อนาคตเครื่องดื่มจากขวดกระดาษ จะเข้ามาแทนที่ขวดพลาสติก?

เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัทน้ำอัดลมรายใหญ่อย่าง Coca-Cola ได้เผยโฉมขวดน้ำอัดลมแบบใหม่ที่สร้างขึ้นจากกระดาษ และมีแผนทดลองวางขายในประเทศฮังการีในช่วงกลางฤดูร้อนของปีนี้ จากนั้นจะค่อยๆ กระจายไปยังประเทศอื่นๆ ต่อไป

โดย Coca-Cola อวดว่าขวดแบบใหม่ของพวกเขาสามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% อันเป็นหนึ่งในแผนการ “zero waste” ของบริษัท เพื่อลบภาพผู้ก่อมลพิษจากพลาสติกในลำดับต้นๆ ของโลก

บรรจุภัณฑ์ใหม่นี้ จะใช้ได้จริงแค่ไหน มีคุณภาพที่เหมาะสม แล้วรสชาติจะเพี้ยนไปหรือไม่ ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันเริ่มมีแบรนด์หันมาพัฒนาบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบ “กระดาษ” แทนพลาสติกกันมากยิ่งขึ้น


ทิศทางการหันกลับมาใช้กระดาษ

นอกจาก Coca-Cola ตอนนี้มีหลายแบรนด์ที่ออกตัวว่าเตรียมพบกับขวดกระดาษจากพวกเขาได้ในเร็วๆ นี้ เช่น Johnnie Walker ที่อ้างว่าจะเป็นแบรนด์สุรารายแรกที่ใช้ขวดจากกระดาษ 100% และเป็นกระดาษที่ได้มาจากการรีไซเคิลทั้งหมด (จะเปิดตัวในปี 2021 นี้)

นอกจากนี้ ยังมี Absolut ที่จะทดลองขายเครื่องดื่มน้ำราสเบอร์รี่อัดแก๊สออกมานำร่องก่อน 2,000 ขวด และยังมีเบียร์ Carlsberg ที่กำลังเล็งแผนเปลี่ยนเพื่อโลก

ทิศทางการหันกลับมาใช้กระดาษยังมีมากมาย ไม่จำกัดเฉพาะกล่องใส่เครื่องดื่มเท่านั้น อาทิ Lego ตัดสินใจใช้ซองกระดาษใส่ตัวต่อแทนพลาสติก

นอกจากนี้ยังมีรายงานที่ระบุว่า ผู้ผลิตจำนวนมากกำลังหันกลับมาสนใจใช้กระดาษแทนพลาสติกในสินค้าอุปโภคบริโภคหลายอย่างตั้งแต่หลอดดูดน้ำจนถึงซองใส่แชมพู

โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นผู้สร้างขยะพลาสติกรายใหญ่ ที่ไม่ได้ว่ากันแค่เรื่องของตัวสินค้า แต่ยังรวมถึงธุรกิจประเภทอื่นๆ อย่างการโรงแรมที่กำลังพุ่งเป้ามาหากระดาษมากขึ้น เพื่อลดทอนการใช้พลาสติกที่เอาไว้ห่อเครื่องใช้ต่างๆ ภายในห้องพัก


คุณสมบัติของขวดกระดาษ

การพัฒนาสินค้าในรูปแบบขวดกระดาษ หลายแบรนด์พยายามอ้างถึง การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก (ที่พวกเขาต่างตกเป็นจำเลย) ซึ่งการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์นั้นก็ถือเป็นวิธีการแก้ไขที่ดีทางหนึ่ง แต่จะดีอย่างไร ก็คงมาดูกันในรายละเอียด

ตามรายงานของ The Drinks Business กล่าวว่า ปกติแล้วขวดกระดาษจะมีการบุฟิล์มพอลิเมอร์ไว้ด้านในเพื่อให้สามารถรองรับของเหลวที่ใส่ได้ ไม่ละลายกระดาษไปเสียก่อน

แต่สำหรับขวดกระดาษแบบใหม่ที่ออกมานี้ ส่วนใหญ่จะหันมาใช้วิธีพ่นเคลือบผิว (Spray coating) ด้านในแทน หรือไม่ก็เป็นฟิล์มพอลิเมอร์ที่นำมาจากการรีไซเคิล หรือฟิล์มพอลิเมอร์ที่สร้างขึ้นใหม่จากวัสดุทางชีวภาพแทน

หรือในอีกแง่หนึ่ง หากเลี่ยงพลาสติกไม่ได้ ก็อาจต้องใช้ในบางส่วน แต่ในด้านการพัฒนานั้น ก็ต้องเป็นพลาสติกที่มาจากการรีไซเคิล เพื่อไม่สร้างมลภาวะที่มากเกินไป

ในกรณีของ Coca-Cola ซึ่งได้นวัตกรรมจากบริษัท The Paper Bottle Company บริษัทพัฒนาขวดที่ทำจากกระดาษจากเดนมาร์ก ใช้เทคนิคการเคลือบภายใน (coating) ด้วยสารที่ทำจากพืช (plant-based) เพื่อให้เครื่องดื่มมีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


กล่องกระดาษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ?

อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น คงไม่ได้เกิดขึ้นจากการสร้างผลิตภัณฑ์เพียงด้านเดียว หากพูดกันจริงๆ ก็ต้องรวมถึงกระบวนการจัดการทั้งระบบ

แน่นอนว่าจากที่กล่าวมา (ตามคำโฆษณาของสินค้าต่างๆ) ทุกคนกล่าวเป็นทำนองเดียวกันว่าสินค้าตนนั้นรีไซเคิลได้ 100% แต่เรื่องใหญ่ๆ ของเราก็คือ กระบวนการที่จะส่งต่อไปถึงโรงงานรีไซเคิลนี่ล่ะที่เป็นปัญหา

หากไม่มีการผลักดัน ส่งเสริม หรือสนับสนุนอย่างเป็นระบบโดยภาครัฐ หรืออาศัยเพียงขอความร่วมมือให้ประชาชนจัดการกันเองก็ยากที่จะสำเร็จ เพราะต้องไม่ลืมว่าขยะส่วนใหญ่ที่ปนเปื้อนเข้าไปสู่ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นเพราะความด้อยประสิทธิภาพของภาครัฐด้วยส่วนหนึ่ง

เว้นแต่เจ้าของแบรนด์จะทุ่มทุนสร้างจุดทิ้ง ทำโปรโมชั่นสิทธิประโยชน์แก่ผู้เอาขวดมาทิ้งตามจุดรับขยะนั่นก็อีกเป็นเรื่อง แต่ระบบการจัดการที่ดีก็ควรเป็นการจัดการที่ทำร่วมกันทุกฝ่ายไม่ใช่ภาระของใครคนใดคนหนึ่ง

หรือในอีกแง่หนึ่ง เมื่อกล่าวว่าอุตสาหกรรมกระดาษเติบโต เราอาจจะกังวลถึงการตัดไม้ทำลายป่า แต่ด้วยนวัตกรรมความรู้ใหม่ๆ ในวันนี้เราสามารถแปรรูปพืชหลากหลายชนิดมาใช้ทดแทนได้อย่างไม่ยากเย็น จึงไม่จำเป็นว่าการผลิตกระดาษจะต้องมาจากไม้ท่อนที่ตัดออกมาจากป่าเพียงอย่างเดียว

ถึงกระนั้น เรื่องที่ต้องตามดูอย่างล้วงลึกต่อไป คือที่มาของวัสดุทดแทนต่างๆ ว่ามีที่มาที่ไปถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ เป็นการปลูกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ ไม่ใช่ทำเป็นอุตสาหกรรมแบบเดียวปาล์มน้ำมันที่ทำลายป่าฝนของอินโดนีเซีย หรือแบบเดียวกับไร่ข้าวโพดที่ปลูกเป็นอาหารสัตว์จนผลาญป่าแอมะซอนเสียจนราบเป็นหน้ากลอง ซึ่งเป็นส่วนที่ผู้ใช้ไม่ค่อยทราบกัน หลายๆ แบรนด์มักไม่ค่อยเปิดเผยข้อมูลให้ทราบสักเท่าไหร่ ส่วนมากจะทราบก็เมื่อสายไปแล้ว

เรื่องเหล่านี้ เรายังหาคำตอบมาการันตี 100% ไม่ได้ คงต้องเฝ้าติดตามและทักท้วงกันต่อไป

ข้อมูลจาก : เพจ Environman
Visitors: 1,430,167