ปรากฏการณ์ Clubhouse ในประเทศไทย และจุดตายของแอปนี้

ปรากฏการณ์ Clubhouse ในประเทศไทย และจุดตายของแอปนี้
 
หลังจากที่อีลอน มัสก์ ได้ทำให้คนทั่วโลก รู้จักกับ Clubhouse ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มาวันนี้ Clubhouse ได้กลายมาเป็นหนึ่งในแอปพลิเคชัน ที่ร้อนแรงที่สุดในประเทศไทย ที่ก้าวขึ้นติดอันดับแอปที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดในกลุ่ม Social Network ชนะทั้ง TikTok, Facebook, Instagram
 
 
ร้อนแรงในระดับที่ว่านักธุรกิจ, นักลงทุน, นักทำคอนเทนต์, นักแสดง, นักร้อง แม้แต่นักการเมืองในประเทศไทยที่เรารู้จักหลายคน รวมถึง “ตัวเราเอง” 
ได้มีโอกาสเข้ามาอยู่ในวงสนทนาเดียวกัน 
 
โดยพื้นฐานที่ทำให้แอปนี้เด่นขึ้นมาก็คือ ไม่ว่าเราจะเป็นใคร หากเราเป็นผู้ที่ถูกรับเชิญ เราก็จะสามารถเข้าร่วมบทสนทนากับคนดัง หรือถ้าเราไม่ได้ถูกรับเชิญ 
เราก็สามารถยกมือเพื่อแสดงความคิดเห็นได้ ไม่ต่างอะไรไปจากการที่เรานั่งประชุมอยู่ในห้องเดียวกัน
 
 
สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก Clubhouse
 
Clubhouse เป็นแอปพลิเคชันโซเชียล ที่ไม่ได้ให้เราไถฟีดแบบเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ ไม่ใช่วิดีโอแบบยูทูบ และติ๊กต๊อก
แต่เป็นโซเชียล “เสียง” ที่แบ่งกลุ่มผู้ใช้งานออกเป็นคลับ หรือเป็นห้อง โดยในแต่ละห้องก็จะมีผู้ดำเนินรายการ ผู้พูด และผู้ฟัง เท่านั้น
 
นอกจากนี้ Clubhouse ได้ถูกออกแบบมาให้ไม่มีการบันทึกการสนทนา นั่นจึงทำให้ยิ่งผู้พูดในคลับเป็นผู้มีชื่อเสียง และน่าดึงดูดมากเท่าไร
มันก็ยิ่งจูงใจให้เราหยุดทำอย่างอื่น และเปิด Clubhouse ฟังได้ตลอดทั้งวัน ซึ่งก็ไม่กี่วันมานี้ หลายคนก็น่าจะโดนไปตั้งแต่เที่ยงวัน ยันเที่ยงคืน 
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับใครหลายคน ตอนนี้คือ เรากลัว ที่เราจะพลาดอะไรไป..
 
นอกจากการที่เราไม่อยากพลาดแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้แอปนี้กลายมาเป็นที่ต้องการ คือ การจำกัดสิทธิ์ ให้เฉพาะผู้ที่ถูกเชิญ เท่านั้น
 
ด้วยคอนเซปต์ของ Clubhouse ง่าย ๆ ก็คือ หากเราจะไปปาร์ตี้บ้านเพื่อน เราก็สามารถชวนเพื่อนเราไปด้วย แต่ได้แค่เพียง 2 คน
 
บวกกับตอนนี้ Clubhouse มีให้ดาวน์โหลดเฉพาะบนสโตร์บน App Store มันก็ยิ่งน่าจะทำให้ ผู้ที่อยากเล่น ยิ่งอยากเล่นมากกว่าเดิม
มากในระดับที่ว่าผู้ใช้งานแอนดรอยด์บางคน ต้องไปถอยไอแพดเครื่องใหม่
 
 
แต่ไม่ต้องห่วงว่าเราจะไม่ถูกเชิญเข้าเล่นแอปนี้ เพราะการที่หนึ่งคนสามารถเชิญได้ 2 คน แล้ว 2 คนนั้นที่ถูกเชิญไปเชิญอีก 2 คนใหม่ เท่ากับว่าการเชิญ
ในรอบสองจะเป็นทวีคูณ คือ 4 คน ในรอบถัดๆไปก็คือ 8, 16, 32, 64, 128, 256 หรือเข้าสูตร 2 ยกกำลัง n
 
 ถ้าการเชิญนี้ เชิญไป 30 รอบ ก็คือ 2 ยกกำลัง 30 ซึ่งคำตอบเราอาจตกใจ นั่นก็คือ “หนึ่งพันล้านคน”
 
 ดังนั้นไม่ต้องกลัวเลยว่าเราจะไม่ได้ถูกเชิญ สุดท้ายคนที่มีสิทธิ์เชิญจะมีมาก มากจนเราจะได้รับในที่สุดอยู่ดี ไม่ต่างอะไรจากการแพร่เชื้อของโควิด 19 
ที่จากจุดเล็กๆ การแพร่เป็นทวีคูณจะทำให้คนติดเชื้อกันทั้งโลก ดังนั้นเรื่องนี้เป็นแค่ลูกเล่นทางการตลาดของผู้ทำแอปพลิเคชันเท่านั้น
 
ทีนี้ หากเรามาดูในภาพที่ใหญ่ขึ้น การเกิดขึ้นของ Clubhouse ซึ่งแน่นอนว่าเราก็น่าจะต้องติดตามไปอีกสักระยะ ว่าเราจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในมุมไหนได้บ้าง 
มันมีทั้งข้อดี และข้อเสีย และบางข้ออาจเป็นจุดตายของแอปนี้
 
 
ข้อดี
1- แอปนี้จะทำให้เราได้รับรู้หัวข้อใหม่ๆ และการพูดสดของคนดัง ที่เราอาจจะไม่เคยมีโอกาสได้ฟังมาก่อน เพียงแค่เราติดตามเพื่อนที่เข้าห้องนั้น หรือเรากดปุ่ม follow 
คนดังคนนั้น และบางทีถ้าเรายกมือ คนที่เป็น Moderator ก็อาจเปิดโอกาสให้เราแสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งมันจะทำให้คนตัวเล็กๆได้ใกล้ชิดคนดังมากขึ้น
 
2- แอปนี้จะเป็นเวทีสำหรับคนที่มีทักษะในเรื่องการพูด เนื่องจากแอปใช้พูดและฟังเป็นหลัก เมื่อก่อนนี้มันไม่มีเวทีให้คนที่พูดเก่งเหล่านี้แสดงสู่สาธารณะ 
ถึงแม้ว่าการไลฟ์ยูทูบ ไลฟ์เฟซบุ๊ก หรือพอดแคสต์จะมีอยู่แล้ว แต่สำหรับการไลฟ์เสียงอย่างเดียว นี่เป็นแพลตฟอร์มแรกที่ทำมาเพื่อคนที่มีทักษะนี้
 
 
จุดตายก็คือ
1- เรื่องความเป็นส่วนตัวของแอปนี้ “จะเป็น 0” เพราะไม่ว่าเราจะเข้าไปฟังในห้องไหน มันก็จะไปแจ้งเตือนในเครื่องเพื่อนของเราทันทีว่า “เราเข้าไปฟัง” ทีนี้ตอนแรกๆ
มันก็โอเคอยู่ แต่พอไปเรื่อยเราจะเริ่มรู้สึกว่า “ไม่ใช่แล้ว” เราไม่ได้อยากให้เพื่อนของเราทุกคนรู้ว่า เราจะเข้าไปฟังอะไร บางหัวข้อเป็นเรื่อง Sensitive ที่เราอาจไม่ทันระวัง 
ช่วงหลังๆเราก็เลยไม่กล้าที่จะกดเข้าไปฟัง เพราะกลัวเพื่อนเรารู้
 
2- แอปนี้ทำให้เราติดจนเกินไป จนในบางครั้งเราก็ไม่จำเป็นต้องใช้แอปนี้นานขนาดนั้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากแอปนี้เราต้องเข้าร่วมห้องกับคนชื่อดัง และเนื่องจากแอปนี้ไม่สามารถบันทึกไว้ฟังคราวหลังได้ เราก็จะอยากฟังต่อไปเรื่อยๆ เพราะกลัวว่าเราจะพลาดอะไรไป แต่สุดท้ายเนื้อหาที่เราทนฟัง ก็ไม่คุ้มค่าพอกับเวลาที่เราเสียไปในแอปนี้ เราจะเริ่มรู้สึกว่า ชีวิตเรามีอะไรให้ทำอย่างอื่นอีกมาก
 
3- แอปนี้จะเป็นเวทีที่สำหรับคนที่พูดเก่งพูดเยอะ อยากได้หน้า และโฆษณา เนื่องจากแอปจะเปิดโอกาสให้คนต่างๆได้พูด ทำให้เราต้องรอแต่ละคนพูด ทีนี้ก็จะมีหลายคนที่เขาพูดเก่ง พูดไปเรื่อยๆ ทั้งที่เนื้อหาที่เขาพูดไม่ได้มีอะไร และเหมือนจะเป็นการโฆษณาผลงานที่เขาทำเสียมากกว่า และ Moderator เองก็อาจเกรงใจไม่เบรกคนพูด ก็เลยทำให้เรารำคาญ และไม่อยากเข้าแอปนี้อีก
 
 
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ก่อนหน้านี้ คงไม่มีใครคิดว่าจะมีใครหน้าไหน สามารถสร้างแพลตฟอร์มโซเชียลได้ในยุคที่เฟซบุ๊กครองผู้ใช้งานทั่วโลกไปแล้ว 3 พันล้านบัญชี
 
และด้วยความที่มันฮิตขนาดนี้ เฟซบุ๊กเลยประกาศว่าจะสร้างฟีเจอร์ที่คล้ายกับ Clubhouse ขึ้นมาแล้ว แต่ก็ไม่แน่ว่าเฟซบุ๊กอาจจะตัดสินใจเข้าซื้อ Clubhouse ไปเลยก็เป็นได้
 
 
ล่าสุด Clubhouse มีมูลค่าประเมินอยู่ที่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 30,000 ล้านบาท ถือเป็นระดับสตาร์ตอัปยูนิคอร์น
ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำ เมื่อเทียบกับความฮิตที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ กับมูลค่าประเมินของแอปอื่น ๆ เช่น Kuaishou แอปวิดีโอสั้นคล้าย TikTok ที่มีผู้เล่นเฉพาะคนจีน 
เพิ่งเข้า IPO เมื่อต้นเดือน กุมภาพันธ์ แต่ตอนนี้มีมูลค่าประเมินมากถึง 6.4 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า Clubhouse ถึง 213 เท่า
 
ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมันเกี่ยวกับการฟัง ตลาดแห่งนี้มีมูลค่าที่ใหญ่มาก ซึ่งถ้าเราพูดถึงยักษ์ใหญ่ในธุรกิจนี้ คงหนีไม่พ้นบริษัท Spotify
 
ที่ผ่านมา หนึ่งในธุรกิจที่เติบโตดีที่สุดของ Spotify คือธุรกิจพอตแคสต์ โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทมี 2.2 ล้านพอตแคสต์บนแพลตฟอร์ม และรายงานว่าผู้ใช้งานเล่น
พอตแคสต์นานขึ้นเป็นเท่าตัว
 
นั่นจึงทำให้คิดได้ว่าปรากฏการณ์ของ Clubhouse ที่ถูกจุดติดขึ้นทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก จะไป “แย่งหู” ผู้ใช้งานพอดแคสต์เดิมขนาดไหน
 
คิดว่าคงไม่ได้แย่งตลาดพอดแคสต์ไปเสียทั้งหมด เพราะพอดแคสต์มีความรวบรัด ไม่เสียเวลา ได้เนื้อหาที่ต้องการฟังจริงๆ Clubhouse จะเสียเวลามาก แต่ก็จะมี
ความเป็นกันเองมากกว่า มีการโต้ตอบกันมากกว่า
 
นอกเหนือจากในมุมของธุรกิจ ผู้ที่เป็นสื่อ และคนทำคอนเทนต์ก็น่าจะต้องตามติดกระแสนี้ไว้ให้ดี ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้แอปมันเพิ่งเริ่มฮิตในไทยยังไม่มีใครรู้ว่า ความฮิต
ระเบิดในตอนนี้มันจะมาแล้วก็ไปหรือจะอยู่ทนนาน และกลายเป็นแอปโซเชียลประจำวันหรือไม่
 
 
ขอบคุณที่มา : ติดตามได้ที่เพจ ลงทุนแมน : ปรากฎการณ์ Club House ในประเทศไทย


Visitors: 1,222,670