กู๊ดบาย มลพิษขยะอิเล็กทรอนิกส์ หลังสิงคโปร์ติดตั้งจุดทิ้ง E-Waste ทั่วประเทศ

นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ประเทศสิงคโปร์กำลังยกระดับการแก้ไขปัญหาเรื่องขยะสำเร็จขึ้นไปอีกขั้น ผ่านการติดตั้งถังขยะรีไซเคิลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ไว้ตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ สำหรับคัดแยกไปรีไซเคิลอย่างเป็นระเบียบแบบแผน

โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม หากใครมีโทรศัพท์มือถือพัง โน้ตบุ๊กที่บุบสลาย จอคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานไม่ได้ แบตเตอรี่มือถือที่บวมเป่ง ยันปริ้นเตอร์ที่สิ้นอายุขัยแล้ว สามารถนำมาทิ้งได้ตามจุดทิ้ง E-Waste ที่ตั้งไว้ตามย่านชุมชนกลางเมือง ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต อาคารราชการ และที่ต่างๆ รวมแล้วมากกว่า 300 แห่ง

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เป็นหนึ่งในการเพิ่มแนวทางและช่องทางการแก้ไขปัญหา E-Waste เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วมได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะทิ้งผิดที่ผิดทาง แล้วกลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับโลก

ซึ่งเป็นการต่อยอดโครงการแยกขยะที่รัฐบาลของประเทศได้ดำเนินการและอำนวยความสะดวกด้านช่องทางการจัดการ E-Waste อย่างต่อเนื่อง เช่น บริการรับส่งขยะทางไปรษณีย์ อันเป็นนโยบายสำคัญที่สิงคโปร์พยายามเอาจริงเอาจังมาโดยตลอด

 

ทำไมสิงคโปร์จึงจริงจังกับเรื่องนี้

คำตอบไม่ยาก – หากทราบว่าประเทศที่มีประชากร 5.69 ล้านคน ทิ้ง E-Waste มากถึงประมาณ 120,000 ตันต่อปี และเคยอยู่อันดับ 19 ของประเทศที่สร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดของโลก

แต่ตอนนี้ E-Waste ในสิงคโปร์ลดลงเหลือ 60,000 ตันต่อปี ซึ่งก็ยังมากที่สุดในภูมิภาคภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้อยู่ดี

สำหรับการติดตั้งจุดทิ้ง E-Waste กว่า 300 แห่งทั่วประเทศนี้ เป็นความร่วมมือของหน่วยงานสิ่งแวดล้อมของรัฐกับ ALBA E-Waste Smart Recycling บริษัทรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะเป็นคนรวบรวมขยะและนำไปจัดการอย่างเหมาะสม

ข้อดีของเรื่องนี้ คือมีคนเข้ามารับผิดชอบอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็เพื่อลดปัญหาการทิ้งและส่ง E-Waste ไปกำจัดในโรงงานที่ตั้งขึ้นมาแบบผิดกฎหมาย ที่สืบเนื่องไปถึงมาตรฐานการจัดการ และมลพิษที่อาจเกิดขึ้นจากการรีไซเคิลที่ไม่ได้คุณภาพ

มากไปกว่านั้น คือการสร้างระบบฐานข้อมูลขยะ ซึ่ง ALBA จะบันทึกข้อมูลขยะทุกชิ้นก่อนนำไปรีไซเคิล ว่าเป็นขยะชนิดไหน ใครเป็นผู้ผลิต เพื่อดึงเอาภาคผู้ผลิตให้มีส่วนรับผิดชอบลงทุนรีไซเคิลขยะที่ตัวเองสร้างขึ้นด้วยอีกแรง

ส่วนใครจะจ่ายมากจ่ายน้อย ก็มาคำนวณจากสัดส่วนร้อยละของอุปทานในตลาด และน้ำหนักรวมของขยะที่เก็บได้อีกที

หรือเมื่อถอยหลังออกมายืนมองจากระยะไกลหน่อย ก็จะเห็นการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่สิงคโปร์กำลังนำมาใช้เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย Zero Waste ในอนาคต

อีกเรื่องคือการยืดอายุพื้นที่หลุมฝังกลบขยะของประเทศที่มีอยู่เพียงแห่งเดียว ให้เหลือที่รองรับขยะที่รีไซเคิลไม่ได้จริงๆ เท่านั้น

Semakau Landfill พื้นที่ฝังกลบและจัดการขยะของสิงคโปร์ รองรับขยะวันละ 2,100 ตัน | National Environment Agency

 

การตั้งจุดทิ้ง E-Waste นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์เท่านั้น ซึ่งยังมีอีกมากวิธีและขั้นตอน

งานหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือ การเปิดอบรมซ่อมแซมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นพื้นฐานให้กับชุมชน เพื่อยืดอายุข้าวของเครื่องใช้ให้อยู่กับเรานานๆ เป็นทั้งเทคนิคการลดขยะอย่างสร้างสรรค์ และยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าประชาชนได้อีกทาง

สุดท้ายของเรื่องนี้ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิล E-Waste สักเท่าไร ทาง ALBA ซึ่งเป็นผู้รับเหมาจัดการทั้งหมดยืนยันว่า ข้อมูลที่เราเคยเซฟไว้ในสมาร์ตโฟนหรือในโน้ตบุ๊กก่อนพัง “จะถูกทำลายทิ้ง” โดยไม่มีการนำกลับมารีไซเคิลใหม่อย่างแน่นอน

ดังนั้นใครที่ลังเลว่าจะทิ้งโทรศัพท์เก่าหรือคอมเก่าดีไหม สามารถทำได้เลย ไม่ต้องกังวลเรื่อง “ความลับ” ว่าจะรั่วไหล เพราะทุกอย่างจะสูญสลายไปกับกระบวนการรีไซเคิล

ข้อมูลจาก: BrandThink

 

Visitors: 1,405,569