วัคซีน Sinovac จากประเทศจีน ได้จัดเตรียม 2 แสนเข็มแรกเรียบร้อยแล้วที่กรุงปักกิ่ง จะเดินทางมาถึงประเทศไทย 24 กุมภาพันธ์ 2564
วัคซีน Sinovac จากประเทศจีน ได้จัดเตรียม 2 แสนเข็มแรกเรียบร้อยแล้วที่กรุงปักกิ่ง จะเดินทางมาถึงประเทศไทย 11.05น.พุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564
จากการประสานงานอย่างต่อเนื่องระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท Sinovac ของจีน ที่เป็นข่าวมาโดยตลอด ว่าจะมีการจัดส่งวัคซีนให้ไทยจำนวน 2 ล้านเข็ม
โดยจะมาในเดือนกุมภาพันธ์ก่อน 2 แสนเข็ม ตามด้วยมีนาคม 8 แสนเข็ม และเมษายน 1 ล้านเข็ม
ขณะนี้ ได้มีการยืนยันเรียบร้อยแล้ว จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูลพร้อมกับโพสต์ภาพวัคซีนจำนวน 200,000 เข็ม
ซึ่งอยู่ใน package เรียบร้อย จ่าหน้าถึงองค์การเภสัชกรรมของประเทศไทย ถนนพระรามหก โดยกำหนดบินออกจากกรุงปักกิ่งเวลา 6.50 น. และมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิเวลา 11.05 น. วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์นี้
พร้อมเตรียมจัดฉีดได้ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป
เราคนไทย จึงควรจะมาทำความรู้จักกับวัคซีนของ Sinovac กันอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการพิจารณารับวัคซีนต่อไป
วัคซีนของบริษัท Sinovac ชื่อว่า CoronaVac ใช้เทคโนโลยีเชื้อตาย(Inactivated Vaccine) เป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง เพราะได้ใช้ในการผลิตวัคซีนมานาน แล้วตั้งแต่เมื่อปี 1950 ผลิตวัคซีนโปลิโอ
และยังได้ผลิตวัคซีนของตับอักเสบบี และวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าที่เราคุ้นเคยกันดีอีกด้วย
สามารถจัดเก็บที่อุณหภูมิตู้เย็นธรรมดาคือ 2-8 องศาเซลเซียส ทำให้สะดวกในการเก็บรักษา ขนส่ง และสามารถคงคุณภาพของวัคซีนได้ดีกว่าวัคซีน
mRNA ของ Pfizer และ Moderna ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ต้องเก็บที่อุณหภูมิต่ำยิ่งยวดที่ -20 องศาเซลเซียส
ส่วนเรื่องการวิจัยพัฒนาของวัคซีนดังกล่าว ได้เริ่มต้นดังนี้
ต้นปี 2563 เริ่มมีการพัฒนาตัววัคซีนตั้งต้นจนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 2563 เริ่มวิจัยในมนุษย์เฟส 1/2 ในอาสาสมัคร 743 คน
ได้ผลดีมาก คือไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรงเลย
กรกฎาคม 2563 เริ่มการวิจัยเฟส 3 ที่ประเทศ บราซิล ตามด้วยอินโดนีเซีย และตุรกี พร้อมกับจดทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉินในประเทศจีน
ตุลาคม 2563 เมือง Jiaxing ได้ฉีดวัคซีนให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงอันได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ศุลกากร และผู้ที่ทำงานสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
พฤศจิกายน 2563 ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเฟส 1/2 พร้อมกับมีข้อมูลว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิต้านทานขึ้นได้ดีนอกจากจะมีความปลอดภัยสูงแล้ว
25 ธันวาคม 2563 งานวิจัยขนาดเล็กที่ตุรกี พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค 91% โดยเป็นอาสาสมัคร 7371 คน แต่เป็นรายงานช่วงแรก 1000 คนเศษ
ในสองสัปดาห์ต่อมา บราซิลได้ประกาศประสิทธิภาพ ว่าป้องกันไม่ให้เกิดอาการที่รุนแรงได้ถึง 100% และป้องกันในกลุ่มอาสาสมัครบางส่วนได้ 78%
11 มกราคม 2564 อินโดนีเซียได้จดทะเบียนใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และอีกสองวันต่อมาประธานาธิบดีของอินโดนีเซียก็เริ่มฉีดวัคซีน
13 มกราคม 2564 ตุรกีจดทะเบียนใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และหนึ่งวันถัดมาประธานาธิบดีตุรกีก็เริ่มฉีดวัคซีน
17 มกราคม 2564 บราซิลเริ่มฉีดวัคซีน โดยที่มีการประกาศผลประสิทธิภาพ ที่ร้อยละ 50.4 สำหรับป้องกันการติดเชื้อ แต่สำหรับการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการป้องกันได้ 78%
วัคซีนเชื้อตายนั้น มีขั้นตอนการดำเนินการที่สำคัญดังนี้
1) นักวิจัยจีนได้แยกไวรัสออกจากผู้ป่วยชาวจีน อังกฤษ อิตาลี สเปน สวิตเซอร์แลนด์ และสุดท้ายใช้ของจีนเป็นหลัก
2) นำไวรัสดังกล่าว มาเลี้ยงในเซลล์ไตของลิง(Monkey Kidney Cell)
3) เมื่อได้ปริมาณไวรัสที่มากพอ ก็ทำการฆ่าไวรัสด้วยสาร Beta propiolactone เพื่อให้ไวรัสไม่สามารถแบ่งตัวได้อีกต่อไป แต่ยังกระตุ้นภูมิต้านทานในมนุษย์ได้
4) นำตัวกระตุ้นให้ภูมิต้านทานสูงขึ้นที่เรียกว่า Adjuvant มาเสริมกับวัคซีน
ส่วนขั้นตอนของการเกิดภูมิต้านทานในมนุษย์คือ
1) เซลล์พิเศษของร่างกายชนิดหนึ่งคือ APC เมื่อเจอโปรตีนหรือตัวไวรัสเชื้อตายดังกล่าว ก็จะมากินโปรตีนไวรัส
2) APC จะทำการย่อยสลายไวรัส แล้วส่งเฉพาะชิ้นส่วนที่สำคัญ เช่น ส่วนหนาม (S-protein) ออกมาที่บริเวณผิวของเซลล์
3) เซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีชื่อว่า T helper cell มาพบ ก็จะจับกับโปรตีนดังกล่าวที่ผิวของ APC แล้วกระตุ้นเซลล์อื่นๆในระบบภูมิคุ้มกันให้เข้ามาทำงาน
4) เซลล์เม็ดเลือดขาวอีกชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า B-cell จะมาจับไวรัสกินเข้าไป เมื่อย่อยแล้ว จะนำเสนอที่ผิวเช่นกัน
5) T-helper cell ก็จะมาจับกับ B-cell ที่มีโปรตีนดังกล่าว จะทำให้ B-cell ถูกกระตุ้นแล้วเพิ่มจำนวนขึ้น และสร้างภูมิคุ้มกัน
โดยเป็นภูมิคุ้มกันต่อส่วนหนามแหลม หรือ S-protein และยังมีภูมิคุ้มกันต่อส่วนอื่นๆที่ไม่ใช่หนามแหลมด้วย
ซึ่งตรงนี้ เป็นจุดเด่นของวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีเชื้อตาย เพราะถ้าไวรัสกลายพันธุ์เฉพาะส่วนหนามแหลม วัคซีนที่ผลิตเพื่อป้องกันหนามแหลมอย่างเดียว เช่น วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA อาจจะป้องกันไวรัสไม่ได้
แต่วัคซีนชนิดเชื้อตาย อาจมีภูมิคุ้มกันต่อส่วนอื่นๆของไวรัส ทำให้ยังสามารถป้องกันต่อไวรัสกลายพันธุ์ได้
ที่สำคัญ เมื่อภูมิคุ้มกันตกลงตามธรรมชาติของการฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังมีความทรงจำของ B-cell ที่ทำให้กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ทันที เมื่อติดเชื้อใหม่
เป็นความรู้และข้อเท็จจริงที่สมควรจะติดตามรายละเอียดในช่วงนี้
เพราะวัคซีน Sinovac ของจีน จะเป็นตัวแรกที่มาฉีดประเทศไทย
ส่วนวัคซีนตัวถัดไป ที่ควรจะติดตามในรายละเอียด คือวัคซีนชนิดไวรัสเป็นพาหะ ของบริษัท AstraZeneca ซึ่งบริษัทสยามไบโอซายน์เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการผลิตตาม เทคโนโลยีดังกล่าว
จะมีการผลิตจำนวนมากถึง 26,000,000 เข็มในเบื้องต้น และมีการเจรจาอีก 35,000,000 เข็ม
ทำให้ในปลายปีนี้ ไทยจะมีวัคซีนฉีดทั้งสิ้นกว่า 60,000,000 เข็มหรือ 30,000,000 คน
ที่มา : ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย |