คนเมืองอยากปลูกผัก สร้างแหล่งอาหารดีในบ้านยังไงให้รอด?

หลังจากภาครัฐประกาศมาตรการกักตัวอย่างเต็มรูปแบบไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน พอถึงเวลาต้องออกไปซื้อของที่ซูเปอร์ฯ ทีไร เรามักจะพบว่ามีวัตถุดิบหลายชนิดที่หาซื้อไม่ได้ หรือบางทีก็มีน้อยจนแย่งคนอื่นไม่ทัน ที่น่าตกใจก็คือวัตถุดิบหลายอย่างกลับเป็นพืชผักใกล้ตัว ซึ่งหากเป็นช่วงเวลาปกติคงมีเยอะจนเลือกแทบไม่ถูก

แม้มาตรการกักตัวจะเริ่มคลี่คลายลงไปบ้าง แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาก็น่าจะเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของเรา เหล่าคนเมืองที่อยู่ห่างไกลแหล่งอาหาร ให้หันมาตระหนักถึงความสำคัญของผลผลิตต่างๆ มากขึ้น

แน่นอนว่าวิธีการเข้าถึงแหล่งอาหารแบบถึงต้นตอมากที่สุด ก็คือการมีแหล่งอาหารของตัวเอง อย่างการปลูกผักสวนครัวง่ายๆ ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่เรามักได้ยินอยู่เสมอ แต่พอเป็นคนเมือง มีพื้นที่ในบ้านน้อย ทำงานกันทั้งวัน อยากทดลองปลูกผักกับเขาบ้างก็ไม่เห็นโตอย่างใจนึก สุดท้ายก็ต้องกลับไปพึ่งซูเปอร์มาเก็ตใกล้บ้านอีกอยู่ดีทั้งที่ความจริงอาจมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เราไม่เคยรู้หรือเผลอมองข้ามไป 

คราวนี้เราเลยอยากชวนทุกคนมาเริ่มต้นกันใหม่อีกสักตั้ง แล้วไม่ว่าจะมีมือสีเขียว หรือมือแบบไหน ยังไงก็ปลูกผักจนได้กินสมใจแน่นอน

 มีซูเปอร์ฯ ใกล้บ้านอยู่แล้ว ทำไมต้องปลูกผักกินเอง?

“ไม่ว่าจะเป็นฝนแล้ง น้ำท่วม หรือไวรัส เราพบว่าทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเรื่องอาหารทั้งหมด โดยเฉพาะคนเมือง มันเห็นชัดเลยว่าเรามีปัญหามากแค่ไหนในยามวิกฤต” ปุ้ย-วรางคนางค์ นิ้มหัตถา หัวหน้าโครงการสวนผักคนเมือง เล่าให้เราฟังถึงปัญหาด้านอาหารการกินที่คนเมืองต้องเผชิญ 

ออกจากบ้านตามใจไม่ได้ ไปในที่ที่คนเยอะก็มีความเสี่ยง พอไปถึงซูเปอร์ฯ วัตถุดิบหลายอย่างก็ดันขาดตลาด ต้องซื้อกันในราคาสูงเกินจำเป็น ทั้งหมดนี้คือปัญหาที่คนเมืองต้องเจอซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ดังนั้นการมีพื้นที่ปลูกผักประจำบ้านจึงเป็นทางลัดง่ายๆ ในการเข้าถึงวัตถุดิบที่เราต้องใช้กันบ่อยๆ แค่ปลูกพริก หอม กะเพราอย่างละต้น วันไหนหิวก็สามารถไปเด็ดใบสดๆ ปรุงอาหารกับของในตู้เย็นกินได้ทันที ลดความเสี่ยงในการออกจากบ้าน แถมยังประหยัดค่าใช้จ่ายได้ด้วย 

ชีวิตมันวุ่นวาย ปลูกอะไรถึงจะง่ายเหมาะกับคนเมือง?

หากใจพร้อม กายพร้อมเริ่มอยากลองลงมือกันบ้างแล้ว แต่ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเลือกหยิบพืชผักชนิดไหนมาปลูกดี ปุ้ยก็ชวนเราตั้งคำถามกับตัวเองง่ายๆ 3 ข้อ เพื่อจะได้เจอผักที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเรา (ซึ่งจะทำให้เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จพุ่งสูงขึ้นอีกนิด)

อย่างแรกต้องถามตัวเองก่อนว่าเราและคนในครอบครัวชอบกินอะไร สิ่งนี้สำคัญมาก เพราะถ้าปลูกแต่ไม่มีคนกินมันก็เสียเปล่า สิ่งที่ตามมาคือเรามีวิถีชีวิตแบบไหน ถ้าไม่ค่อยได้อยู่บ้านก็ปลูกอะไรง่ายๆ เช่น ถั่วงอก ต้นอ่อน ที่ไม่ต้องดูแลเยอะ หรืออยู่คอนโดฯ ไม่ค่อยมีแดด ลองปลูกเห็ด หรือใบชะพลูมั้ย

"คำถามที่ต่อมา คือ เรามีทักษะมากน้อยแค่ไหน มันจะทำให้เราได้วิเคราะห์ตัวเองว่า ถ้าเราอยากปลูกผักจริงๆ เราต้องรู้อะไรเพิ่มบ้าง ต้องทำความเข้าใจตรงไหน ถ้าตอบคำถามเหล่านี้ได้หมด การปลูกผักจะง่ายมาก” ปุ้ยอธิบาย

เมื่อตอบคำถามครบแล้ว อาจลองเริ่มจากการปักชำง่ายๆ โดยใช้รากและหัวของพืชผักที่เหลือจากการทำครัวมาปลูกต่อ วิธีการนี้จะทำให้เราได้ปลูกผักที่กินเป็นประจำจริงๆ โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อเมล็ด แต่ถ้าอยากอัพเลเวลขึ้นมาหน่อย ก็สามารถลองหาเมล็ดผักโตง่าย เช่น ผักบุ้ง พริก ผักชี คะน้าไชยา หรือผักสลัดมาลองเพาะต้นอ่อนเอง พืชผักเหล่านี้ใช้เวลาไม่เกิน 1 อาทิตย์ ก็จะมีต้นน้อยๆ เติบโตมาให้เรามีกำลังใจแล้วล่ะ

หลังจากนี้ถ้าเริ่มรู้สึกว่าการปลูกผักในบ้านหรือริมระเบียงคอนโดฯ ตัวเองยังไม่สะใจ เรายังสามารถชักชวนเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมคอนโดฯ ใช้พื้นที่ส่วนกลาง ปลูกผักไว้กินด้วยกันก็ได้ คราวนี้แหล่งอาหารของเราก็จะขยายใหญ่รองรับผู้คนได้อีกเป็นสิบๆ ชีวิตเลย

 

 

ปลูกผักไม่เคยได้กิน ทำยังไงดี?

เมื่อปลูกผักไปได้สักพัก หลายๆ คนอาจเกิดคำถามยอดฮิตคือ ปลูกเท่าไหร่ก็ไม่โตซะที ขนาดเฝ้ารดน้ำทุกวันแล้ว ยังไม่เห็นแววว่าจะมีอะไรโผล่ขึ้นมา พอโตได้หน่อยลำต้นก็ดูแคระแกน ซีดเหลือง เหมือนจะกินไม่ได้ซะงั้น หรือเพราะเราไม่มีมือสีเขียวแบบคนอื่นๆ กันล่ะเนี่ย!

ใจเย็นๆ แล้วทดลองทำสิ่งเหล่านี้ดูก่อน เพราะปัจจัยพวกนี้จะช่วยเป็นไกด์ให้ผักเติบโตได้ดีขึ้น

  • ปลูกผักในที่ที่แดดเช้าส่องถึงอย่างน้อยครึ่งวัน
  • รดน้ำอย่างสม่ำเสมอวันละ 1-2 ครั้ง
  • หาพื้นที่พอระบายน้ำไม่ให้รากเน่า หรือรองก้นกระถางด้วยกาบมะพร้าวสับให้ช่วยอุ้มน้ำแทน
  • สังเกตอาการบ่อยๆ เช่น ต้นเอียง นานแล้วไม่โต ต้นซีด ถ้ามีอาการเหล่านี้ลองหาที่วางใหม่ให้รับแสงมากขึ้น หรือดินอาจจะยังไม่ดีพอ
  • ถ้าทำแล้วพบว่าไม่ได้จริงๆ เพราะอยู่ในที่แสงน้อย ลองเปลี่ยนมาปลูกเห็ดในกล่อง หรือปลูกต้นอ่อน ถั่วงอก ที่ไม่ต้องการการดูแลมากนักแทน

“ถ้าไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน แล้วอยู่ๆ มาปลูกเลย อาจจะพบว่าการทำให้ผักโตมันยากจริงๆ แต่คนที่ศึกษามาจะรู้ว่ามันมีปัจจัยเยอะมาก ทั้งเรื่องลมฟ้าอากาศ เรื่องดิน อย่างดินที่เราซื้อจากตลาดมันเป็นดินสำหรับไม้ดอกไม้ประดับ ไม่ใช่ใส่ไปแล้วผักจะโตเลย มันต้องหมักให้มีสารอาหารอย่างน้อย 15 วัน ฟังดูนาน แต่ก็เหมือนเราหว่านพืชหวังผลแหละ เพราะถ้าดินพร้อมอะไรๆ ก็โตได้”

 

ดังนั้นถ้ายังไม่ได้ปรุงดิน ก็ลองมาผสมดินง่ายๆ ตามขั้นตอนเหล่านี้กันก่อน

  • ผสมดินเดิม กับกาบมะพร้าว แกลบ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ขี้เถ้าแกลบ อย่างละหนึ่งส่วน คลุกให้เข้ากัน (ถ้ามีไม่ครบ ใส่เท่าที่หาได้ก็ได้นะ)
  • รดน้ำให้ชุ่ม พอให้ดินจับตัว
  • ทิ้งไว้ประมาณ 20-30 วัน
  • หรือผสมดินกับกากอาหาร จุลินทรีย์ เศษใบไม้และน้ำตาล สัดส่วนตามชอบ แล้วหมักในถุงเล็กๆ ที่มีรูระบายอากาศอย่างน้อย 15 วัน 

 

ปลูกผักโตแล้ว ต้องดูแลแบบไหนให้มีกินไปตลอด?

หากใครทำสำเร็จจนพืชผักโตพร้อมกินได้ดั่งใจ ก็อย่าเพิ่งรีบถอนรากถอนโคนไปทำอาหารจนต้องมาเริ่มต้นปลูกกันใหม่นะ ผักกินใบหลายชนิด เช่น ผักหวาน ผักบุ้ง กะเพรา สามารถเด็ดแต่ใบไปกินได้โดยไม่ต้องตัดต้น ผักสลัดก็ตัดเฉพาะใบด้านนอกออกไปกินก่อน แล้วปล่อยให้ต้นเติบโตต่อไปได้ หรือจะเพิ่มความมั่นใจ ด้วยการปลูกผักหลายกระถาง แล้ววนกินไปเรื่อยๆ ก็ได้เหมือนกัน

แต่ถ้าใครไม่สะดวกจะทำแบบนั้น อีกหนึ่งวิธีที่เราอยากแนะนำก็คือการผูกมิตรกับเกษตรกรผู้ปลูกปลอดภัยเอาไว้ เราจะได้มีตัวเลือกในการกินอาหารดีๆ มากขึ้นในยามขาดแคลน หรือในกรณีที่เราไม่สามารถปลูกพืชผักเหล่านั้นเองได้ 

“การเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สำคัญมากๆ ที่เราจะต้องพัฒนาไปด้วยกัน เพราะเมืองไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ยังไงเราก็ต้องพึ่งพาชานเมืองและชนบท แต่เราจะอยากรู้จักเกษตรกรเฉพาะเวลาวิกฤตเหรอ หรือเราจะเป็นเพื่อนกับเขาได้ทุกเวลา” ปุ้ยสรุปปิดท้าย

หรือถ้ารู้สึกว่านั่นยังยากเกินไปนิด ก็ลองพาตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มตลาดสีเขียว เช่น เครือข่ายสวนผักคนเมือง หรือกลุ่ม Greenery Eat Good ซึ่งมีผู้คนที่สนใจเรื่องเหล่านี้เหมือนกันคอยเป็นแรงบันดาลใจและช่วยเชื่อมโยงเราเข้าหาเกษตรกรแทนก็ได้เหมือนกันนะ

ข้อมูลจาก : Greenery

Visitors: 1,430,152