Google Earth เปิดฟีเจอร์ ‘Timelapse’ สำรวจภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกย้อนหลัง 37 ปี
ปัจจุบันผู้คนหลายล้านคนหันมาใช้ Google Earth เพื่อสำรวจโลกของเรา ไม่ว่าจะเป็น ศึกษาผังเมือง ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือศึกษาลักษณะภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ย่อโลกใบใหญ่ไว้ให้อยู่ในจอสมาร์ตโฟน เสมือนเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ใช้งานได้รู้จักโลกใบนี้ได้ดียิ่งขึ้น Google Earth เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ชื่อว่า “Timelapse” ที่รวบรวมภาพถ่ายดาวเทียมทั่วโลก เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก จากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รวมถึงผลกระทบที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ ในช่วง 37 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 1984 จนถึง 2020 นับเป็นการอัปเดต Google Earth ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 4 ปี
ซึ่ง Timelapse นี้เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงาน ทั้ง Google, CREATE Lab ของ Carnegie Mellon University, Landsat โครงการสังเกตการณ์โลก ของ NASA กับ องค์การสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ และโครงการ Copernicus Earth ขององค์การอวกาศยุโรป เป็นต้น
โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมทั้งหมด 24 ล้านภาพ ประกอบรวมกัน มีขนาด 20 เพตาไบต์ จากนั้นประมวลผลด้วย Google Cloud นานถึง 2 ล้านชั่วโมง แล้วนำมาแปลงเป็นไฟล์วิดีโอโมเสกไฟล์เดียว ขนาด 4.4 ล้านเทราพิกเซล กลายเป็นไฟล์วิดีโอที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งการประมวลข้อมูลทั้งหมดนี้ทำขึ้นภายในศูนย์ข้อมูลของ Google ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% และปลอดคาร์บอน ทั้งนี้จากการสำรวจของทีมพัฒนาพบปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของโลก 5 ประการ ดังนี้
ทั้งนี้ตัวอย่างภาพที่จะได้เห็นใน Timelapse เช่น Cape Cod คาบสมุทรที่ยื่นออกมาจากชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ที่เคลื่อนตัวไปทางใต้อย่างช้าๆ รวมถึงการเจริญเติบโตทางการเกษตรท่ามกลางทะเลทรายในประเทศซาอุดีอาระเบีย หรือการพัฒนาของชายหาด Songdo ที่มนุษย์สร้างขึ้นในเกาหลีใต้อีกด้วย สำหรับใครที่สนใจ สามารถเข้าไปได้ที่ g.co/Timelapse จากนั้นใช้แถบค้นหา เพื่อระบุสถานที่บนโลกที่ต้องการดูการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ Google ยังได้อัปโหลดวิดีโอ Timelapse มากกว่า 800 วิดีโอ ทั้งในรูปแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ เพื่อเปิดเป็นข้อมูลสาธารณะที่ g.co/TimelapseVideos
ข้อมูลจาก: BrandThink |