หายจากโควิดแล้ว...ใช่ว่าสบายดี Long Covid อาการต่อเนื่องที่ต้องจับตา

หายจากโควิดแล้ว...ใช่ว่าสบายดี Long Covid อาการต่อเนื่องที่ต้องจับตา
 
จาก 141 ล้านรายของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมทั่วโลก ปัจจุบัน (18 เม.ย. 64) รักษาหายแล้วกว่า 120 ล้านราย แน่นอนว่าจากตัวเลขนี้นับเป็นสัญญาณบวก 
แต่ "คุณ" รู้ไหมว่า แม้ผลตรวจโควิด-19 จะออกมาเป็น "ลบ" แล้ว ก็ใช่ว่าจะสบายดี
 
 
ที่ว่ามานั้น...เรากำลังเอ่ยถึงสิ่งที่เรียกว่า Long Covid!
 
Long Covid คืออะไร?
 
คำศัพท์นี้... ถูกหยิบยกมาใช้อธิบายถึงอาการต่อเนื่องที่เกี่ยวพันกับโควิด-19 ซึ่ง ณ เวลานี้ กำลังกลายเป็น "หัวข้อ" การถกเถียงในวงการแพทย์ทั่วโลก
 
นั่นเพราะว่า แม้ประชากรโลกหลายล้านรายจะหายจากโควิด-19 แล้ว แต่กลับพบ "หลายคนฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่" ยังคงต้องทุกข์ทรมานจากผลกระทบระยะยาว และกำลังกลายเป็นความน่ารำคาญใจ...ที่เหมือนว่าจะลากยาวไปอีกหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน
 
ถึงบางรายจะพบว่ามีอาการต่อเนื่องอยู่ที่ 8 สัปดาห์ แต่ผู้สังเกตการณ์ทางด้านสาธารณสุขของสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ หรือ "ไนซ์" (National Institute for Health and Care Excellence: NICE) นิยาม Long Covid ไว้ว่าน่าจะยาวนานมากกว่า 12 สัปดาห์เลยด้วยซ้ำ!
 
 

ทั้งนี้ทั้งนั้น... ในส่วน "ระยะเวลา" การฟื้นตัวจากภาวะ Long Covid ยังคงอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ด้วยโควิด-19 ที่นับได้ว่าเป็นโรคใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงยังยากที่จะระบุอย่างแน่ชัด แต่สิ่งที่ค้นพบก็พอจะบอกได้ว่า กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนี้ไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะของโควิด-19 ซะทีเดียว เพราะอาการป่วยจากไวรัสอื่นๆ ก็สามารถส่งผลกระทบระยะยาวได้เช่นกัน
 
 
จากการศึกษาที่นำโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเลสเตอร์อธิบายได้ว่า
 
 
ในบรรดากลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารักษาอาการป่วยเริ่มแรกในโรงพยาบาลจะมีอาการป่วยทั่วไปต่อเนื่องนานไปอีกประมาณ 5 เดือนหรือมากกว่านั้น แต่หากรวมกับกลุ่มผู้ป่วยที่อาการไม่หนักจนถึงกับต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ก็จะมีอาการต่อเนื่องประมาณ 12 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น
 
 
 
แล้วอาการของ Long Covid มีอะไรบ้าง?
 
 
คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่ผลกระทบบางอย่างจากไวรัสยังคงตกค้างอยู่ ซึ่งบางรายเหมือนว่ากว่าร่างกายจะดีขึ้นอาจต้องใช้เวลานานทีเดียว และบางรายก็เหมือนว่าจะแย่ลงกว่าตอนแรกที่ป่วยเสียอีก
 
กลุ่มนักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีการรายงานอาการผ่านแอปพลิเคชัน Covid Symptom Study แยกอาการป่วยออกเป็น 2 กลุ่มหลัก
 
 
โดยกลุ่มอาการแรกมีอาการเกี่ยวกับการหายใจ เช่น ไอ หรือรู้สึกหายใจลำบาก รวมถึงเหนื่อยล้าและปวดหัว
ส่วนกลุ่มอาการที่ 2 จะส่งผลกระทบกับร่างกายหลายๆ ส่วน ตั้งแต่หัวใจ สมอง และกระเพาะอาหาร
 
 
ซึ่งจากการศึกษาตัวอย่างผู้ป่วย 4,182 ราย พบว่า มีอาการทางหัวใจ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจเร็วและไม่สม่ำเสมอ หรือการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น มึนงง และภาวะสมองล้า ที่เรียกว่า Brain Fog
 
 
สรุปโดยย่ออาการ Long Covid ได้ดังนี้
1. เหนื่อยล้า
2. หายใจลำบาก
3. วิตกกังวลและซึมเศร้า
4. อัตราการเต้นของหัวใจเร็วและไม่สม่ำเสมอ
5. เจ็บหน้าอก
6. เจ็บข้อต่อหรือกล้ามเนื้อ
7. ไม่สามารถจดจ่อกับความคิดหรือโฟกัสสิ่งใดได้ ไปจนถึง "ภาวะสมองล้า"
 
ส่วนสาเหตุอาการที่แน่ชัดอันเป็นผลให้ผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 พัฒนาไปสู่การเป็น Long Covid นั้น ขณะนี้ยังมีการถกเถียงและสอบถามกลุ่มผู้ป่วยทั่วโลกอยู่ และต้องประเมินด้วยว่า สภาพแวดล้อมในยามรักษาอาการป่วยโควิด-19 เป็นหนึ่งในปัจจัยด้วยหรือไม่
 
คนที่มีอาการ Long Covid มีมากแค่ไหน?
 
 
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติสหราชอาณาจักรประมาณการไว้ว่า จนถึง 6 มีนาคม 2564 กลุ่มคนที่มีอาการ Long Covid แค่เฉพาะในสหราชอาณาจักร มีมากถึง 1.1 ล้านราย เฉลี่ยแล้วมีอาการต่อเนื่องยาวไปอีก 4 สัปดาห์นับจากเริ่มมีการติดเชื้อโควิด-19
 
ขณะเดียวกัน พบว่า มากกว่า 2 ใน 3 มีอาการต่อเนื่องมากกว่า 12 สัปดาห์ และ 1 ใน 5 บอกว่า อาการที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวันของพวกเขาอย่างมาก
 
อีกหนึ่งการศึกษาที่นำโดยมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ กับกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล 1,000 ราย พบว่า กว่า 7 ใน 10 ฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ในช่วง 5 เดือนแรกหลังออกจากโรงพยาบาล และในรายงานยังระบุอีกว่า 1 ใน 5 อาจกลายเป็นคนไร้ความสามารถ
 
 
17.8% พวกเขาไปทำงานไม่ได้อีกต่อไป
อีก 19.3% กำลังประสบกับภาวะสุขภาพที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงการทำงานของพวกเขา
 
ใครมีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะพัฒนาไปเป็น Long Covid?
 
 
ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ สอบถามไปยัง ดร.อวินดรา เนธ แห่งสถาบันโรคทางระบบประสาทและโรคหลอดเลือดสมองแห่งชาติ, สหรัฐอเมริกา ยังคงได้คำตอบไม่แน่ชัด แต่จากข้อมูลที่ปรากฏมีความเป็นไปได้ว่า "กลุ่มเสี่ยง" คือ "ผู้หญิง" เฉลี่ยอายุ 40 ปี
 
 
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากแอปพลิเคชัน Covid Symptom Study พบว่า คนสูงอายุและผู้หญิง คือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ซึ่งในช่วงสัปดาห์แรกของอาการป่วยโควิด-19 พบมากถึง 5 อาการ และบางรายมากกว่านั้น นั่นจึงมีความเป็นไปได้มากที่สุดในการพัฒนาเป็น Long Covid
 
ประมาณ 10% ของคนอายุ 18-49 ปีที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้รับผลกระทบ Long Covid
และอีก 22% ของคนอายุมากกว่า 70 ปีก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
 
ทั้งนี้ ในจำนวนการติดตามผลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาในโรงพยาบาล 1,000 ราย พบว่า คนที่ได้รับผลกระทบของ Long Covid โน้มเอียงไปทางกลุ่มผู้หญิงผิวขาวอายุ 40-60 ปี ที่มีอย่างน้อย 2 อาการหรือมากกว่านั้น เช่น สภาวะหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ โรคหอบ/หืด หรือโรคเบาหวานทั้ง 2 ประเภท
 
 
ขณะที่ อีกหนึ่งการศึกษาของมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ พบว่า กลุ่มอายุต่ำกว่า 50 ปี มีผลลัพธ์ทางสุขภาพอันเป็นผลมาจากโควิด-19 ที่อาจเลวร้ายในระยะยาว
 
 
โดยจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่ออกจากโรงพยาบาล 327 ราย เห็นได้ว่า 7 เดือนหลังจากนั้น ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 50 ปี มีการฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ได้น้อยกว่าผู้ชายที่มีอายุเท่ากัน ถึง 5 เท่า
 
 
ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบอีกว่า กลุ่มคนที่มีอาการโรคหอบ/หืด มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าจะพัฒนาเป็น Long Covid ในอนาคต
 
 
ซึ่งชี้ได้ว่า สภาวะสุขภาพดั้งเดิมของผู้ป่วยโควิด-19 มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของระยะเวลาอาการต่อเนื่องในอนาคต
 
 
เด็กสามารถเป็น Long Covid ได้หรือไม่?
 
 
จากข้อมูลการสำรวจการติดเชื้อไวรัสโคโรนาของสหราชอาณาจักรที่เผยแพร่โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) แสดงให้เห็น "ประมาณการทางวิทยาศาสตร์" ที่บ่งชี้ว่า
 
 
ประมาณ 13% ของเด็กอายุ 2-11 ปี
และ 14.5% ของเด็กอายุ 12-16 ปี
มีอาการต่อเนื่องทั่วไป เช่น เหนื่อยล้า ไอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ หรือสูญเสียการรับรสหรือกลิ่น ในช่วง 5 สัปดาห์หลังจากมีอาการป่วยโควิด-19
 
ที่น่าเป็นห่วง คือ ความเชื่อมโยงระหว่าง Long Covid กับกลุ่มอาการหัวใจเต้นเร็วระหว่างเปลี่ยนท่า
 
บางรายที่พัฒนาไปสู่การเป็น Long Covid พบลักษณะอาการที่คล้ายคลึงกับคนที่มีอาการหัวใจเต้นเร็วระหว่างเปลี่ยนท่า (Postural Orthostatic Tachycardia Syndrome: PoTS)
 
 
ซึ่งส่งผลให้มีอาการเวียนศีรษะขณะลุกขึ้นยืน และอาการทั่วไปที่พบส่วนใหญ่ คือ รู้สึกวิงเวียนศีรษะ อัตราการเต้นหัวใจเร็วและไม่สม่ำเสมอ รวมถึงเหนื่อยล้า
 
 
ทั้งนี้ยังคงต้องมีการติดตามอาการจากกลุ่มผู้ป่วยตัวอย่างอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้เกิดการวินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำ แต่หากคุณสงสัยว่า อาการที่เกิดขึ้นของคุณหลังจากติดเชื้อโควิด-19 คล้ายคลึงลักษณะนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
 
 
อย่างไรก็ตาม Long Covid ไม่ได้ส่งผลเสียแค่กับสุขภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
 
แม้ว่าขณะนี้จะยังคงมีสัดส่วนน้อยหากเทียบกับผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด แต่ระยะยาวย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพของ "แรงงาน" และนั่นก็ย่อมกระทบต่อผลลัพธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงการสูญเสียทางจิตวิทยาในทุกๆ มุมมองของสังคม.
 
ที่มา : Thairath Online
 
Visitors: 1,427,799