รวมทุกเรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ ‘Pfizer’ วัคซีนตัวที่3 ที่รัฐจัดหา

รวมทุกเรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ ‘Pfizer’ วัคซีนตัวที่3 ที่รัฐจัดหา

รวมทุกเรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ  ‘Pfizer’ วัคซีนตัวที่3 ที่รัฐจัดหา
11 มิถุนายน 2564
 

การรอคอยใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว สำหรับใครที่กำลังรอวัคซีนโควิด 19 ‘Pfizer’ อีกหนึ่งยี่ห้อ 'วัคซีนที่กำลังจะเข้าไทยภายในปีนี้

หลังจากที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ลงนามในสัญญาเทอมชีท (Term Sheet) กับวัคซีน ‘Pfizer’ (ไฟเซอร์)  โดยมีการทำบันทึกความตกลงจะซื้อจะขาย ซึ่งจะมีเวลา 1 เดือน ในการตกลงเงื่อนไขและราคา เบื้องต้นจำนวน 20 ล้านโดส ส่งมอบภายในปีนี้

บริษัท ไฟเซอร์ มีหลายร้อยประเทศทั่วโลกได้ฉีดไปแล้ว เรียกได้ว่าเป็น 1ใน วัคซีนโควิด 19’ ที่หลายๆ คนทั่วโลกกำลังรอคอยรวมถึงคนไทย วันนี้ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ จะชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักกับวัคซีน ‘Pfizer’


  • วัคซีนโควิด ‘Pfizer’ คืออะไร?   

วัคซีนโควิด ‘Pfizer’ มีชื่อทางการว่า BNT162b2 เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ชนิด mRNA ที่คิดค้นโดยบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ร่วมกับบริษัทสัญชาติเยอรมันชื่อไอโบเอ็นเท็ค (BioNTech) โดยวัคซีนชนิดนี้ เป็นการสังเคราะห์สารพันธุกรรมเลียนแบบเชื้อไวรัสขึ้นมา ดังนั้น ในวัคซีนจึงไม่ได้มีอนุภาคของเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียที่ตายแล้วอยู่ภายใน


162333756266

เมื่อ mRNA ถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) เหมือนกับโคโรนาไวรัส ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการติดเชื้อจนเป็น ‘โควิด 19’ เมื่อร่างกายเห็นโปรตีนส่วนหนามของไวรัสแล้ว จึงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันไว้สำหรับป้องกันไวรัสจริงๆ ที่จะเข้ามาได้

 

วัคซีน‘Pfizer’ ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) เพื่อป้องกันโรคโควิด 19 สำหรับผู้ที่อายุ 12 ปีขึ้นไป

วัคซีน  ‘Pfizer’ เป็น‘วัคซีนโควิด 19’ บริษัทแรกที่ประสบความสำเร็จในการทดลองเฟสสาม โดยบริษัทได้ประกาศว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพมากกว่า 90% เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2563 และต่อมาได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2563 ให้ใช้ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป

  • วัคซีน ‘Pfizer’ มีประสิทธิภาพอย่างไร?

วารสารทางการแพทย์ The New England Journal of Medicine ในเดือนธันวาคม 2563 ทดลองในอาสาสมัคร 43,548 คน อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป แบ่งครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีน อีกครึ่งหนึ่งได้รับยาหลอก พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้ 95%

ต่อมาวันที่ 22 เม.ย.2564 ผู้วิจัยได้รายงานตัวเลขใหม่คือ 94.8% และแก้ไขประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มแรกเป็น 92.6% จากเดิม 52.4% เนื่องจากตัวเลขเดิมวิเคราะห์รวมช่วง 2 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนด้วย ซึ่งร่างกายยังไม่ทันสร้างภูมิคุ้มกัน ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับของวัคซีน Moderna ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA เหมือนกันคือ 92.1%


162333757811

นอกจากนี้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) กำหนดให้วัคซีน‘Pfizer’มีประสิทธิภาพสูงถึง 100% ในการป้องกันความรุนแรงของโรคที่เกิดจากโควิด 19

ในขณะที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) กำหนดให้ประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรงที่เกิดจากโรคโควิด 19 ไว้ที่ 95.3%

วัคซีน‘Pfizer’  ยังมีผลการทดลองเฟส 3/4 ที่น่าสนใจอีก 2 การทดลองคือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในสหราชอาณาจักรระหว่างเดือนธันวาคม 2563 ถึงมกราคม 2564 พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการหลังฉีดเข็มแรกประมาณ 75%

การทดลองในอิสราเอล ซึ่งเป็นการฉีดวัคซีนให้กับประชากรจำนวนมาก พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ 92%  ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 94%  และป้องกันอาการรุนแรง 92%

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของวัคซีนวัดจากการทดลองทางคลินิก ซึ่งอาจมีการควบคุมกลุ่มทดลอง แต่ในการนำมาใช้กับประชากรจริง ประสิทธิภาพมีโอกาสที่จะต่ำกว่าผลที่สรุปในการทดลองเนื่องจากหลายปัจจัย เช่น การกลายพันธุ์ของไวรัสใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้ใช้ในการทดลอง

 

  • วัคซีน‘Pfizer’ ป้องกันโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่”

เว็บไซต์ของ ‘Pfizer’ เผยว่าวัคซีน‘Pfizer’ มีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันโควิดในแอฟริกาใต้ สถานที่ซึ่งพบสายพันธุ์ B.1.351 เป็นครั้งแรก  นอกจากนี้ การศึกษาอื่นพบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน‘Pfizer’ ครบ 2 เข็ม มีโอกาสติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร หรือ B.1.1.7 น้อยลง 90%

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในห้องทดลอง โดยนำน้ำเหลืองของผู้ที่ได้รับวัคซีนมาทดสอบกับไวรัสที่กลายพันธุ์พบว่ามีประสิทธิภาพลดลง 2.0, 6.5 และ 6.7 เท่าต่อสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7), สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) และสายพันธุ์บราซิล (P.1) ตามลำดับ  ฉะนั้น ข้อมูลที่มีอยู่ยังคงต้องการการสังเกตและพัฒนาในระยะยาวต่อไป


162333759430

  • วัคซีน ‘Pfizer’ ฉีดอย่างไร?

วัคซีน‘Pfizer’ ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 21-28 วัน ใช้วิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแขนด้านบน ภูมิคุ้มกันจะเริ่มเกิดหลังจากฉีดวัคซีน‘Pfizer’ ไปแล้ว 12 วัน แต่ภูมิคุ้มกันจะทำงานเต็มที่หลังจากฉีดครบ 2 เข็ม

สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้รุนแรงไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ในเข็มที่สอง (วัคซีนไม่มีส่วนประกอบของไข่หรือลาเท็กซ์ แต่มีโพลีเอทิลีนไกลคอล ซึ่งเป็นตัวทำละลายในยาหรือเครื่องสำอาง)

  • ‘Pfizer’ มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ผลการทดลองในเฟสสาม พบว่าวัคซีน ‘Pfizer’ มีความปลอดภัย ส่วนใหญ่เป็นผลข้างเคียงไม่รุนแรง กลุ่มอายุน้อย (16-55 ปี) พบผลข้างเคียงได้มากกว่ากลุ่มอายุมากกว่า 55 ปี เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด 83% พบในกลุ่มอายุน้อย 71% พบในกลุ่มอายุมากกว่า 55 ปี (83% ต่อ 71%) ไม่ค่อยพบอาการบวม/แดงบริเวณที่ฉีด อาการอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย (47% ต่อ 34%) ปวดศีรษะ (42% ต่อ 25%) หนาวสั่น (14% ต่อ 6%)

ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงพบ 4 ราย ได้แก่ หัวไหล่บาดเจ็บจากการฉีดวัคซีน ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ขวาโต หัวใจเต้นผิดจังหวะชั่วคราว และชาขาข้างขวา แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

ขณะที่ภายหลังจากสหรัฐอเมริกาเริ่มฉีดวัคซีนในประชากรจำนวนมาก พบอัตราการแพ้วัคซีนรุนแรง 4.5 รายต่อ 1 ล้านโดสใน 1 เดือนแรก จนถึงขณะนี้วัคซีนถูกฉีดไปแล้วมากกว่า 150 ล้านโดส


162333761574

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เมื่อวันที่ 21 เม.ย.มีรายงานผลการติดตามการฉีดวัคซีนเบื้องต้นพบว่า 86.1% ตั้งครรภ์จนคลอดเป็นทารก (ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนในไตรมาสที่ 3) ในจำนวนนี้คลอดก่อนกำหนด 9.4% ส่วนอัตราการแท้งไม่แตกต่างจากช่วงก่อนที่จะมีการระบาด คณะกรรมการที่รับผิดชอบด้านวัคซีนจึงแนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนเหมือนคนทั่วไป

ผลข้างเคียงที่พบได้ยาก อาจมีดังนี้ เป็นลม เวียนศีรษะ การมองเห็นผิดปกติ รู้สึกชาตามร่างกาย หากมีอาการดังที่กล่าวมานี้หลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ควรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที นอกจากนี้การหาที่นั่งพัก หรือนอนราบอาจช่วยให้อาการบรรเทาลงได้

  • เช็ค! อาการแพ้วัคซีน‘Pfizer’มีอะไรบ้าง

อาการแพ้วัคซีน ‘Pfizer’ ถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือแพทย์ทันที อาจมีดังนี้  มีผื่นขึ้นตามตัว มีอาการคัน บวม ตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะใบหน้า ลิ้น และลำคอ เวียนศีรษะมาก หายใจลำบาก

อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวอาจไม่ใช่อาการทั้งหมดที่มีโอกาสเกิดได้ หากคุณมีอาการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากด้านบน ควรติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ทันที


1623337648100

  • วัคซีน‘Pfizer’ เหมาะ- ไม่เหมาะกับใคร?

วัคซีน‘Pfizer’ เหมาะกับผู้อยู่ในเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
  • ผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุข และมีโอกาสสัมผัสรับเชื้อมากกว่าคนอื่น
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลให้อาการรุนแรงหากติดเชื้อโควิด 19 เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหอบหืด โรคปอด โรคตับ โรคไต และโรคติดเชื้อเรื้อรังอื่นๆ
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ควรได้รับวัคซีนหลังจากปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลแล้วเท่านั้น
  • ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV เพราะมีโอกาสเสี่ยงสูง แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
  • ผู้ที่เคยติดโควิด 19 มาแล้ว อาจรับวัคซีนไฟเซอร์หลังจากติดโควิด 19 มาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน
  • สตรีที่กำลังอยู่ระหว่างให้นมบุตร โดยเฉพาะหากเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านสาธารณสุข ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
  • สตรีมีครรภ์ อาจควรรับวัคซีนหากแพทย์พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่จะได้รับ มีมากกว่าความเสี่ยง เช่น สตรีมีครรภ์มีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงเมื่อติดโควิด

ทุกเงื่อนไขที่กล่าวมา ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้ชำนาญการก่อนรับวัคซีน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับวัคซีนโควิดได้ที่บทความ คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวัคซีนโควิด

ส่วน ‘Pfizer’ ไม่เหมาะกับผู้ที่มีเงื่อนไขต่อไปนี้ 

หากอยู่ในเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ไม่ควรรับวัคซีนไฟเซอร์ หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

  • ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 16 ปี เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์ทำการทดสอบกับผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป องค์การอนามัยโลกจึงยังไม่แนะนำให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปีฉีดวัคซีนไฟเซอร์
  • ผู้ที่มีอาการแพ้ หรือโรคภูมิแพ้ทั้งแบบรุนแรง และไม่รุนแรง ต่อส่วนผสมของ mRNA ในวัคซีนโควิด-19 ไม่ควรรับวัคซีนชนิดนี้
  • ผู้ที่มีอาการแพ้โพลี เอธิลีน ไกคอล (Polyethylene glycol: PEG) และ พอลิซอร์เบต (Polysorbate) เป็นสารชนิดหนึ่งที่ใช้ในเครื่องสำอาง และยาบางชนิด

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/942919?utm_source=grf-eng&utm_medium=partner&utm_campaign=giraff.io


Visitors: 1,403,460