วิกฤตน้ำในคนรุ่นถัดไป เด็ก 1 ใน 5 คนทั่วโลก ขาดแคลนน้ำใช้ในชีวิตประจำวัน

วิกฤตน้ำในคนรุ่นถัดไป เด็ก 1 ใน 5 คนทั่วโลก ขาดแคลนน้ำใช้ในชีวิตประจำวัน
 
 
 
วันที่ 22 มีนาคม เป็นวันน้ำโลก วันที่ตั้งขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ประชาคมโลกหันมาให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำ ปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตาม ในความเป็นอยู่และเป็นไป เรากลับพบว่า
ทรัพยากรที่เรียกว่า “น้ำ” กำลังตกอยู่ในสถานะวิกฤต มีผลกระทบเผยภาพให้เห็นชัดขึ้นทุกวันๆ
 
 
และจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะกับคนรุ่นถัดไป แต่ก่อนจะถึงวันนั้น อยากชวนทำความเข้าใจว่า “วิกฤตน้ำ” กำลังส่งผลกระทบต่อคนรุ่นถัดไปอย่างไรในวันนี้
 
 
อ้างอิงตามรายงาน โครงการ Water Security for All ซึ่งจัดทำโดยยูนิเซฟ ระบุว่า มีเด็กอย่างน้อย 1 ใน 5 คน ทั่วโลก กำลังขาดแคลนน้ำใช้ในชีวิตประจำวัน
 
 
ความขาดแคลนที่ว่า มีทั้งที่ไม่มีเลย และที่พอมีแต่ไม่พอใช้ กว่าจะเข้าถึงน้ำได้ต้องเดินเท้าไปหาแหล่งน้ำเป็นระยะทางที่ไกลทุกวัน - วันต่อวัน - หรืออาจมีเพียงบางฤดูกาล
 
 
ทั้งยังมีเรื่องของความสะอาด ซึ่งเป็นแหล่งที่ไม่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบดูแลว่าเหมาะต่อการนำมาอุปโภคบริโภคได้หรือไม่ แต่ จำเป็น-จำใจ ต้องใช้ไปก่อน เพื่อให้อยู่รอด - วันต่อวัน
 
 
การกินใช้น้ำที่ไม่สะอาดสร้างผลกระทบได้มากกว่าเรื่องสุขภาพ แต่ยังมีเรื่องพัฒนาการทางร่างกาย และการขาดสารอาหารอย่างรุนแรง
 
 
บางครั้งอาจอันตรายถึงชีวิต
 
 
ในบางประเทศเด็กที่พอจะเข้าถึงการศึกษาได้ ต้องขาดเรียนเพราะใช้เวลาหมดไปกับการหาน้ำ หากวันไหนไม่มีน้ำใช้ หมายถึงวันที่เขาและเธอต้องหยุดเรียน ผลกระทบ คือ คุณภาพชีวิตในอนาคต 
ไปจนถึงเรื่องการผลักดันให้เด็กต้องออกมาแรงงาน
 
 
เด็กๆ ในแถบประเทศแอฟริกาตะวันออกและตอนใต้เป็นกลุ่มที่ตกอยู่ในสถานะขาดแคลนน้ำมากที่สุด ร้อยละ 58 ต้องเผชิญความยากลำบากในการหาน้ำมากินมาใช้
 
 
ตามมาด้วยแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง (ร้อยละ 31) เอเชียใต้ (ร้อยละ 25) และตะวันออกกลาง (ร้อยละ 23)
 
 
นอกจากนี้ ยังมีเด็กอย่างน้อยใน 37 ประเทศ ตกอยู่ในสถานะวิกฤต ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ต้องทำทันที และทำเดี๋ยวนี้ อาทิ อัฟกานิสถาน บูร์กินาฟาโซ เอธิโอเปีย เฮติ เคนยา 
ไนเจอร์ ไนจีเรีย ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี ซูดาน แทนซาเนีย เยเมน ฯลฯ
 
 
งานวิจัยวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ว่ามาจากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องการเติบโตอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรโลก ทำให้ปัจจุบันมีเด็กอย่างน้อย 450 ล้านคน เผชิญวิกฤตขาดแคลน
น้ำใช้ในชีวิตประจำวัน
 
 
ในเรื่องที่ใหญ่กว่าจำนวนประชากร คือ การบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสมตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น เรื่องนี้เป็นผลพวงทั้งจากการบริหารจัดการที่ดิน ไปจนถึงการบริหารทรัพยากรจากภาครัฐ
ที่ไม่เป็นระบบระเบียบ
 
 
ในรายงานชี้ชัดว่า เด็กกลุ่มใหญ่ที่ไม่มีน้ำใช้ล้วนแต่อาศัยอยู่เป็นพื้นที่ที่ขาดระบบการจัดการทรัพยากรพื้นฐานที่ดีจากภาครัฐ ยังมีสาเหตุจากความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึง
ระบบน้ำปะปา
 
 
แน่นอนว่าปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ความขาดแคลนน้ำทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
 
 
ตั้งแต่ปี 2001-2018 จำนวนภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลกเกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำมาถึง 74% มีทั้งเรื่องของภัยแล้งและอุทกภัย
 
 
สภาพอากาศที่รุนแรงทำให้เกิดภัยแล้งยาวนานขึ้น ผู้คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่อาจพึงพาปริมาณน้ำฝนตามฤดูกาลได้อีกต่อไป บางพื้นที่ผู้คนเอาตัวรอดด้วยการหันไปพึ่งน้ำบาดาลมาใช้แทน 
ซึ่งมักเป็นการใช้แบบขาดการจัดการ และไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว
 
 
ในทางตรงกันข้ามอุทกภัยที่ดูเหมือนจะพัดพาน้ำมาหาเราเป็นจำนวนมาก แต่แท้จริงแล้วก็เป็นน้ำที่เอามาใช้ไม่ได้
 
 
หลายๆ กรณีอุทกภัยที่โถมมาจากที่หนึ่งจะพัดรวบรวมเอาสิ่งปฏิกูลแถมมา ทำให้แหล่งน้ำดั้งเดิมที่เคยสะอาดเกิดการปนเปื้อนจนใช้งานไม่ได้
 
 
ทั้งหมดนี้ เป็นสรุปคร่าวๆ จากภาพรวมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต หากคนที่อำนาจในการตัดสินใจและสั่งการแก้ปัญหาไม่ลงมาทำงานเชิงรุกกันอย่าง
เต็มกำลังในทันที
 
 
ไม่เช่นนั้น อนาคตของวันที่ 22 มีนาคม อาจมีความหมายใหม่ เป็นวันที่มีไว้ให้ระลึกว่า ครั้งหนึ่งเราเคยมีน้ำใช้เสียแทน
 
 
อ้างอิง http://uni.cf/3cZwFkZ
Photo Unicef

Visitors: 1,198,117