ผู้ป่วยโควิด-19 สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ หากรู้จักวิธี Home Isolation อย่างถูกต้อง

ผู้ป่วยโควิด-19 สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ หากรู้จักวิธี Home Isolation อย่างถูกต้อง
 
9 เมษายน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยเพิ่มอีก 559 ราย แสดงให้เห็นว่ายังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ ขณะนี้โรงพยาบาลต้องรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก บางโรงพยาบาลมีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับรับรองผู้ป่วยติดเชื้อได้ทุกคน ทำให้มีผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าติดเชื้อต้องกลับเข้ารักษาตัวที่บ้าน ซึ่งหลายคนอาจจะยังสงสัยว่าทำได้หรือไม่ และมีหลักการ วิธีการปฏิบัติอย่างไรบ้าง จึงจะไม่เป็นอันตรายต่อครอบครัว
 
 
นพ.ชนาธิป ไชยเหล็ก ชวนคุณหมอตอบทุกข้อสงสัย เกี่ยวกับ ‘Home Isolation’ เพื่อให้ผู้ที่ติดเชื้อและผู้ใกล้ชิดรักษาตัวที่บ้านได้อย่างถูกวิธี
 
สำหรับผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 สามารถกลับไปรักษาที่บ้านได้หรือไม่
คำตอบคือได้ ในกรณีนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมีจุดประสงค์เพื่อรักษาคนไข้ตามอาการ รวมถึงโรคแทรกซ้อน และเพื่อควบคุมโรคเพื่อไม่ให้แพร่ระบาดต่อไปยังผู้ใกล้ชิด
 
 
ทั้งนี้ เราแบ่งคนไข้ตามที่แพทย์ประเมินออกได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
 
 
กลุ่ม A = คนไข้ที่ไม่แสดงอาการ
กลุ่ม B = แสดงอาการปานกลางถึงมาก และมีโรคแทรกซ้อน
เฉพาะ กลุ่ม A เท่านั้นที่แพทย์สามารถอนุญาตให้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน หรือเรียกว่า Home Isolation ได้ เพื่อสังเกตอาการและควบคุมเพื่อไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค
 
 
Home Isolation และ Self-Quarantine
ผู้ติดเชื้อจะต้องแยกตัวเองจากผู้อื่นเป็นเวลา 10 วัน – จากรายงานการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่า เชื้อที่อยู่ในตัวผู้ติดเชื้อมีความสามารถในการแพร่สู่ผู้อื่นภายในระยะเวลา 10 วัน เท่ากับว่าหลัง 10 วันเชื้อจะหมดความสามารถในการแพร่ แต่ยังสามารถอยู่ในตัวผู้ติดเชื้อได้ ซึ่งคำแนะนำคือให้ดูอาการและป้องกันโรคแทรกซ้อนต่อไป ในขณะที่ Self-Quarantine คือวิธีปฏิบัติสำหรับผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ ให้ตรวจดูอาการ 14 วัน ตามระยะเวลาของการเกิดการติดเชื้อ
 
 
กฎหลักสำหรับ Home Isolation
ไม่ว่าคุณจะอยู่บ้านคนเดียว อยู่กับครอบครัว หรืออยู่คอนโด กฎเหล็ก 3 ข้อที่ยังคงต้องปฏิบัติเหมือนเดิมคือ ‘สวมใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาด และเว้นระยะห่าง’ หลังจากนั้นออกแบบพื้นที่ตามไลฟ์สไตล์ ดังนี้
 
 
กรณีอยู่บ้านกับครอบครัวใหญ่
-แยกห้องนอนออกจากคนอื่นในบ้านให้เป็นสัดส่วน
-ไม่กินอาหารร่วมกับผู้อื่นในบ้าน
-แยกขยะ เพราะขยะจากผู้ติดเชื้อถือเป็นขยะติดเชื้อ
-แยกห้องน้ำ ข้อนี้หากไม่สามารถแยกห้องน้ำจริงๆ ให้ผู้ติดเชื้อใช้ห้องน้ำเป็นคน-สุดท้าย และล้างห้องน้ำทุกครั้งหลังใช้ จุดที่ควรระวังมากเป็นพิเศษคืออ่างล้างหน้าและโถปัสสาวะ
 
 
กรณีอยู่บ้านคนเดียว หรือคอนโด
-ใช้ชีวิตได้ตามปกติ (ในบ้าน)
-ใช้บริการเดลิเวอรีได้ แต่ต้องใส่หน้ากาก หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับพนักงานที่มาส่ง และล้างมือบ่อยๆ
-สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่คอนโด ควรแจ้งนิติบุคคล หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ส่วนกลาง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น และรายงานอาการหลังครบ 10 วัน อย่าลืมใส่หน้ากาก, ล้างมือ และเว้นระยะห่าง เมื่อมีความจำเป็นต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ ฯลฯ
-ในกรณีนี้อาจเกิดความตื่นตระหนก แต่นิติบุคคลของหลายๆ คอนโดจะต้องเตรียมมาตรการรับมือ ทั้งนี้คือการแจ้งลูกบ้านท่านอื่นๆ ให้ระมัดระวัง ฉีดพ่นฆ่าเชื้อบริเวณส่วนกลาง รวมถึงการจัดการกับขยะติดเชื้อ
 
 
 
เรื่อง: วรรษชล คัวดรี้
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
 
ที่มา : The Standard
Visitors: 1,403,468