ดอยตุง สวนกาแฟ ป่าสน ผู้คนและชีวิต
“ดอยตุง” สวนกาแฟ ป่าสน ผู้คนและชีวิต
หากดอยตุงในภาพจำ คือ สวนดอกไม้เมืองหนาว ดอกไม้สวยๆสารพัดสีโอบล้อมพระตำหนักดอยตุงของสมเด็จย่าฯ เรือนไม้หลังย่อมที่ข้างในสัมผัสได้ถึงความอบอุ่น
แม้ข้างนอกอากาศหนาว เอาจริงๆ อากาศเย็นสบายตลอดทั้งวัน แม้ตอนเที่ยงก็ไม่รู้สึกร้อน สิบปีต่อมาถึงได้รู้ว่า นอกจาก “สวนดอกไม้” แล้วเราจะได้เห็น “สวนกาแฟ”
ใต้ร่มเงาของสนภูเขา สมบูรณ์ที่สุดที่เท่าที่เคยเห็นมาในชีวิต
คนทั่วไปอาจเกิดความสงสัย “แล้วมันจะแปลกตรงไหน ก็ต้นกาแฟปลูกได้ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่อยู่แล้วนี่นา?”
…
“สน” ปลูกและเติบโตง่าย เป็นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาจึงเป็นต้นไม้ที่มักได้รับความนิยมในการปลูกป่า แถมยังมีประโยชน์หลากหลาย เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง น้ำยางใช้สำหรับ
การทำสบู่ ยารักษาโรค รวมถึงน้ำมันสนใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆหลากหลายชนิด ด้วยตัวมันเองทั้งถึก ทั้งทน มีน้ำยาง “สน” เอาตัวรอดเก่ง เพราะสามารถดูดแร่ธาตุใน
ดินได้มาก ใบสนที่ตกหล่นทับถมกันมากๆก็ย่อยสลายยาก นั่นทำให้เป็นที่รู้กันว่า สภาพแวดล้อมของป่าสนคือปราบเซียน “ไม่เหมาะอย่างยิ่ง” กับการเพาะปลูกพืชเกษตรใดๆก็ตาม
เมื่อมีป่าสนแล้ว แล้วชีวิตของ “ผู้คน” ที่อยู่ในพื้นที่หล่ะ “สน” อย่างไรให้ใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง” ในความดูแลของทีมงานและ “พี่ดุ๊ก” (ตามชื่อที่พวกเราเรียก CEO ของมูลนิธิฯ) ทำให้เราได้เห็นกับตาว่า “ กาแฟ ผู้คน ต้นสน ” เชื่อมโยงและเกื้อกูลกันได้อย่างไร
ความจริงจังตั้งใจนี้ถูกพิสูจน์ด้วย “คุณภาพรสชาติ” กาแฟดอยตุงหลายต่อหลายตัวที่เราได้ดื่ม และออกอาการ “ว้าววว...” เหล่านั้นคือผลผลิตจากต้นกาแฟในป่าสน
ซึ่งความน่าอัศจรรย์นี้ไม่ได้มาเพราะความบังเอิญ หากแต่มันแลกมาด้วยการทำงานอย่างหนักยาวนานมาเกือบครึ่งทศวรรษ
ถ้ายังจำกันได้ โครงการพัฒนาดอยตุงเคยเปิดตัวกาแฟสายพันธุ์พิเศษอย่างคาร์ติมอร์ ทิปปิก้า กาโย จาว่า ฯลฯ มาแล้วในงาน Thailand Coffee Fest2018 สารภาพว่า
เคยแต่ได้ยิน ยังไม่เคยได้ชิม ก็นั่นแหละ อะไรที่ใครเค้าบอก อะไรที่คนเค้าลือกัน มันไม่ได้มีความหมายเท่ากับตาเราเองได้เห็น เรื่องราวดีๆที่ได้ฟังหรืออ่านมา ไม่สำคัญเท่า
รสชาติที่ได้พิสูจน์ด้วยตัวเอง
“พี่ไก่” ผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟจากทีมมูลนิธิฯ เป็นผู้นำพาพวกเราในนาม “กลุ่มสหาย” ลงพื้นที่ไปลุยแปลงกาแฟในป่าสน ความสูงราว 1,450-1,550 เมตรจากระดับน้ำทะเล
เราจึงได้เห็นการจัดการแปลงกาแฟในป่าสน รวมทั้งแนวทางการพัฒนาในเรื่องสายพันธุ์ โดยเฉพาะกาแฟสายพันธุ์พิเศษ คาร์ติมอร์ ทิปปิก้า กาโย จาว่า ทั้ง 4 สายพันธุ์
นี้มีรุ่นแรกอายุเกิน 10 ปี และเราก็ได้เห็นว่าต้นกาแฟรุ่นหลังๆ (อายุ 4-5 ปี) มีการปรับตัว แข็งแรง และลูกดกมากแค่ไหน
ไม่เพียงได้เห็น แต่การได้ชิมทำให้รู้ซึ้งถึงการพัฒนาด้านรสชาติ ทั้งหมดเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ามูลนิธิฯจริงจังและตั้งใจกับ “คุณภาพรสชาติ” มากๆ จึงให้ความสำคัญกับ
การดูแลสวนกาแฟเป็นอย่างดี เคล็ด(ไม่)ลับ ในการจัดการแปลงต้นกาแฟ ได้แก่ “พืชคลุมดิน” นิยมปลูกถั่วบราซิล เพื่อรักษาความชื้นในดิน ช่วยตรึงธาตุไนโตรเจนเข้าสู่ดิน
และป้องกันวัชพืชขึ้น
“ทางเดินหลัก” ขั้นบันไดกว้าง 1 เมตร พาดบริเวณกลางแปลงกาแฟ โดยทอดยาวจากด้านบนสุดสู่ด้านล่างสุด โดยทางเดินหลักจะช่วยอำนวยความสะดวกต่อ
เกษตรกรในการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆในแปลง “ทางเดินระหว่างแถว” ทางเดินที่เชื่อมจากทางเดินหลักเข้าไปยังต้นกาแฟตามแนวระนาบ เพื่อเป็นทางเดินในการเข้าไป
จัดการต้นกาแฟในแต่ละแถวได้อย่างเป็นระเบียบ
“หลุมดักน้ำและปุ๋ย” เป็นหลุมขนาด 0.5*0.5 เมตร อยู่บริเวณทั้งสองข้างของทางเดินหลัก กลางแปลงทุกๆ 2 เมตร โดยทำหน้าที่ชะลอน้ำและดักปุ๋ยที่อาจถูกชะล้าง
จากด้านบนของแปลง และ “ไม้บังร่ม” ทำหน้าที่พรางแสงในแปลงกาแฟ ให้ต้นกาแฟได้รับแสงประมาณ 50% ควรเป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดใบเล็ก พุ่มใบโปร่ง ไม่ทึบเกินไป
แนะนำไม้ยืนต้นตระกูลถั่ว เช่น ก่างขี้มอด ท่างหลวง ก่อ เลี่ยน เป็นต้น ซึ่งพอเหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นกาแฟและการสุกของผลกาแฟ
…
เป็นเรื่องน่ายินดี ในอนาคตอันใกล้นี้ ร้านของเราและกลุ่มสหายฯจะมีโอกาสได้ใช้ “กาแฟไทย” จากดอยตุง ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่เรื่องที่เราเข้าไม่ถึง “โครงการพัฒนาดอยตุง” จับต้องและสัมผัสได้งดงาม ทั้งเรื่องราวและรสชาติที่ได้สัมผัส
หาก “สวนดอกไม้” ของสมเด็จย่าเป็นความทรงจำครั้งเก่า... การได้มีโอกาสไปเยือน “สวนกาแฟ” แห่งดอยตุงในครั้งนี้ ก็คงเป็นความประทับใจครั้งใหม่!
ขอบคุณเรื่องราวดีๆ ที่ถ่ายทอดผ่านเพจ Gallery กาแฟดริป
|