทั้งนี้ ปัจจุบันเทคโนโลยีอวกาศเข้ามามีบทบาทและส่วนสำคัญกับชีวิตประจำวันของประชาชน ตลอดจนการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมอวกาศในระดับโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงกิจกรรมอวกาศของประเทศไทยที่มีพื้นฐานความพร้อม จากการศึกษาอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศ พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมากกว่า 35,600 กิจการ ซึ่งแบ่งเป็นร้อยละ 95 เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และเป็น Startup และกิจการต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางต่อเศรษฐกิจและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาท
ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ทางกฏหมายและองค์กรเพื่อรองรับกิจการอุตสาหกรรมอวกาศเหล่านี้ ที่ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศและความต้องการของภาครัฐ และเอกชนที่จะต้องการใช้ประโยชน์จากอวกาศมากขึ้น รวมถึงรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งความสำคัญในการร่วมกันขับเคลื่อนและการพัฒนาประเทศไทยของเรา
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/948681
|