เทศกาล 'ไหว้บะจ่าง' 2564 เปิดตำนานบูชาเทพเจ้ามังกร
เทศกาล 'ไหว้บะจ่าง' 2564 เปิดตำนานบูชาเทพเจ้ามังกร14 มิถุนายน 2564
เทศกาล "ไหว้บะจ่าง" 2564 ปีนี้ตรงกับวันที่ 14 มิถุนายน โดยถือเป็น 1 ใน 4 เทศกาลสำคัญของลูกหลานแดนมังกร รวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีน อีกทั้งเทศกาลนี้ยังถือเป็นเทศกาลแรกที่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ในปี 2009ทุกๆ ปี ภาพจำเทศกาลสำคัญของพี่น้องไทยเชื้อสายจีนทั้งหลายคือ "วันตรุษจีน" กับชุดกี่เพ้าสีแดงเข้ม แต่อีกหนึ่งเทศกาลสำคัญรองลงมาจากวันปีใหม่จีน เทศกาลไหว้พระจันทร์ และเทศกาลเชงเม้ง ก็คือเทศกาล "ไหว้บะจ่าง" ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยเทศกาล "ไหว้บะจ่าง" ไม่ได้แพร่หลายหรือได้รับความนิยมมากนัก ส่วนใหญ่แล้วจะรู้จักแค่ขนม "บะจ่าง" เท่านั้น แต่ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เราจะได้เห็นขนมบะจ่างในท้องตลาดเพิ่มมากขึ้นในหลายๆ ที่ เพราะวันไหว้บะจ่างในปี 2564 นี้ตรงกับวันที่ 14 มิถุนายน และเพื่อคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับเทศกาลไหว้บะจ่าง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนทำความรู้จัก "บะจ่าง" ผ่านเทศกาลสำคัญของจีนที่ยิ่งใหญ่นี้
ในวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติของจีนของทุกๆ ปี เป็นวันที่เรียกกันว่าเทศกาลไหว้บะจ่าง มีชื่อเรียกในภาษาจีนกลางว่า 端午节 (duānwŭjié) (อ่านว่า ตวนอู่เจี๋ย) สำหรับที่มาของการไหว้ "บะจ่าง" นั้นสืบทอดมาจาก 2 ประเพณีที่เชื่อมโยงด้วยกัน คือ การบูชาเทพเจ้ามังกรและประเพณีแข่งเรือมังกร ดังนั้นแล้วชื่อทางการที่เป็นภาษาอังกฤษของวันไหว้บะจ่างจึง เรียกว่า Dragon Boat Festival ข้อมูลจาก thaiPhDinchina.com ระบุว่า เทศกาลไหว้บะจ่างนั้น แรกเริ่มเดิมทีมาจากการบูชาเทพเจ้ามังกร ซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาของชาวไป่เยว่ 百越族 กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงตั้งแต่ช่วงกลางลงไปยังตอนใต้ ว่ากันว่าชาวไป่เยว่มีการสักตัวด้วยรูปมังกร เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าตนคือลูกหลานมังกรอีกด้วย ชาวไป่เยว่เดินทางข้ามฟากไปมาหาสู่กันด้วยเรือที่ทำจากไม้ท่อนเดียวเป็นพาหนะ ในอดีตจึงมีการจัดแข่งพายเรือมังกรเพื่อเป็นการเคารพบูชาเทพเจ้ามังกรในช่วงเวลานี้ ซึ่งว่ากันว่าในการแข่งพายเรือมังกรนั้น มีการนำเอาอาหารใส่ลงกระบอกไม้ไผ่ หรือห่อด้วยใบไม้แล้วโยนลงน้ำ เพื่อแสดงความเคารพต่อเทพเจ้ามังกร ให้ปกป้องคุ้มครองลูกหลาน
กล่าวถึงเรื่องวันของเทศกาลไหว้บะจ่างที่ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 นั้น เป็นช่วงเวลาที่เพิ่งผ่านพ้นสารทหรือภาวะ หมางจ้ง 芒种 เป็นสารทหรือภาวะหนึ่งในรอบ 24 ระยะตามปฏิทินจีน (24 节气)ซึ่งถือเป็นช่วงที่ข้าวสาลีได้เวลาเก็บเกี่ยว และเริ่มต้นเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์อื่นได้ และตามคติความเชื่อของชาวจีนโบราณนั้นเชื่อว่าเดือน 5 เป็นเดือนที่มีพิษ เนื่องจากสภาพอากาศที่เริ่มร้อน สัตว์ร้ายเริ่มออกอาละวาด ดังนั้นจึงต้องมีการปัดกวาด เช็ดถู จัดบ้านและทำสุขอนามัยภายในบ้านให้ดีขึ้น เพื่อไม่ให้เหล่าแมลงและสัตว์ร้ายเข้ามารบกวน
ภายหลังในปี 278 ก่อนคริสต์ศักราช ชวีหยวน นักกวีตงฉินผู้ซึ่งถูกฮ่องเต้หูเบาหลงเชื่อขุนนางกังฉิน จนถูกเนรเทศออกนอกเมืองนั้น ได้กระโดดน้ำตายที่แม่น้ำเล่ยหลัวเจียงในวันนี้พอดี ด้วยความรักและอาลัยที่มีต่อชวีหยวน ชาวบ้านจึงได้พากันงมหาศพ และนำข้าวห่อใบไผ่โยนลงไปในน้ำเพื่อหวังไม่ให้ฝูงปลากินศพของเขา ด้วยความที่เป็นที่รักของประชาชน เรื่องราวของเขาจึงสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ผูกโยงสู่เทศกาลไหว้ "บะจ่าง" กับการรำลึกถึงกวีชวีหยวนกลายเป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดต่อมา กล่าวได้ว่าเทศกาลไหว้บะจ่างในปัจจุบัน สืบทอดมาจากประเพณีแข่งเรือมังกรซึ่งเกิดขึ้นจากความเชื่อเรื่องการเคารพเทพเจ้ามังกรมาตั้งแต่สมัยอดีต จนภายหลังได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นเทศกาลรื่นเริงเช่นทุกวันนี้
เทศกาลไหว้บะจ่างมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่ต่างๆ อีกทั้งธรรมเนียมปฏิบัติของเทศกาลนี้ก็พบในญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนามอีกด้วย ในประเทศจีนเทศกาลไหว้ "บะจ่าง" ถูกระบุให้เป็นเทศกาลที่กำหนดวันหยุดโดยรัฐบาล นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) กับทาง UNESCO ในปี 2009 ถือเป็นเทศกาลแรกของจีนที่ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก กิจกรรมและประเพณีต่างๆ ที่ชาวจีนนิยมทำกันในเทศกาลไหว้ "บะจ่าง" ได้แก่ ดูแข่งเรือมังกรกินบะจ่าง แขวนหญ้าอ้ายเฉ่า ชางผู ดื่มเหล้ายา เป็นต้น
สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในเทศกาลนี้ก็คือ "บะจ่าง" อาหารชนิดนี้ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการถนอมอาหารให้เก็บไว้ทานได้นาน ในช่วงที่อากาศเริ่มอุ่น นั่นคือการนำข้าวเหนียวมาห่อใส่ใบไผ่ และนำไปต้ม ว่าด้วย 'ไส้' ของบะจ่างนั้น ปัจจุบันมีสูตรเฉพาะของแต่ละพื้นที่ในประเทศจีนค่อนข้างหลากหลาย แต่โดยทั่วไปแล้วพื้นที่จีนตอนเหนือนิยมทำไส้ถั่วแดงหรือพุทราแดงค่อนข้างมาก ส่วนทางใต้จะเน้นไส้หลากหลาย ทั้งเนื้อ ไข่แดง เห็ด แปะก๊วย และอื่นๆ จัดเต็มกันไปตามสูตรของแต่ละพื้นที่ แต่สิ่งหนึ่งที่มีเอกลักษณ์ร่วมกันของบะจ่างก็คือ สัณฐานทรงสามเหลี่ยม ที่ต้องเป็นทรงสามเหลี่ยมนั้นเพราะมีลักษณะคล้ายเขาวัว ประชาชนจึงใช้บะจ่างเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึง "วัว" ซึ่งเป็นของอย่างหนึ่งในการเซ่นไหว้นั่นเอง สำหรับคนไทย "บะจ่าง" ถือเป็นอาหารที่มีรสชาติครบเครื่องทั้งหอม หวาน เค็ม มัน เมื่อรู้เรื่องราวของบะจ่างแล้วอย่าลืมหยิบมาชิมให้เข้าถึงรสมากขึ้นด้วยละ
---------------------------- อ้างอิง : ขอบคุณที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/886794
|