รู้จัก ‘ซีม่า’ คืออะไร อันตรายแค่ไหน ใช้ทา 'ลอกผิวขาว' ได้จริงหรือ?

รู้จัก ‘ซีม่า’ คืออะไร อันตรายแค่ไหน ใช้ทา 'ลอกผิวขาว' ได้จริงหรือ?

รู้จัก ‘ซีม่า’ คืออะไร อันตรายแค่ไหน ใช้ทา 'ลอกผิวขาว' ได้จริงหรือ?
 

รู้จัก "ซีม่า" ที่แม้จะติดปากว่า "ซีม่าโลชั่น" แต่ไม่ใช่โลชั่นทาตัวแบบสกินแคร์ทั่วไป แล้ว "ซีม่า" คืออะไร อันตรายแค่ไหน และสามารถนำไปทาเพื่อลอกผิวขาวได้จริงหรือไม่?

 

ซีม่าโลชั่น” หนึ่งในประเด็นดราม่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด รุ่นพี่วันประถมศึกษารุมแกล้งรุ่นน้อง ด้วยการราดซีม่าจำนวนมากทั่วทั้งตัว จนเกิดแผลพุพอง

ขณะเดียวกันอีกกรณีที่มีการนำซีม่าโลชั่นมาใช้เพื่อหวังลอกหนังด้านหรือลอกให้ผิวขาวขึ้น แต่ผลที่ตามกลับไม่เป็นอย่างที่คิด ผิวกลับมีลักษณะไหม้ และสีผิวบริเวณนั้นดำกว่าเดิม

วันนี้จึงเกิดประเด็นคำถามว่า “ซีม่าโลชั่น” ช่วยให้ผิวขาวขึ้นได้จริงหรือและอันตรายแค่ไหน?

วันนี้จะพาไปทำความรู้จักให้มากขึ้นว่า จริงๆ แล้วซีม่าโลชั่นคืออะไร เป็นยาหรือโลชั่นกันแน่ มีวิธีการใช้อย่างไร และมีข้อควรระวังอะไรบ้าง?


161665061845

ซีม่าโลชั่น คืออะไร?

ต้นกำเนิด “ซีม่าโลชั่น” นั้นเป็นผลิตภัณฑ์แรกของแบรนด์ซีม่า ที่บริษัทตั้งใจออกมาเพื่อรักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา กลาก เกลื้อน สังคัง เชื้อราในร่มผ้า และโรคน้ำกัดเท้า ผลิตและจำหน่ายภายใต้ บริษัท สามัคคีเภสัช จำกัด อยู่ยาวนานมากกว่า 70 ปี

ภายใต้ขวดแก้วใส ฝาเขียวที่เป็นเอกลักษณ์นี้ ระบุไว้ชัดเจนว่ามีตัวยาสำคัญ คือ 

1.กรดซาลิซิลิก (Salicylic acid) 11.8%

2.เรซอซนอล (Resorcinol) 3.8%

3.ฟีนอล (Phenol) 0.825%

 ซึ่งจากข้อมูลของเพจเฟซบุ๊คสาระสุขภาพยาน่ารู้ และจดหมายข่าวสุขภาพ โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา มีการอธิบายไว้ว่า Salicylic acid เป็นกรดอ่อนๆ และมีฤทธิ์ลอกผิวเซลล์ชั้นนอก ขณะที่ Resorcinol ใช้ผลัดผิวเซลล์ได้ ส่วน Phenylic acid ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ disinfectant และ antisepic โดยเหล่านี้ทำให้เหมาะกับการใช้กับผิวหนังที่หนา ไม่มีแผลเปิด เนื่องจากจะทำให้แสบและระคายเคือง 


วิธีใช้ "ซีม่าโลชั่น" ที่ถูกต้อง 

ทั้งนี้ตัวยานี้จะใช้รักษาการติดเชื้อราร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรีย รักษาโรคผิวหนัง เช่น อาการคัน ผิวหนังอักเสบ ต่อมไขมันอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น 

สำหรับวิธีการใช้ จะทาบริเวณที่เป็นหรือมีอาการวันละ 1-2 ครั้งเท่านั้น หลังจากที่ทำความสะอาดร่างกายแล้ว ด้วยการใช้สำลีชุบนาและทาบางๆ เบา สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรถู แกะ หรือเกา ก่อนและหลังทา รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการทาใกล้บริเวณดวงตา เนื้อเยื่ออ่อน และไม่ควรใช้กับหญิงที่ตั้งครรภ์ ด้วยความที่ตัวยามีฤทธิ์เป็นกรดอาจทำให้มีการระคายเคืองผิว แสบร้อน มีการหลุดลอกของผิว หากเป็นรุนแรงอาจมีอาการไหม้ของผิวและเกิดแผล รอยดำ ตามมาได้

นอกจากนี้ยังมีอีกผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันคือ ซีม่าครีม  ซึ่งมีส่วนประกอบเดียวคือ Clotrimazole ใช้รักษาโรคเชื้อราได้เช่นเดียวกัน สามารถทาได้วันละ 2-3 ครั้ง ระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและอาการ


"ซีม่า" อันตรายแค่ไหนทำให้ผิวขาวจริงหรือไม่?

อย่างที่กล่าวไปข้างบน เพจเฟซบุ๊คสาระสุขภาพยาน่ารู้อธิบายว่า เนื่องจากตัวยามีฤทธิ์ที่ลอกผิวเซลล์ ดังนั้นเวลาติดโรคเชื้อราจะเกาะกินที่ผิวหนังกำพร้า ถ้าเป็นไม่มาก ตัวยาจะไปลอกหนังที่มีเชื้อราออก จึงทำให้รักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนังได้ 

แต่ถ้านำไปใช้กับผิวธรรมดาหรือผิวหนังแข็งๆ ก็สามารถลอกได้ แต่ต้องระวัง ทั้งในแง่ปริมาณยาที่ใช้ ระยะเวลาที่ใช้ ตำแหน่งบริเวณผิวหนังที่เป็น เพราะหากนำไปหวังไปลอกผิวขาว ก็อาจจะทำให้ขาวได้จริง เนื่องจากผิวข้างบนลอกออกไป แต่จะได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นผิวจะกลับมาดำใหม่ หากโดนแสงกระตุ้น 

นอกจากนี้หากยากัดผิวลึกลงไปจนเกิดอักเสบ อาจเกิดเป็นแผนติดเชื้อตามมาได้ ซึ่งจะทำให้ผิวด่างดำมากกว่าเดิม หรืออาจติดเชื้อถาวรได้ 

ดังนั้นก่อนใช้ยาประเภทใดก็ตาม ควรอ่านสลากให้ครบถ้วนและทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากอาการไม่ดีขึ้น หรือเกิดการแพ้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

ขอบคุณที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/929203

 

Visitors: 1,405,369