ขวด กระป๋อง กล่องนม แก้ว ดื่มหมดแล้วไปไหนต่อนะ?

เคยสงสัยไหม? พอเราดื่มเครื่องดื่มจนหมดแล้ว บรรจุภัณฑ์เหล่านั้นจะถูกส่งไปไหนต่อ?
 
 
 
 
แต่ละอย่างทำมาจากอะไร? รีไซเคิลได้ไหม?และ ควรทิ้งอย่างไรเพื่อให้ถูกจัดการอย่างที่ควรจะเป็น?
 
 
เริ่มที่อย่างแรกคือ “ขวดพลาสติก” 
 
เป็น 1 ในขยะพลาสติกที่เรามักพบเจอเสมอ ๆ และมีปริมาณมหาศาลมากเลยก็ว่าได้
 
ขวดพลาสติกมีสารตั้งต้นมาจากปิโตรเลียมหรือน้ำมันดิบ ผ่านกระบวนการเคมีและเป่าขึ้นรูปเป็นขวดเครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า น้ำอัดลม
มักใช้พลาสติกประเภท PET สังเกตได้จากก้นขวดที่มีสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 1 เป็นขวดใส ๆ บาง ๆ
ส่วนขวดนมตามตู้แช่มักเป็นประเภท HDPE (มีสัญลักษณ์รีไซเคิลหมายเลข 2) หนานิ่มและสีขุ่นกว่า
 
 
ฮาวทู ‘ทิ้ง’?
1. เทหรือดื่มน้ำให้หมดก่อน
2. บีบขวดให้แบน (แนะนำให้บีบมากกว่าบิด เพราะโรงงานจะได้ดึงฉลากออกได้ง่าย) ช่วยลดพื้นที่ในการขนส่ง ทิ้งในถังขยะรีไซเคิล
หรือที่ทิ้งขวด
 
หลังถูกเก็บขาย จะถูกส่งให้โรงงานรีไซเคิลออกมาเป็นเม็ดพลาสติกและเส้นใยโพลีเอสเตอร์
 
 
ข้อควรระวัง!
1. ไม่ควรแยกฝาออกมา เพราะ อาจเกิดการปนเปื้อนในขวด และจริง ๆ โรงงานรีไซเคิลแยกฝาเองง่ายกว่าและนำไปรีไซเคิลต่อได้
2. แยกฉลากเองได้ ถ้ามีที่ไปที่ดีให้กับมัน เช่น การใส่ใน Eco brick แม้ว่าปกติแล้วฉลากมักจะไม่ถูกรีไซเคิลหรือเผาอย่างถูกสุขอนามัยก็ตาม
3. ถ้าต้องเลือกดื่มจากขวดพลาสติก ควรเลือกขวดใส ไม่มีสี เพราะขวดที่มีการเจือสีหรือขวดที่ถูกสกรีนลายมีอัตราการรีไซเคิลต่ำมาก ราคาขายก็ถูก 
จึงยากที่จะมีคนเก็บไปขายเพื่อรีไซเคิล
4. โดยอุดมคติแล้ว การรีไซเคิลที่ดีคือการที่เราสามารถทำให้วัสดุหนึ่งกลับไปเป็นวัสดุเดิมได้ แต่ปัจจุบันการรีไซเคิลพลาสติก PET เพื่อนำกลับมาเป็นบรรจุภัณฑ์
สำหรับอาหารยังไม่ถูกยอมรับ จึงทำให้ส่วนมาก เมื่อรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกแล้ว ถ้าไม่ถูกส่งออก ก็จะนำมาทำเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ (เส้นใยสังเคราะห์ที่พบมาก
ในเสื้อผ้า มีคุณสมบัติคือระบายอากาศได้ดี แห้งง่าย ถ้าทอละเอียดสามารถสะท้อนน้ำได้ แต่ก่อให้เกิดปัญหาไมโครพลาสติกจากการซักหรือการใช้)
 
 
 
"กระป๋องอะลูมิเนียม"
 
 
กระป๋องเครื่องดื่มส่วนใหญ่ เช่น น้ำอัดลมสุดซ่าหรือกาแฟ ทำมาจากอะลูมิเนียม 
อะลูมิเนียมมีข้อดีหลายอย่างคือ น้ำหนักเบา แช่แล้วเย็นเร็ว บางทีแค่วางไว้ในห้องแอร์ ก็ยังเย็นชื่นใจ
 
อะลูมิเนียมยังเป็นตัวแทนของบรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม มีส่วนช่วยเรื่องการลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ได้อย่างชัดเจน เพราะสามารถส่งกลับไปรีไซเคิลได้แบบ 100%
 
 
ทำมาจากอะไร?
อะลูมิเนียมเป็นโลหะมันวาว น้ำหนักเบา เกิดจากการถลุงแร่ Bauxite
 
ส่วนกระป๋องอะลูมิเนียมสามารถผลิตได้จาก 2 ทาง คือ
1. จากการถลุงแร่
Bauxite จากเหมือง ทำให้กลายเป็นอะลูมิเนียมบริสุทธิ์ (Aluminium Ingot) แล้วนำมาหลอมเป็นแท่งใหญ่ ๆ รีดเป็นแผ่นบาง ๆ แล้วขึ้นรูปเป็นกระป๋อง ช่องทางนี้จะใช้พลังงานเยอะมาก
2. จากการรีไซเคิลอะลูมิเนียม
 
เป็นวัสดุสุดมหัศจรรย์ที่รีไซเคิลเพื่อหลอมให้เป็นกระป๋องใหม่ได้อย่างไม่รู้จบ 
 
การรีไซเคิลอะลูมิเนียมลดกระบวนการผลิตอะลูมิเนียมขึ้นมาใหม่ = ช่วยลดการใช้พลังงานในการผลิตจากแร่ 95% = ลดมลพิษ = ลดภาวะโลกร้อน
 
เรียกได้ว่าเป็นวัสดุที่น่าสนใจมาก ๆ
 
 
ฮาวทู ‘รีไซเคิล’?
แค่เทน้ำด้านในทิ้งให้หมด บีบหรือเหยียบกระป๋อง แล้วก็ทิ้งลงถังขยะรีไซเคิลหรือจุดรับกระป๋องอะลูมิเนียมได้เลย ด้วยราคารับซื้อที่
สูงมาก ทำให้การถูกเก็บไปขายเพื่อรีไซเคิลก็เกิดขึ้นเยอะตาม
 
 
จุดที่น่าสนใจ
1. กระป๋องอะลูมิเนียมสามารถกลับมาเป็นกระป๋องใหม่ได้ภายใน 60 วัน (ถ้าทิ้งถูกที่) โดยไม่เสียคุณภาพ (ไทยสามารถรีไซเคิลได้ครบวงจรโดยไม่ต้องส่งออก อ่านเพิ่มได้ที่ https://littlebiggreen.co/blog/can-to-can-journey)
 
 
3. ขึ้นชื่อว่าโลหะเหมือนกัน แต่เงื่อนไขการรีไซเคิลต่าง กระป๋องเหล็ก ดีบุก สังกะสี มักขายได้ราคาถูกกว่า มีโอกาสเกิดสนิมซึ่งทำให้มีเนื้อวัสดุหายไปก่อนถูกรีไซเคิล 
สังเกตได้จากก้นกระป๋อง ถ้าเป็นอะลูมิเนียมจะเว้าเข้า ส่วนแบบอื่นจะแบน ๆ (ดูวิธีแยกเพิ่มเติมได้ที่ https://littlebiggreen.co/blog/typesofcans)
 
 
 
"กล่องกระดาษเคลือบหรือกล่องนม”
 
 
 
ถูกพัฒนามาเพื่อควบคุมคุณภาพของนมให้สามารถอยู่ได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น
 
หลายคนเข้าใจว่ากล่องกระดาษเคลือบดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะผลิตมาจากกระดาษ แต่จริง ๆ แล้ว เจ้ากล่องนี้มีความซับซ้อนมากกว่าที่ตาเห็น
 
“กล่องกระดาษเคลือบ” ทำมาจากอะไร?
 
กล่องกระดาษเคลือบที่นิยมใช้กันในตลาดมี 2 แบบ ได้แก่
1. “กล่องนม UHT” เครื่องอื่มแบบไม่ต้องแช่เย็น เก็บได้นาน มีส่วนประกอบ 6 ชั้น เรียงจากชั้นนอก -> ชั้นใน คือ
   1) พลาสติก PE
   2) กระดาษ
   3) พลาสติก PE (ทำหน้าที่เป็นกาว)
   4) อะลูมิเนียมฟอยล์ (ป้องกันอากาศและแสงแดด)
   5) พลาสติก PE (ทำหน้าที่เป็นกาว) และ
   6) พลาสติก PE เป็นส่วนประกอบ
 
 
2. “กล่องนมพาสเจอร์ไรซ์” (ต้องแช่เย็น และมีอายุสั้น) มีพลาสติก PE กระดาษและพลาสติก PE เป็นส่วนประกอบ บางแบบมีฝาพลาสติกเพิ่ม บางแบบมีติด
ซองพลาสติกและหลอด โดยผู้ผลิตมักกล่าวว่าบรรจุภัณฑ์นี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะวัสดุส่วนใหญ่เป็นวัสดุหมุนเวียนหรือ Renewable materials เช่น 
พลาสติกจากอ้อย กระดาษจากแหล่งปลูก และยังมีน้ำหนักที่เบา รูปร่างที่เป็นมิตรกับการขนส่งมากกว่าบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ
 
 
ฮาวทู ‘รีไซเคิล’?
 
ก่อนทิ้ง ควรเสียบหลอดกลับเข้าไปในกล่อง เพื่อไม่ให้เป็นขยะชิ้นเล็กหลุดลอดไปที่อื่น พลาสติก กระดาษ และอะลูมิเนียม รีไซเคิลได้เมื่ออยู่แยกกัน แต่เจ้ากล่อง
กระดาษเคลือบนี้ ทั้ง 3 วัสดุถูกเชื่อมติดกัน
 
ในบางพื้นที่ รีไซเคิลเป็นวัสดุใหม่ได้ เช่น แยกเยื่อกระดาษไปรีไซเคิลต่อ แล้วเหลือส่วนผสมของพลาสติก-อะลูมิเนียม แต่มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะทำให้กล่องในมือ
วันนี้กลับมาเป็นอีกกล่องหนึ่ง หรือแยกวัสดุแต่ละอย่างออกมา
 
 
ในไทย ราคารับซื้อกล่องเหล่านี้มีราคา 0 บาท เพราะฉะนั้นด้วยการทิ้งแบบปกติ กล่องเหล่านี้จะไม่ถูกนำไปรีไซเคิล แถมยังย่อยสลายเองไม่ได้อีกด้วย
 
 
อย่างสุดท้าย “ขวดแก้ว”
 
ใช้ใส่เครื่องดื่มมายาวนาน เป็นวัสดุที่สะอาดและปลอดภัย
 
น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ มักถูกบรรจุอยู่ในขวดแก้วรูปทรงและขนาดที่ต่างกัน
 
 
“ขวดแก้ว” ทำมาจากอะไร?
 
ทำมาจากซิลิกาซึ่งมีอยู่ในทรายเนื้อละเอียดผสมกับโซดาแอช หินปูน และเศษแก้วที่ช่วยให้ใช้ความร้อนน้อยลง ประหยัดวัตถุดิบใหม่ด้วย
 แก้วเป็นวัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ แต่ขวดแก้วสามารถนำมารีไซเคิลหลอมขึ้นรูปใหม่ได้
 
 
ฮาวทู ‘วน’?
 
ถ้าเป็นขวดแก้วเนื้อดี เนื้อหนา และอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ให้ใช้งานวนไปเรื่อย ๆ ได้เลย
 
 
ไม่ว่าจะเอาไปใส่เมล็ดธัญพืช นำไปไปใช้บริการที่ร้านรีฟิล หรือทำเป็นของตกแต่งบ้านเก๋ ๆ หรืออีกวิธีง่าย ๆ คือ เลือกเครื่องดื่มขวดแก้วแบบใช้ซ้ำ ที่ต้องส่งคืนโรงงานนั่นเอง
 
 
ฮาวทู ‘รีไซเคิล’?
 
ขวดแก้วนับว่าเป็นวัสดุที่รีไซเคิลได้ 100% เช่นเดียวกันกับอะลูมิเนียม ก่อนทิ้งให้เทน้ำหรือทำความสะอาดขวดแก้วให้เรียบร้อย ทิ้งใส่ถังขยะรีไซเคิล
 
หลังจากนั้น ขวดจะถูกแยกตามสีและสภาพ เพราะราคารับซื้อไม่เท่ากัน ขวดแก้วที่สภาพสมบูรณ์ดี จะนำกลับเข้าโรงงานเพื่อล้างให้สะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่
 
 
สำหรับในส่วนของเศษแก้ว หรือขวดที่แตกหัก ชำรุดเสียหาย จะนำมาคัดแยกสี ได้แก่ แก้วใส แก้วสีชา และแก้วสีเขียว เพื่อส่งไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล บดละเอียด กัดสี ส่งต่อไปยังโรงงานผลิตขวดแก้วเพื่อหลอมให้กลายเป็นแก้วใหม่ต่อไป
 
 
 
เวลาเราจะเลือกเครื่องดื่มชนิดหนึ่ง นอกจากเลือกว่าอยากดื่มอะไรแล้ว อยากฝากให้คิดเพิ่มว่า เราจะเลือกเครื่องดื่มที่อยู่ในวัสดุแบบไหนดีนะ
 
 
ถึงเราจะดื่มแค่ชั่วครู่เดียว แต่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจะอยู่ไปอีกนาน มีหลายปัจจัยให้นึกถึง คือ การปล่อยก๊าสเรือนกระจก ที่มาและที่ไปของวัสดุ
 
 
เมื่อคิดในภาพรวมแล้ว อาจนึกถึงการนำกลับมาใช้ใหม่โดยไม่เปลืองทรัพยากรและไม่กระทบกับสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลก เราอาจจะเรียงความน่าหยิบได้ดังนี้
 
 
1. กระป๋องอะลูมิเนียม: ทั้งน้ำหนักเบา สามารถรีไซเคิลได้เรื่อย ๆ 100% และการรีไซเคิลยังลดพลังงานที่ต้องใช้ไปได้ถึง 95% เมื่อเทียบกับการผลิตจากแร่แบบ virgin
 
 
2. ขวดแก้ว: มีน้ำหนักมาก แต่รีไซเคิลได้ 100% เช่นกัน และยังเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติด้วย
 
 
3. ขวดพลาสติก: เลือกแบบไม่มีสี ไม่สกรีน ถึงจะผลิตจากวัตถุดิบที่ใช้แล้วหมดไป ประกอบด้วยพลาสติกหลายประเภท ออกแบบมาให้ใช้ครั้งเดียว แต่ยังพอมีทางไปต่อในการรีไซเคิลและแปรรูป ด้วยน้ำหนักที่เบา ทำให้ใช้พลังงานไม่มากในการขนส่ง
 
 
4. กล่องกระดาษเคลือบ: ไม่ค่อยมีทางไปต่อที่เหมาะสมให้ ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ และไม่สามารถพับกล่อง ล้างทำความสะอาดเพื่อส่งบริจาคได้ แนะนำให้เลี่ยงการใช้
 
 
แต่อย่างไรก็ตาม เรายังยืนยันคำเดิมว่า การบริโภคที่ยั่งยืนที่สุดคือการลดและใช้ซ้ำ ถ้าเป็นไปได้ ลองพกกระบอกน้ำหรือแก้วส่วนตัวกันนะ 
 
ขอบคุณที่มา : Little Big Green https://www.blockdit.com/articles/601d12c96812250bc7a69e37

Visitors: 1,405,426