COVAX คืออะไร ไทยเข้าร่วมโครงการวัคซีนระดับโลกนี้หรือไม่
COVAX คืออะไร ไทยเข้าร่วมโครงการวัคซีนระดับโลกนี้หรือไม่
กลายเป็นหนึ่งในประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ทันทีว่า เหตุใดประเทศไทยจึงไม่ยังไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) แพลตฟอร์มความร่วมมือด้านวัคซีนนานาชาติระดับโลก ที่มีองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นโต้โผใหญ่ หลังจากที่มีข่าวออกมาเมื่อวันที่ 23 มกราคมว่า บริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค บรรลุข้อตกลงกับโครงการว่า จะขายวัคซีนของบริษัทให้ในราคาต้นทุนจำนวน 40 ล้านโดส และทำให้โคแวกซ์สามารถจัดส่งวัคซีนให้กับประเทศรายได้น้อยได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้
ต่อมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตอบคำถามผ่านเฟซบุ๊กของตนเองเมื่อวันที่ 26 มกราคมว่า
“กรณีที่ประเทศไทยไม่ร่วมโครงการวัคซีนของโคแวกซ์นั้น เราได้เจรจากับโคแวกซ์มาตลอด แต่เราไม่อยู่เกณฑ์ที่เขาจะให้ฟรี โคแวกซ์ให้สิทธิแก่ประเทศยากจนที่ WHO และ GAVI ให้การสนับสนุนจำนวน 92 ประเทศ แต่ไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีฐานะปานกลาง หากเราจะร่วมกับโคแวกซ์ เราต้องซื้อราคาแพงกว่า และไม่สามารถเลือกวัคซีนจากผู้ผลิตรายใดได้ มีความไม่แน่นอนทั้ง ชนิด จำนวน และราคา รวมทั้งต้องจ่ายเงินล่วงหน้า ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้วัคซีนเมื่อไร การที่เราจัดหาเอง และได้วัคซีนที่เหมาะสมกับการใช้ มีเงื่อนไขด้านราคาและเวลาที่ชัดเจนกว่า จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากกว่า”
ก่อนที่จะพิจารณาว่า จะเห็นด้วยกับคำชี้แจงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ อาจต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจโคแวกซ์อย่างลงลึกมากขึ้นสักนิด
1. โคแวกซ์ (COVAX) เป็นหนึ่งในสามเสาหลักของตัวเร่งการเข้าถึงเครื่องมือโควิด-19 (ACT) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป และฝรั่งเศส ประกาศก่อตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2020
โครงการโคแวกซ์สนับสนุนการวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนที่เข้าข่ายว่าจะมีประสิทธิภาพ และเป็นกลไกต่อรองราคา ที่ "องค์การอนามัยโลก" (WHO) เป็นตัวกลาง และมี "พันธมิตรเพื่อนวัตกรรมการเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาด" (The Coalition for Epidemic Preparedness Innovations-CEPI) รับผิดชอบด้านการวิจัยและพัฒนา และ "พันธมิตรกาวี" (GAVI Vaccine Alliance) ซึ่งเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐ-เอกชน ประสานงานด้านการกระจายวัคซีนแก่ประเทศยากจนและกำลังพัฒนา
2. ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และไม่รู้ว่าวัคซีนชนิดใดจะมีประสิทธิภาพ โคแวกซ์ เป็นแพลตฟอร์มทางเลือกที่ประเทศต่างๆ สามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่มารวมกันเพื่อเพิ่มอำนาจในการซื้อวัคซีนจากผู้ผลิต แทนการต่อรองกับผู้ผลิตวัคซีนเพียงลำพัง และเป็นหลักประกันว่า ทุกประเทศที่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ไม่ว่าจะมีสถานะทางรายได้อย่างไร ก็จะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้เท่าเทียมกันเมื่อวัคซีนใช้ได้ ยังรวมไปถึงการระดมความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนด้วย
3. การเข้าร่วม COVAX Facility ประเทศสมาชิกไม่เพียงสามารถเข้าถึงเครือข่ายวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ COVAX Facility ยังสามารถติดตามและตรวจสอบผลจากการฉีดวัคซีน ด้วยการพิจารณาจากหลักวิทยาศาสตร์ รวมถึงประเมินความสามารถในการขยายการผลิต และทำงานร่วมกับผู้ผลิตเพื่อสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาเพิ่มความสามารถในการผลิตวัคซีนด้วย
4. เป้าหมายสำคัญของการสร้างแพลตฟอร์ม COVAX Facility คือ เพื่อให้ทั้งประเทศที่พึ่งตนเองได้ทางการเงิน และประเทศยากจนกว่าที่ได้รับทุนสนับสนุน สามารถเข้าร่วมได้ ภายใต้กลไกการให้ทุนที่แตกต่างกัน ซึ่งรวมถึงข้อตกลง Gavi COVAX Advance Market Commitment (AMC) ที่สนับสนุนวัคซีนสำหรับประเทศรายได้ต่ำอยู่ด้วย
5. สำหรับกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยที่สุด ส่วนหนึ่งอาจจะเจรจาแบบทวิภาคีกับผู้ผลิตวัคซีนไปพร้อมกันด้วย การเข้าร่วมกับโคแวกซ์ก็จะเป็นหลักประกันว่าพลเมืองในประเทศจะมีช่องทางการเข้าถึงวัคซีนเพิ่มขึ้น ประเทศที่พึ่งตนเองได้ทางการเงิน (self-financing countries) ก็จะมีหลักประกันว่า อย่างน้อยจะมีวัคซีนเพียงพอสำหรับประชากรส่วนหนึ่งของประเทศ ขึ้นอยู่ว่าจะซื้อเท่าใด ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ สามารถยื่นขอซื้อวัคซีนได้จำนวน 10-50% ของประชากรในประเทศ ส่วนประเทศที่ได้รับเงินสนับสนุน จะได้รับจำนวนวัคซีนอย่างน้อย 20% ของประชากรทั้งประเทศ
6. องค์การอนามัยโลกประกาศเชิญชวนประเทศต่างๆ ให้เข้าร่วมโครงการความร่วมมือครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การสาธารณสุขของโลกเมื่อเดือนเมษายน 2020 โดยกำหนดว่า สำหรับประเทศที่พึ่งตนเองได้ทางการเงินจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมภายใน 31 สิงหาคม อย่างไรก็ตาม มีการประกาศข้อตกลงและเงื่อนไขใหม่เมื่อ 5 สิงหาคม 2020 กำหนดวันปิดรับสมัคร เมื่อวันที่ 18 กันยายน และต้องจ่ายเงินล่วงหน้าภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2020 จนถึงวันที่ 21 กันยายน มีประเทศที่พึ่งตนเองได้ทางการเงินลงนามรวม 64 ประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่ได้รวมอยู่ในกลุ่มนี้
ด้านความคืบหน้าของวัคซีน เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม โคแวกซ์ ประกาศว่ามีวัคซีนของผู้ผลิต 9 รายเป็นตัวเลือก จากนั้น เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2020 บริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค ประกาศว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพ 90% และได้รับการรับรองให้ใช้ได้เป็นการฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2020
7. รูปแบบการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของประเทศที่พึ่งตนเองได้ทางการเงินแบ่งออกเป็น 2 แบบ ซึ่งต้องลงนามก่อนวันที่ 9 ตุลาคม
แบบแรก สัญญาซื้อขายแบบผูกมัด (Committed Purchase Arrangement) ผู้ยื่นขอจะต้องทำข้อตกลงว่า จะซื้อวัคซีนจำนวนหนึ่งผ่าน COVAX Facility ต้องจ่ายเงินมัดจำ 1.60 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส หรือ 3.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 15% ของราคาเต็มต่อโดส และต้องวางหนังสือค้ำประกันในวงเงิน 8.95 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส หรือ 17.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน
สำหรับผู้ลงนามแบบผูกมัด จะได้รับวัคซีนในปริมาณที่คำนวณจากราคาจริงที่ตกลงกับผู้ผลิต ซึ่งหากราคานี้ต่ำกว่าราคาคาดการณ์ที่ใช้ในการออกหนังสือค้ำประกัน สามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินส่วนต่างคืนหรือรับเป็นวัคซีนตามมูลค่า (ถ้ามีวัคซีน) แต่ถ้าสูงกว่า ก็จ่ายตามวงเงินหนังสือค้ำประกันเดิม
ข้อตกลงนี้ผูกมัดว่า ประเทศที่เข้าร่วมต้องซื้อวัคซีนในปริมาณที่กำหนด โดยสามารถถอนตัวได้ถ้าราคาของวัคซีนสูงเกินกว่าที่วางไว้ 2 เท่า
ตัวอย่างเช่น ประเทศที่มีประชากร 70 ล้านคน ต้องการวัคซีนครอบคลุม 30% ของประชากรทั้งหมด ต้องใช้วัคซีนทั้งหมด 42 ล้านโดส คิดจาก ประชากร (70 ล้าน) x ประชากรกลุ่มที่ต้องการให้ได้รับวัคซีน (30%) x 2 โดสต่อคน
เงินมัดจำ: 42 ล้านโดส x 1.60 ดอลลาร์สหรัฐ = 67.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หนังสือค้ำประกันทางการเงิน: (42 ล้านโดส x 8.95 ดอลลาร์สหรัฐ) x 2.5% ต่อปี* = 9.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประมาณ รวมต้องจ่ายก่อนวันที่ 9 ตุลาคม 76.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยประมาณ
ข้อดี (เมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาแบบที่สอง) ของสัญญาแบบนี้คือ จ่ายเงินล่วงหน้าน้อยกว่าสัญญาแบบที่สอง เงินที่จ่ายไปสัมพันธ์โดยตรงกับจำนวนวัคซีนที่ได้รับ สามารถถอนตัวได้ถ้าราคาวัคซีนสูงเกินไป
ข้อเสียโดยเปรียบเทียบ คือ มีทางเลือกวัคซีนน้อยกว่า และไม่สามารถประวิงเวลาตัดสินใจได้
*หมายเหตุ: ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันธนาคาร คิดจากอัตราปกติของธนาคารพาณิชย์ไทย
แบบที่สอง สัญญาซื้อขายแบบมีทางเลือก (Optional Purchase Arrangement) ประเทศที่เลือกสัญญานี้ สามารถถอนตัวออกจากการรับวัคซีนตัวใดก็ได้ โดยไม่ส่งผลต่อความสามารถในการเข้าถึงวัคซีนตัวอื่นๆ และได้ในปริมาณเต็มจำนวนที่ต้องการ
สำหรับทางเลือกนี้ ผู้สมัครจะต้องจ่ายมัดจำล่วงหน้าต่อโดสมากกว่าแบบแรก อยู่ที่ 3.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ทางเลือกนี้ไม่ต้องวางหนังสือค้ำประกันก่อนที่วัคซีนจะได้รับอนุมัติ เพราะประเทศที่เลือกวิธีนี้จ่ายเงินครอบคลุมต้นทุนแล้ว หน่วยงานระดับภูมิภาคสามารถจ่ายเงินนี้ในนามของรัฐสมาชิกได้ ในทางเลือกนี้ ประเทศสมาชิกต้องตัดสินใจว่าจะซื้อวัคซีนของเจ้าไหน ตัวอย่างเช่น พิจารณาร่วมกับยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติของตัวเอง ซึ่งถ้าไม่เลือกก็จะได้รับวัคซีนช้า
สัญญานี้มี 2 ทางเลือก ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของการตัดสินใจ คือ
1) ตัดสินใจก่อนที่โครงการ COVAX Facility มีข้อตกลงกับผู้ผลิตวัคซีน ถ้าเข้าร่วมในระยะนี้จะมีโอกาสระบุวัคซีนจากผู้ผลิตที่สนใจได้ ถ้าตัดสินใจเลือกผู้ผลิตที่สนใจก็จะได้รับตัวเลือกในการสั่งซื้อวัคซีนจากข้อตกลงใน 2) แต่ถ้าไม่สนใจเป็นพิเศษ ก็จะไม่ได้รับการแจ้ง หรือ
2) พ้นวันที่ COVAX Facility ยืนยันคำสั่งซื้อกับผู้ผลิตไปแล้ว ประเทศที่เข้าร่วมในขั้นตอนนี้จะได้รับวัคซีนที่จำนวนเท่ากับเงินที่ “จ่ายไปก่อน” จากเงินที่มัดจำไว้ และสามารถซื้อส่วนที่เหลือได้ในราคาต่อหน่วยที่โครงการตกลงกับผู้ผลิต หรือถ้าไม่สนใจตัวเลือกนี้ก็สามารถทำข้อเสนอซื้อขายวัคซีนกับโครงการ COVAX Exchange หรือบริจาคให้กับประเทศในกลุ่ม COVAX AMC หรือไม่เลือกทางใดเลยก็ได้ แต่ก็จะไม่ได้รับเงินมัดจำคืน
ประเทศที่เลือกสัญญาซื้อขายแบบมีทางเลือกจะต้องจ่ายค่าการันตีความเสี่ยงที่ 0.40 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส เพื่อเป็นหลักประกันความเสียหายสำหรับ COVAX Facility กรณีที่ถอนตัว หลังจากที่ทำสัญญากับผู้ผลิตวัคซีนไปแล้ว ถ้าไม่จ่ายก่อนวันที่ 9 ตุลาคม จะเลือกได้เฉพาะข้อ 1)
ตัวอย่างเช่น ประเทศที่มีประชากร 70 ล้านคน ต้องการวัคซีนครอบคลุม 30% ของประชากรทั้งหมด ต้องใช้วัคซีนทั้งหมด 42 ล้านโดส คิดจาก ประชากร (70 ล้าน) x ประชากรกลุ่มที่ต้องการให้ได้รับวัคซีน (30%) x 2 โดสต่อคน
ค่ามัดจำวัคซีนทั้งหมด: 3.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส x 42 ล้านโดส = 130.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ค่าการันตีความเสี่ยงร่วมกัน: 42 ล้านโดส x 0.40 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส = 16.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รวมเงินที่ต้องจ่ายภายใน 9 ตุลาคม 2020: 130.2 + 16.8 = 147 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อดีโดยเปรียบเทียบของสัญญาแบบนี้ คือสามารถเลือกวัคซีนที่ต้องการได้ มีความยืดหยุ่นของช่วงเวลาการตัดสินใจ
ข้อเสียโดยเปรียบเทียบคือ ต้องจ่ายเงินล่วงหน้ามากกว่าสัญญาแบบแรกราวสองเท่า
ในเอกสารสัญญาเพื่อเข้าร่วมโครงการ Covax Facility ระบุไว้ว่า โคแวกซ์คาดการณ์ว่าราคาต้นทุนเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 10.55 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ซึ่งหากราคาจริงของวัคซีนสูงเกินกว่า 2 เท่าของราคานี้ ประเทศคู่สัญญาแบบผูกมัด สามารถถอนตัวได้ ซึ่งหมายถึงเกิน 21.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ส่วนประเทศที่ทำสัญญาแบบมีทางเลือก จะได้รับวัคซีนที่จำนวนเท่ากับเงินที่ “จ่ายไปก่อน” จากเงินที่มัดจำไว้ และสามารถซื้อส่วนที่เหลือได้ในราคาต่อหน่วยที่โครงการตกลงกับผู้ผลิต
8. การแจกจ่ายวัคซีนจะไม่มีประเทศใดได้รับวัคซีนเกิน 20% จนกว่าทุกประเทศจะได้รับวัคซีนถึง 20% ของประชากร หลังจากนั้นจึงจะกระจายวัคซีนส่วนที่เหลือไปตามเงินที่ส่วนที่เหลือ ซึ่งจะการพิจารณาลำดับของแต่ละประเทศจะประเมินจากความเสี่ยงในเวลานั้น
9. ข้อมูลวันที่ 15 ธันวาคม 2020 ของกาวีประเทศอาเซียนที่ไม่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำที่ลงนามเข้าร่วม Covax Facility แล้วได้แก่ สิงคโปร์ (เป็นผู้บริจาคเงินเข้าโครงการ Covax AMC ด้วย) บรูไน มาเลเซีย ซึ่งลงนามซื้อวัคซีนจำนวนเงิน 22,656,200 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน สำหรับ 10% ของประชากร
10. สำหรับประเทศไทย ซึ่งธนาคารโลกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงจะเข้าข่ายประเทศที่พึ่งตนเองทางการเงิน ตามรายงานของกาวีวันที่ 15 ธันวาคม 2020 ระบุว่า ไทยแสดงเจตจำนงว่าจะเข้าร่วม Covax Facility แล้ว ตามรายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมใน COVAX facility (Expression of Interest) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 แล้ว แต่ยังไม่มีรายละเอียดความคืบหน้าเพิ่มเติม
ที่มา:
Cavi Facility Explainer
Covax Explained
COVAX Facility: Terms and Conditions for Self-Financing Participants
Gavi Welcomes Malaysia After Signing COVAX Vaccine Plan
THairath Online
|