สามศึกใหม่ 'จีน-สหรัฐ' 2564
สามศึกใหม่ 'จีน-สหรัฐ' 2564
จับตา 3 ศึกใหม่ในการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐ ปี 2564 ทั้งสงครามวัคซีนโควิด สงครามเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และสงครามค่านิยมทางการเมือง ซึ่งทั้งสามศึก
นี้จะส่งมีผลสะเทือนไปทั่วโลก
ในปี 2564 นี้ เรากำลังจะเห็นสามศึกใหม่ในการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐ ได้แก่ ศึกวัคซีน ศึกเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และศึกค่านิยมทางการเมือง
เรื่องแรกที่ตอนนี้ทุกคนจับตามองคือ ศึกวัคซีน เพราะวัคซีนเป็นความหวังที่โลกจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง ตอนนี้เราเห็นทางเลือกวัคซีนจากสองขั้วอำนาจหลัก ค่ายตะวันตกมีของสหรัฐ (สองเจ้าใหญ่คือวัคซีน Pfizer กับวัคซีน Moderna) และของอังกฤษ (วัคซีน Astrazeneca) ขณะเดียวกันก็มีวัคซีนจากค่ายจีน คือวัคซีน Sinovac และวัคซีน Sinopharm (ผลิตโดยบริษัทจีนคนละบริษัท)
ตอนนี้ประเทศไทยได้สั่งจองซื้อวัคซีนจีน Sinovac ล็อตแรก 200,000 โดส เพื่อฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และคิดว่าจะเริ่มฉีดได้ในเดือน ก.พ. ส่วนวัคซีนอังกฤษ Astrazeneca ไทยจะได้ช่วงกลางปี
ความได้เปรียบในเรื่องวัคซีนของค่ายตะวันตกคือความมั่นใจในคุณภาพและประสิทธิภาพของวัคซีน เพราะวัคซีนทั้งสามเจ้าของตะวันตกมีประสิทธิภาพสูงอยู่ในระดับ 80-90% และมีผลการวิจัยในเฟส 3 (การทดลองในมนุษย์) ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับเรียบร้อยแล้ว ขณะที่วัคซีน Sinovac ของจีนนั้น ผลรายงานล่าสุดจากการทดลองที่บราซิลพบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อโควิดเพียง 50.4% (แต่สามารถป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการหนักได้ 100%) และยังไม่มีการตีพิมพ์ผลวิจัยในเฟส 3 ที่สมบูรณ์อย่างเป็นทางการ
แต่ความได้เปรียบของจีนก็ใช่ว่าจะไม่มี ความได้เปรียบที่สำคัญที่สุดก็คือมีของพร้อมขายครับ ในขณะที่วัคซีนของฝั่งตะวันตกถึงคุณอยากซื้อ ก็ไม่มีของแบ่งมาขาย เพราะวัคซีนของค่ายตะวันตกผลิตได้ไม่ทันความต้องการ และต้องเน้นใช้ฉีดภายในสหรัฐและอังกฤษเองก่อน เนื่องจากการระบาดที่รุนแรงภายในประเทศ จึงแทบไม่มีส่วนเหลือแบ่งปันออกมาภายนอกประเทศ
ส่วนวัคซีนจีนนั้น สามารถที่จะแบ่งปันวัคซีนให้กับประเทศกำลังพัฒนาได้ตั้งแต่ตอนนี้ เนื่องจากภายในประเทศจีนยังไม่มีการระบาดระลอกใหม่ของโควิด จีนจึงยังไม่จำเป็นต้องระดมฉีดพลเมืองทั้งหมด แต่เน้นฉีดเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ซึ่งก็มีรายงานว่าจีนได้มีการเริ่มฉีดประชากรกลุ่มเสี่ยงและเก็บข้อมูลมาหลายเดือนอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศที่กำลังเริ่มเผชิญการระบาดระลอกใหม่ (เช่นไทย) จึงไม่มีทางเลือกอื่น หากต้องการวัคซีนมาฉีดเร็ว ก็ต้องอาศัยวัคซีนจีนก่อน
จากการรายงาน วัคซีนจีนยังมีข้อดีอีกอย่างคือใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนที่ใช้กันมานาน กล่าวคือผลิตจากเชื้อตาย แตกต่างจากวัคซีนของตะวันตกที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ (เช่น เทคโนโลยีเวคเตอร์หรือเทคโนโลยี mRNA) ที่ยังไม่เคยมีการใช้ทำวัคซีนเพื่อใช้ฉีดในประชากรในปริมาณมากมาก่อน ทำให้มีการตั้งคำถามว่าแม้ในทางทฤษฎีทางการแพทย์ วัคซีนของค่ายตะวันตกจะมีความปลอดภัย แต่ก็ขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าจะมีผลลบอะไรต่อร่างกายในระยะยาวได้หรือไม่ (เวลานี้ที่มีรายงานว่าวัคซีนไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรงก็มาจากการเก็บข้อมูลเพียงไม่กี่เดือน)
สรุปง่ายๆ ก็คือ ถึงแม้วัคซีนจีนจะมีประสิทธิภาพไม่สูง แต่ถ้าสามารถป้องกันการติดเชื้ออาการหนักและวัคซีนมีความปลอดภัยสูง ก็มีโอกาสได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีแรกที่ยังไม่มีทางเลือกอื่น หากจีนสามารถผลิตวัคซีนแบ่งปันให้กับประเทศต่างๆ ได้เต็มที่ เราก็จะเห็นการทูตวัคซีนเชิงรุกเต็มรูปแบบของจีน ประเทศกำลังพัฒนาที่มีการระบาดย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากซื้อและใช้วัคซีนจีน เพราะดีกว่าไม่มีอะไรเลย และนึกดูว่าถ้าเห็นประเทศข้างๆ ใช้หรือซื้อแล้ว ก็คงจะซื้อตามกัน
ในเดือน มี.ค.2564 จีนจะเปิดตัวแผนพัฒนา 5 ปีฉบับใหม่ ซึ่งหัวใจหลักข้อหนึ่งก็คือการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์พลังงานสะอาด โซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ยุคใหม่ ฯลฯ สี จิ้นผิงเองยังได้ประกาศที่องค์การสหประชาชาติเมื่อปลายปีที่แล้วว่าจีนจะเดินหน้าเป็นสังคมปลอดคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2603
ในขณะที่ไบเดนเอง ก็ประกาศว่าหนึ่งในสี่เรื่องสำคัญของรัฐบาลใหม่คือ การแก้ไขปัญหาโลกร้อน และเวลาที่ไบเดนพูดเรื่องสงครามการค้า ไบเดนก็จะพูดถึงการทุ่มเงินลงทุนให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของสหรัฐ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสีเขียวและเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มีหลายคนเปรียบเทียบว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐรอบใหม่อาจจะเป็น Green New Deal คือการทุ่มทุนมุ่งไปที่อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสีเขียวโดยเฉพาะ
การแข่งขันด้านนี้ระหว่างสองยักษ์ย่อมจะมีผลสะเทือนทั่วโลก ที่ผ่านมา มีรายงานว่าจีนได้วางแผนระยะยาวในเรื่องนี้และได้เข้าลงทุนในเหมืองทั่วโลกเพื่อผลิตแร่สำคัญที่ต้องใช้ในแบตเตอรี่ยุคใหม่ ทำให้จีนได้กุมทรัพยากรและวัตถุดิบด้านนี้ไปแล้วทั่วโลก จึงน่าสนใจว่าสหรัฐซึ่งไม่สนใจการพัฒนาด้านนี้เลยในยุค 4 ปีที่ผ่านมาของทรัมป์ จะกลับมาแก้เกมและเร่งเครื่องการบุกเบิกเทคโนโลยีใหม่ในเรื่องนี้อย่างไร
บทความโดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร | คอลัมน์ มองจีนมองไทย กรุงเทพธุรกิจ |