10 วัคซีนที่จำเป็นและควรรู้จัก

10 วัคซีนที่จำเป็นและควรรู้จัก  
 
 
วัคซีนคืออะไร ? มีวัคซีนอะไรบ้าง ?และ ฉีดตอนไหน ? 
 
 
 
https://newsroom.unsw.edu.au/news/health/do-we-need-make-potential-covid-19-vaccine-mandatory
 
 
วัคซีน หมายถึง การให้เชื้อหรือส่วนหนึ่งของเชื้อเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันโรคหรือแอนติบอดีค่ะ ซึ่งอาจให้เวลานานนับสัปดาห์หรือนับเดือนกว่าจะมีภูมิป้องกันโรคได้ค่ะ
 
 
การสร้างภูมิคุ้มกันโรคอาจทำได้อีกวิธีหนึ่งค่ะ โดยการให้ภูมิต้านทานสำเร็จ หรือแพทย์เรียกว่า อิมมูโนโกลบูลิน เข้าไปในร่างกายและสามารถต่อต้านเชื้อโรคได้ทันทีค่ะ
 
 
วัคซีนไม่ได้หมายความถึงแค่การให้ภูมิคุ้มกันแก่เด็กเท่านั้นนะคะ แต่ในบางประเภทของวัคซีนมีความมุ่งหมายให้ใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ใหญ่ด้วยเช่น  วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส ไข้หวัดใหญ่ นิวโมคอคคัส และวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เป็นต้นค่ะ
 
 
 
https://www.biospace.com/article/past-vaccine-failures-may-reduce-covid-19-vaccination-rates-/
 
 
ทีนี้เรามาดูกันค่ะว่า วัคซีนมีกี่ชนิดกัน ?
การแยกประเภทของวัคซีนตามการผลิต สามารถแยกออกมาได้ 3 ประเภทค่ะ คือ
 
 
1. วัคซีนประเภทท็อกซอยด์ ( Toxoid )
เป็นการนำพิษของเชื้อโรคมาทำให้หมดฤทธิ์แต่ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ค่ะ เช่น วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ค่ะ
 
 
2.  วัคซีนชนิดเชื้อเป็น ( Live vaccine )
เป็นวัคซีนที่นำเชื้อมาทำให้อ่อนแรงจนไม่สามารถก่อโรคได้ค่ะ แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ เช่น วัคซีนหัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส งูสวัด ไข้สมองอักเสบ เจอี (ชนิดเชื้อเป็น) ค่ะ
 
 
3. วัคซีนชนิดเนื้อตาย ( Killed vaccine )
เป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นจากเชื้อโรคทั้งตัวหรือบางส่วนของเชื้อค่ะ เช่น วัคซีนตับอักเสบ เอ บี ไอกรน ไข้หวัดใหญ่ โปลิโอชนิดฉีด ค่ะ
 
  
คราวนี้มาดูกันค่ะว่ามีวัคซีนอะไรบ้าง ?
 
 
1. วัคซีนบีซีจี ( BCG )
วัคซีนบีซีจี  จัดเป็นวัคซีนพื้นฐานของประเทศไทยที่ให้ในทารกแรกเกิดทุกคนนะคะ  เพราะโรควัณโรคยังเป็นปัญหาที่สำคัญในระบบสาธารณสุขของไทยและทั่วโลก เนื่องจากเป็นโรคที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน และเริ่มมีเรื่องเชื้อวัณโรคดื้อยาพบได้บ่อยขึ้นค่ะ และวัณโรคในเด็กมีอัตราการตายสูงและมีปัญหาเรื่องความพิการตามมาได้ค่ะ
 
 
วัคซีนบีซีจีเป็นวัคซีนที่เก่าแก่ที่สุด  มีการพัฒนามากว่า 70 ปี โดยใช้เชื้อสายพันธุ์ที่ก่อโรคน้อยที่สุด แต่ยังอาจพบผลข้างเคียงของวัคซีนได้ประมาณร้อยละ 1-2 โดยจะพบเป็นตุ่มแดง ภายใน 2-3 สัปดาห์ ต่อมากลายเป็นหนองแตกออกและแห้งไปเองค่ะ และจะกลายเป็นแผลเป็นในที่สุดค่ะ แต่หากไม่มีแผลเป็นก็ให้ดูจากหลักฐานที่ระบุได้รับวัคซีนแล้ว เช่น สมุดวัคซีน โดยไม่จำเป็นต้องฉีดใหม่
 
 
เนื่องจากหากฉีดลึกเกินไป อาจไม่มีแผลเป็น แต่ร่างกายยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้เช่นกันค่ะ  และวัคซีนนี้สามารถป้องกันวัณโรคปอดในเด็กได้ร้อยละ 0-80 (ประมาณร้อยละ 50) แต่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง (ประมาณร้อยละ 86) และวัณโรคชนิดแพร่กระจาย (ประมาณร้อยละ 75) แต่ไม่ช่วยป้องกันวัณโรคในผู้ใหญ่นะคะ
 
2. วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ( HBV  Hepatitis B Vaccine)
ไวรัสตับอักเสบบี ก็เป็นอีกปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งเช่นกันค่ะ เนื่องจากผู้ติดเชื้ออาจเกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังหรือเป็นพาหะได้ค่ะ โดยไวรัสตับอักเสบ บี มีความสัมพันธ์กับโรคตับแข็งและมะเร็งตับ โรคนี้ติดต่อได้จากผู้เป็นพาหะ โดยติดต่อทางเลือดและผลิตภัณฑ์ทางเลือด ทางเพศสัมพันธ์ การใช้ของมีคมหรือเข็มร่วมกัน และจากมารดาสู่ทารกค่ะ
 
 
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี เป็นวัคซีนพื้นฐานที่ให้ในทารกแรกเกิดทุกรายนะคะ โดยจะให้ทั้งหมด 3 เข็ม ที่อายุแรกเกิด  1-2 เดือน และ 6-12 เดือนค่ะ ในทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่า 2,000 กรัม อาจต้องฉีดเพิ่มอีก 1 เข็ม โดยไม่นับเข็มแรกเกิดค่ะ
 
 
** ส่วนในเด็กที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2535 ที่ไม่แน่ใจว่าได้รับหรือยังและในผู้ใหญ่ อาจต้องตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันก่อนการฉีดวัคซีนนะคะ **
 
 
การวินิจฉัยก็สามารถทำได้โดยการตรวจเลือดเลยค่ะ โดยสามารถตรวจหาเชื้อหรือหาภูมิคุ้มกันโรคได้ โดยอาจบอกการเป็นพาหะของโรคได้ และช่วยในการพิจารณาการให้วัคซีนในผู้ใหญ่ได้ด้วยค่ะ
 
 
อาการข้างเคียงที่พบได้หลังฉีดวัคซีน คือ ไข้ต่ำๆ ปวดบวมบริเวณที่ฉีด ซึ่งพบได้น้อยและส่วนใหญ่มักจะเป็นไม่เกิน 24 ชั่วโมงค่ะ
 
 
ราคา  รพ.รัฐบาล จะอยู่ประมาณ เข็มละ 300-500 บาท  ส่วน รพ. เอกชน  ราคาจะอยู่ประมาณ เข็มละ 600-1200 บาทนะคะ ** แต่ว่าราคานี้ ยังไม่รวมค่าบริการของโรงพยาบาลนะคะ **  แต่เดี๋ยวนี้มีหลาย รพ. ที่ทำออกมาเป็นแพคเกจให้เลือก ราคาไม่แพงก็มีค่ะ สามารถเลือกใช้บริการกันได้ทุกโรงพยาบาลเลยนะคะ
 
 
 
3. วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และโอลิโอ ( Diphtheria . Tetanus , Pertussis or Whooping Cough and Poliomyelitis )
 
 
โรคคอตีบ 
เป็นโรคที่ประเทศไทยเราไม่ค่อยเจอเท่าไหร่นะคะตั้งแต่มีการฉีดวัคซีนป้องกัน แต่ก็ยังพบได้ประปรายค่ะ โดยสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกชนิดหนึ่งทำให้เกิดแผ่นเนื้อเยื่อไปอุดกั้นทางเดินหายใจที่จมูก ลำคอ หรือกล่องเสียงและอวัยวะอื่นๆ รวมถึงผิวหนังได้ด้วยค่ะ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง มักพบในคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือแรงงานอพยพหรือชาวต่างชาติที่ไม่ได้รับวัคซีนค่ะ
 
 
โรคไอกรน
เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส ค่ะ หลังจากติดเชื้อในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด เช่น ไอ มีไข้ น้ำมูกไหล หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการไอต่อเนื่องอย่างรุนแรงและมีเสียงไอที่เป็นเอกลักษณ์หรือเสียงดัง วู้ป (ไอมีเสียงที่เกิดจากการหายใจลำบากค่ะ) จึงมีอีกชื่อเรียกว่า Whooping Cough เป็นที่มาของชื่อไอกรนในภาษาไทยนั่นเองค่ะ ในทารกหรือเด็กเล็กอาจไม่พบอาการไอ แต่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจเป็นหลักเลย และไอกรนเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายได้จากการไอหรือจามค่ะ ทารกและเด็กเล็กจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากที่สุด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ค่ะ
 
 
โรคโปลิโอ
โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอค่ะ (Poliovirus) ซึ่งเป็นเชื้อที่อาศัยอยู่ในลำไส้และถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย การติดเชื้อเกิดในมนุษย์เท่านั้นนะคะ โดยจะติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสโปลิโอ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 95 จะไม่แสดงอาการใดๆเลย หรืออาจมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือรุนแรงถึงขั้นระบบทางเดินหายใจเป็นอัมพาต...และทำให้เสียชีวิตได้เลยนะคะ
 
 
วัคซีน มี 2 ชนิด คือ
วัคซีนชนิดรับประทาน เป็นวัคซีนที่เตรียมขึ้นจากเชื้อไวรัสโปลิโอที่มีชีวิตที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง และไม่สามารถก่อโรคในผู้รับวัคซีนที่มีภูมิคุ้มกันปกติค่ะ และเนื่องจากเป็นวัคซีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยการเลียนแบบการติดเชื้อโปลิโอทางธรรมชาติ ทำให้ผู้ได้รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกันทั้งในลำไส้และในเลือดค่ะ
 
 
วัคซีนชนิดฉีด เป็นวัคซีนที่เตรียมขึ้นจากเชื้อไวรัสโปลิโอที่ตายแล้ว ทำให้มีภูมิคุ้มกันเฉพาะในกระแสเลือดค่ะ  ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโปลิโอชนิดฉีด มีทั้งในรูปแบบวัคซีนชนิดเดี่ยว และวัคซีนชนิดรวมกับวัคซีนอื่นๆ เช่น วัคซีนรวมคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก-โปลิโอ, วัคซีนรวมคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก-โปลิโอ-ฮิบ เป็นต้นค่ะ
 
 
และวัคซีนโปลิโอเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนต้องได้รับ ทั้งหมด 5 ครั้งนะคะ ที่อายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และ 6 ปี ค่ะ
 
สำหรับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และโปลิโอ 
วัคซีนเหล่านี้ประเทศไทยมีใช้มานานมากแล้ว และจัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่อยู่ในแผนสร้างเสริมป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข โดยตัววัคซีนได้แบ่งเป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
 
 
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนชนิดเต็มเซลล์ และโปลิโอเชื้อเป็นชนิดหยอด (DTwP, OPV) เป็นวัคซีนพื้นฐานค่ะ
 
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนแบบไม่มีเซลล์ และโปลิโอเชื้อตายชนิดฉีด (DTaP, IPV) สำหรับเป็นวัคซีนทางเลือกในกรณีที่ให้วัคซีนไอกรนชนิดเต็มเซลล์แล้วเกิดไข้สูง หรือชัก หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงค่ะ
 
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบสำหรับกระตุ้น บาดทะยักไอกรนแบบไม่มีเซลล์สำหรับกระตุ้น (อาจมีหรือไม่มีวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดรวมอยู่ด้วย) (dTap+/-IPV) ใช้สำหรับกระตุ้นในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เนื่องจากไม่สามารถให้แบบปกติได้ เพราะจะเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้ค่ะ
 
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนและโปลิโอ อาจจะมีตารางการให้วัคซีนแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับอุบัติการณ์เกิดโรคของประเทศหรือเขตนั้นๆนะคะ  แต่สำหรับประเทศไทย เราแนะนำให้วัคซีนทั้งหมด 5 ครั้ง ในช่วงอายุ 2, 4, 6, 18 เดือนและ 4-6 ปีค่ะ  หลังจากนั้นควรจะกระตุ้นอีกทุก 10 ปี โดยให้กระตุ้นเป็นวัคซีนป้องกันโรคคอตีบสำหรับกระตุ้นบาดทะยัก (dT) หรือโรคคอตีบสำหรับกระตุ้นบาดทะยัก ไอกรนแบบไม่มีเซลล์สำหรับกระตุ้น (dTap) ดีกว่าการให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักอย่างเดียวค่ะ
 
  
 
4. วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน
(Measles or Rubeola, Mumps, Rubella or German Measles) โรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน ต่างเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ค่ะ
 
 
โรคหัด
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ไอ ตาแดง มีผื่นขึ้นเริ่มจากไรผม ลามมาที่ใบหน้า ลำตัวและแขนขา ในเด็กเล็กและผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีภาวะแทรกซ้อนทางปอด ซึ่งมีความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตสูง ค่ะ
 
โรคคางทูม
มักมีอาการไม่ค่อยรุนแรง เช่น มีไข้ ต่อมน้ำลายอักเสบ อัณฑะอักเสบ โดยบางครั้งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือสมองอักเสบ เป็นต้นค่ะ
 
โรคหัดเยอรมัน
ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ยกเว้นในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ โดยมีอาการไข้ ผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ความสำคัญคือหากมีการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อทารกเสียชีวิตในครรภ์หรือพิการแต่กำเนิดได้ค่ะ
 
 
สำหรับวัคซีนในประเทศไทย บางจังหวัดยังให้เพียงวัคซีนป้องกันหัดอย่างเดียว (MV) แต่ส่วนใหญ่จะได้เป็นวัคซีนรวมป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) ในช่วงอายุ 9-12 เดือค่ะ และควรได้รับการกระตุ้นอีกครั้งในช่วงอายุ 4-6 ปี นะคะ
 
 
แต่ว่ามันมีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจทำให้ทารกพิการหรือเสียชีวิตได้ ห้ามใช้ในคนที่แพ้ส่วนประกอบของวัคซีนอย่างรุนแรง แต่สำหรับในคนที่แพ้ไข่สามารถให้ได้ เนื่องจากในวัคซีนมีส่วนประกอบของไข่น้อยมาก แต่ควรดูอาการหลังฉีดวัคซีนประมาณ 30 นาที ค่ะ
 
 
 
5. วัคซีนป้องกันโคอีสุกอีใส ( Varicella or Chickenpox Vaccine )
 
 
โรคอีสุกอีใส
โรคนี้หากเกิดในเด็กเล็กมักจะมีอาการค่อนข้างน้อย แต่หากเกิดในทารกแรกเกิด เด็กโต ผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้ และเมื่อผู้ที่ติดเชื้ออีสุกอีใสแล้วเมื่อเวลาผ่านไปหลายปีอาจเกิดโรคงูสวัดตามมาได้ค่ะ
 
 
สำหรับวัคซีนอีสุกอีใส สามารถให้ฉีดในเด็กอายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป โดยการฉีดวัคซีน 1 ครั้ง จะมีภูมิคุ้มกันขึ้นได้ประมาณ 85% แต่อาจไม่เพียงพอที่จะป้องกันการระบาดในชุมชนหรือในโรงเรียนได้ การให้วัคซีนเข็มที่ 2 จะทำให้มีภูมิคุ้มกันขึ้นได้ถึง 98% และป้องกันโรครุนแรงได้ถึง 100% จะเห็นได้ว่าการให้วัคซีนอีสุกอีใสไม่สามารถป้องกันโรคได้ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ค่ะ
 
 
สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการฉีดวัคซีน ถ้าเริ่มให้เข็มแรกตอนอายุ น้อยกว่า13 ปี ควรได้รับการกระตุ้นอีกครั้งตอนอายุ 4-6 ปี หรือห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน และถ้าให้ในเด็กอายุมากกว่า 13 ปี หรือผู้ใหญ่ควรให้ 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 28 วัน และประโยชน์ของการฉีดวัคซีนก็คือ ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะมีอุบัติการณ์เกิดโรคงูสวัดน้อยกว่าผู้ที่ติดเชื้อตามธรรมชาติมาก และหากเกิดโรคอีสุกอีใส อาการมักจะน้อยจำนวนตุ่มก็มักจะน้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนด้วยค่ะ
 
 
6. วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีมานานแล้ว แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และไข้หวัดนก ประกอบกับการตรวจเชื้อทำได้ง่ายขึ้น ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นค่ะ
 
 
สำหรับไข้หวัดใหญ่จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Endemic flu) และไข้หวัดใหญ่ระบาดใหม่ (Pandemic flu) ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เคยเป็นไข้หวัดใหญ่ระบาดใหม่ แต่ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลแล้ว และในอนาคตก็อาจจะมีไข้หวัดใหญ่ระบาดใหม่มาอีกเป็นระยะ เนื่องจากสามารถมีการกลายพันธุ์ได้อีกนะคะ
 
 
7. วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
ปัจจุบันวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกกำลังขอขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในประเทศไทย โดยประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถป้องกันโรคได้ประมาณ 60% และมีข้อบ่งใช้ในกลุ่มอายุ 9-45 ปี ต้องให้ทั้งหมด 3 เข็ม ค่ะ
 
 
 
8. วัคซีนป้องกันงูสวัด (Zoster Vaccine)
โรคงูสวัดมักจะก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดรุนแรง และเป็นระยะเวลานาน โดยในบางรายอาจมีอาการปวดยาวนานถึง 2 ปี สำหรับวัคซีนสามารถให้ได้ในคนอายุ 50-60 ปีขึ้นไป และวัคซีนสามารถลดอาการปวดลงได้ประมาณ 67% และลดการเกิดโรคได้ประมาณ 51% ค่ะ
 
 
โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 ครั้ง ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นในการฉีดเข็มกระตุ้น สามารถให้ร่วมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ได้ในเวลาเดียวกันค่ะ
 
 
9. วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papillomavirus Vaccine- HPV)
เชื้อไวรัสเอชพีวี เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณเยื่อบุอวัยวะเพศที่สำคัญ โดยอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
 
 สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่มีความเสี่ยงต่ำได้แก่ สายพันธุ์ 6 และ 11 ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ และหูดที่กล่องเสียงในเด็ก
 
 ส่วนอีกประเภทคือสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33 และ 45 โดยสายพันธุ์ 16, 18 เป็นสาเหตุหลักของรอยโรคก่อนมะเร็งและมะเร็งปากมดลูกในสตรีถึง 70%
 
 
การติดเชื้อนี้ในธรรมชาติไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นได้และไม่ทำให้ภูมิต้านทานขึ้นสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ วัคซีนนี้บางครั้งจึงเรียกว่า "วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก"
 
 
วัคซีนเอชพีวีในประเทศไทยมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ
 
 
1. วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 (CervarixTM)
 
 
การให้วัคซีนจะให้ทั้งหมด 3 ครั้ง คือที่ 0, 1 และ 6 เดือน
 
 
2. วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 6,11,16, และ 18 (GardasilTM)
 
 
การให้วัคซีนจะแนะนำในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 9-45 ปี ส่วนบางประเทศอาจพิจารณาให้วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ในผู้ชาย เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่ แต่ในประเทศไทยยังแนะนำให้ในเพศหญิงก่อน และดีที่สุดควรให้ในหญิงก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และแนะนำให้ในเด็กหญิงอายุ 9-12 ปีขึ้นไปค่ะ (ในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี สามารถให้เพียง 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน)
 
 
10. วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ
ตับอักเสบจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย สามารถติดต่อได้โดยการทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ในเด็กเล็กมักจะไม่มีอาการจากการติดเชื้อ แต่ในเด็กโตหรือผู้ใหญ่อาจเกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลันหรือตับวายได้ เนื่องจากปัจจุบัน สุขอนามัยของเด็กไทยดีขึ้นทำให้การติดเชื้อตามธรรมชาติลดลง ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจึงน้อยลงด้วยค่ะ
 
 
สำหรับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ สามารถให้ได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี ขึ้นไป โดยต้องให้ 2 ครั้งห่างกัน 6-12 เดือน ขนาดของวัคซีนที่ให้ สามารถให้ในขนาดของเด็กได้จนถึงอายุ 18 ปี หลังจากนั้นต้องให้ในขนาดของผู้ใหญ่ โดยวัคซีนต่างบริษัทสามารถแทนกันได้ ค่ะ
 
 
ผลข้างเคียงของวัคซีนค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่มักเป็นผลข้างเคียงเฉพาะที่ที่ไม่รุนแรง 
 
 
 
 
 
สำหรับวัคซีนนอกเหนือจากนี้ จะเป็นวัคซีนที่ใช้ในกรณีพิเศษ หรือวัคซีนที่ให้ในคนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งสามารถสอบถามได้จากโรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์ในกรณีที่ต้องการได้ค่ะ 
 
 
 
ข้อควรระวังในการให้วัคซีนหลายชนิดพร้อมกัน
วัคซีนที่มีผลข้างเคียงเดียวกันและเกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น ไข้ ไม่ควรให้ในเวลาเดียวกันเพราะจะทำให้ไข้สูงขึ้นได้ค่ะ
 
วัคซีนแต่ละเข็มควรให้คนละตำแหน่งกัน และไม่ควรนำวัคซีนต่างชนิดกันมาผสมฉีดครั้งเดียว ยกเว้นเป็นวัคซีนที่มีข้อมูลมาก่อนว่าได้ผลดีค่ะ
 
วัคซีนชนิดเชื้อเป็น สามารถให้หลายชนิดพร้อมกัน แต่ถ้าให้ห่างกันควรห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน เช่น หัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส และไข้สมองอักเสบชนิดเชื้อเป็น ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อตายจะห่างกันเท่าใดก็ได้ค่ะ
 
 
 
ถ้าไม่ได้มาให้วัคซีนตามนัดจะทำอย่างไรดี ? 
หากไม่ได้มารับวัคซีนตามนัด หรือได้วัคซีนห่างกว่าที่กำหนด ไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง แต่หากให้วัคซีนใกล้กันเกินไป อาจทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นหากไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนด สามารถนับเป็นเข็มต่อไปได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องนับใหม่ ไม่ว่านานเท่าไรก็ตามค่ะ
 
 
หวังว่าข้อมูลที่ฟางรวบรวมมาจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านนะคะ หากใครต้องการฉีดวัคซีนตัวไหนก็สามารถเลือกอ่านได้เลยนะคะ
 
 
ส่วนเรื่องของราคาวัคซีน แต่ละโรงพยาบาลก็อาจจะแตกต่างกันนะคะ ฟางแนะนำว่าคุณสามารถสอบถามได้ที่โรงพยาบาลเลย ปัจจุบัน โรงพยาบาลเอกชนเกือบทุกแห่งก็ทำเป็นแพคเกจออกมาให้เลือก ซึ่งราคาก็ไม่ได้สูงมากนักค่ะ
 
 
สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองด้วย อันนี้สำคัญเป็นอย่างมาก ยิ่งปัจจุบันโรคใหม่ๆเกิดขึ้นมาเยอะแยะไปหมด ฟางขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพกันด้วยนะคะ ด้วยความห่วงใยและปรารถนาดีจากเพจ เรื่องดีดี ค่ะ 
 
 
อ้างอิง 
 
ที่มา : เรื่องดีดี https://www.blockdit.com/posts/5f9a9245587dfd07bb3ce3d0

Visitors: 1,429,853