ชาบู VS สุกี้ มีความเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่?

ชวนรู้ 'ชาบู' VS 'สุกี้' แตกต่างกันยังไง?
 
สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้! เมนูสุดฮิตระหว่าง "ชาบู" VS "สุกี้" มีความเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่? รวมไปถึงสุกี้แบบไทยๆ อย่าง "สุกี้MK" และจิ้มจุ่มแซ่บ มีความพิเศษกว่าหม้อไฟชนิดอื่นๆ แค่ไหน? ชวนหาคำตอบไปด้วยกัน
 
 
 
จากดราม่า 'สุกี้MK' ชวนรู้ 'ชาบู' VS 'สุกี้' แตกต่างกันยังไง?
 
พอพูดถึงเรื่องอาหารประเภทหม้อไฟ (Hot Pot) แบบนี้ คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว "สุกี้ยากี้" "ชาบู" และ "จิ้มจุ่ม" มีความแตกต่างกันยังไง? วันนี้จะชวนไปเจาะลึกถึงที่มาที่ไปของเมนูหม้อไฟชนิดต่างๆ โดยเราได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจและสรุปมาให้รู้กัน ดังนี้
 
 
 
1. ต้นกำเนิด 'สุกี้' หม้อไฟ ไม่ใช่ที่ญี่ปุ่น!
 
แม้ว่าหม้อไฟที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ "สุกี้ยากี้" (Sukiyaki) จะดูเหมือนว่ามีที่มาจากประเทศญี่ปุ่น แต่รู้หรือไม่? จริงๆ แล้วอาหารประเภทหม้อไฟนี้ ไม่ได้มีที่ญี่ปุ่นเป็นที่แรก แต่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศ "มองโกเลีย" และมีมายาวนานนับ 1,000 ปี มีข้อมูลจากนิตยสารครัว ระบุว่า วัฒนธรรมการกินหม้อไฟ กำเนิดเกิดขึ้นในพื้นที่แถบมองโกลเลีย ที่ปกคลุมด้วยอากาศหนาวจัดตลอดทั้งปี ด้วยว่าหม้อไฟเป็นเมนูร้อนๆ ที่ช่วยเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกายได้เป็นอย่างดี
 
 
 
จากนั้นวัฒนธรรมการกินแบบมองโกล ได้แพร่ขยายมาสู่ประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ซ่ง ทว่าสุกี้ของแต่ละท้องถิ่นก็มีความแตกต่างกันไปตามแต่สภาพแวดล้อมและวัตถุดิบของพื้นที่ท้องถิ่นนั้นๆ โดยสูตรหม้อไฟที่ได้รับความนิยมสูงสุด ก็คือ "สุกี้เสฉวน" เนื่องจากมีเอกลักษณ์ของน้ำซุปที่จัดจ้านด้วยเครื่องเทศนับสิบๆ ชนิด
 
 
ต่อมาวัฒนธรรมหม้อไฟก็เดินทางต่อไปยังทางซีกโลกตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ไม่ว่าจะสิบสองปันนา ยูนนาน กวางตุ้ง เรื่อยไปจนถึงไต้หวัน ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงประเทศไทยด้วย
 
 
 
2. "ชาบู" VS "สุกี้" ต่างกันที่วิธีปรุงและวิธีกิน
 
หลังจากวัฒนธรรมหม้อไฟแพร่กระจายสู่ญี่ปุ่น ก็เริ่มกำเนิดเมนูหม้อไฟแนวใหม่ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่เรียกว่า "นาเบะ" และเจ้านาเบะนี่ก็แตกสูตรออกไปอีกหลายสูตร ที่คุ้นเคยกันดีก็คงหนีไม่พ้น "สุกี้ยากี้" และ "ชาบูชาบู" โดยทั้งสองสูตรแม้จะมีความคล้ายกัน แต่ก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว มีข้อมูลจากสารานุกรมเล่มแรกของโลกอย่าง BRITANNICA อธิบายเอาไว้ว่าทั้งสองอย่างนี้ แตกต่างกันที่วิธีการปรุงและวิธีการกิน
 
 
สุกี้ยากี้ : เป็นวิธีการปรุงอาหารที่ใช้เนื้อวัวและผักนำมาต้มในรูปแบบที่เรียกว่า "nabemono (ต้มทุกอย่างรวมในหม้อเดียว)" แรกเริ่มเดิมทีสุกี้ยากี้โบราณจะไม่ใช้เนื้อสัตว์สี่ขา เนื่องจากคนญี่ปุ่นโบราณเคร่งครัดศาสนา และห้ามไม่ให้มีการฆ่าสัตว์สี่เท้าเพื่อเป็นอาหาร แต่ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1860 ญี่ปุ่นเริ่มมีการติดต่อกับชาติตะวันตก ยุคสมัยเปลี่ยนไปผู้คนก็รับเอาวัฒนธรรมการกินเนื้อวัวเข้ามาด้วย
 
 
ส่วนวิธีปรุงและวิธีกินสุกี้ยากี้นั้น คนญี่ปุ่นจะใช้หม้อเหล็กทรงตื้น ตั้งบนเตาถ่าน นำเนื้อวัวสไลด์บางๆ มาผัดกับน้ำมันให้สุกเป็นสีน้ำตาล จากนั้นเติมน้ำสต๊อก ใส่ซีอิ๊วและน้ำตาล แล้วเติมเต้าหู้ เห็ดหอม หัวหอม เส้นชิราทากิ (เส้นบุก) และผักต่างๆ ต้มรวมกัน เวลาจะกินก็คีบเนื้อที่สุกในหม้อมาจิ้มกับไข่ดิบที่ตีแล้วก่อนรับประทาน
 
 
ชาบูชาบู : เป็นนาเบะอีกรูปแบบหนึ่ง ได้รับความนิยมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สำหรับวิธีปรุงและวิธีกินคือ ใช้หม้อลึกและใส่น้ำซุปเยอะ วิธีการกินคือต้องนำผักต่างๆ ลงไปต้มในหม้อก่อน จากนั้นเมื่อน้ำเดือดจึงคีบเนื้อวัวสไลด์บางๆ มาวนในน้ำเดือด (คำว่าชาบูชาบูเป็นคำเลียนเสียงสำหรับการหมุนวน) เมื่อเนื้อสุกจึงนำขึ้นจากหม้อ จุ่มลงในน้ำจิ้มแล้วรับประทาน ผักที่ต้มในหม้อก็คีบกินในลำดับต่อมา นิยมซดน้ำซุป
 
 
 
3. "ชาบู" VS "สุกี้" ต่างกันที่น้ำซุปและน้ำจิ้ม
 
สุกี้ยากี้ : น้ำซุปปรุงด้วยซีอิ๊วญี่ปุ่น มิริน สาเก และน้ำตาล ได้น้ำซุปเป็นสีดำ รสชาติหวานนำ เวลาใส่น้ำซุปจะใส่แค่ขลุกขลิกให้พอดีกับเนื้อสัตว์และผัก ไม่นิยมซดน้ำซุปกิน และไม่มีน้ำจิ้ม แต่นิยมจิ้มกินกับไข่ไก่สดที่ตีแล้ว เพื่อเพิ่มความหอมมันและเข้มข้น
 
 
ชาบูชาบู : น้ำซุปปรุงด้วยสาหร่ายคอมบุและปลาโอเป็นหลัก ได้น้ำซุปใส รสชาติกลมกล่อมบางเบา เวลาใส่น้ำซุปลงหม้อจะใช้น้ำซุปปริมาณมาก เพราะเมนูนี้นิยมซดน้ำซุประหว่างกินไปด้วย และมีน้ำจิ้มเสิร์ฟเคียงมาให้ 2-3 ชนิด ได้แก่ น้ำจิ้ม Hatsuga Genmai ทำมาจากข้าวกล้องงอก, น้ำจิ้ม Ponzu ทำจากเลมอน น้ำส้มสายชู ซอสถั่วเหลือง เหล้ามิริน, Goma-dare ทำมางาขาวที่มีกลิ่นหอม รสชาติหวานมัน
 
 
4. สุกี้ไทยสไตล์ "สุกี้MK" มื้อฟินๆ ทั้งครอบครัว
 
ถัดมา ชวนรู้จักสุกี้สไตล์ไทยๆ อย่าง "สุกี้MK" เป็นหม้อไฟที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีนและญี่ปุ่น ว่ากันว่าร้านสุกี้เจ้าแรกในไทย เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งอยู่แถวถนนเยาวราช โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชาวญี่ปุ่นเข้ามาในไทย ก็นำวิธีการกินอาหารญี่ปุ่นประเภทสุกี้ เข้ามาเผยแพร่ด้วย ส่วนบางร้านก็ได้รับอิทธิพลมาจากหม้อไฟไหหลำและหม้อไฟกวางตุ้ง
 
สำหรับสุกี้ MK เป็นสุกี้สไตล์กวางตุ้ง โดดเด่นที่ความหลากหลายของเครื่องสุกี้ที่มีให้เลือกกินหลากหลาย สั่งเป็นถาดเล็กๆ มาตั้งแบบคอนโด และมีน้ำซุปใส ที่ปรุงอย่างพิถีพิถันด้วยหัวไชเท้า กระดูกหมู ซี่โครงไก่ รากผักชี กระเทียม พริกไทย เสิร์ฟพร้อมด้วยน้ำจิ้มสูตรกวางตุ้งที่เน้นซอสพริกเป็นหลัก ไม่ใส่เต้าหู้ยี้
 
 
ส่วนวิธีการกินจะกินคล้ายๆ กับสุกี้ยากี้ คือ ต้มทุกอย่างรวมกัน แต่ก็มีเนื้อสัตว์สไลด์บางอย่างที่ใช้วิธีจุ่มๆ ลวกๆ ในหม้อจนสุกเหมือนชาบูชาบู แล้วนำมาจุ่มในถ้วยน้ำจิ้มก่อนกิน และยังนิยมซดน้ำซุปตามเหมือนการกินชาบูชาบูอีกด้วย
 
 
 
5. "จิ้มจุ่ม" หม้อไฟไทยๆ เอาใจสายแซ่บ
 
ปิดท้ายด้วยสุกี้สไตล์ไทยอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า "จิ้มจุ่ม" เป็นหม้อไฟสไตล์อีสานรสแซ่บ เครื่องเคราประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ไข่ไก่ วุ้นเส้น และผักสดต่างๆ แต่ที่แปลกแตกต่างจากสุกี้ไทยแบบอื่นอยู่ตรงที่ น้ำซุปที่ปรุงมาแบบต้มแซ่บอีสาน ใส่สมุนไพรจำพวกตะไคร้ ใบมะกรูด ใบผักชีฝรั่ง ข้าวคั่ว (เพิ่มความหอม) พริกป่น และเสิร์ฟคู่กับน้ำจิ้มแซ่บสไตล์อีสานเช่นกัน นั่นคือ เป็นน้ำจิ้มแจ่วสามรส (เปรี้ยว เค็ม หวาน) และเพิ่มความเข้มข้นจี๊ดจ๊าดด้วยข้าวคั่วและพริกป่น
 
 
ส่วนวิธีการปรุงและวิธีการกิน นิยมกินแบบชาบูชาบู นั่นคือ ใส่ผักต่างๆ ลงไปในหม้อต้มก่อน พอน้ำเดือดจึงคีบเนื้อสัตว์ลงไปจุ่มๆ แกว่งๆ ในน้ำซุปจนเนื้อสุก แล้วจึงคีบมาจิ้มในถ้วยน้ำจิ้มก่อนรับประทาน แต่ทั้งนี้วิธีการกินก็ไม่ได้ตายตัวขนาดนั้น บางคนก็ชอบที่จะใส่ทุกอย่างลงไปต้มพร้อมกันทีเดียว รอให้สุก แล้วค่อยตักออกมากินก้ทำได้เช่นกัน
 
 
 
อ้างอิง :
 
ขอบคุณที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/ 
 
Visitors: 1,381,872