ไขปม PM 2.5 พุ่งสีแดง กทม. มหานครฝุ่นพิษ แม้ Work from Home

ไขปม PM 2.5 พุ่งสีแดง กทม. "มหานครฝุ่นพิษ" แม้ Work from Home
 
- ปี 2567 จะเป็น "จุดเปลี่ยนอนาคต" วิกฤติ PM 2.5 ฝุ่นพิษที่ปกคลุมกรุงเทพฯ ทุกหน้าหนาว
 
- กรุงเทพฯ หนีไม่พ้น PM 2.5 รับชะตากรรม "มหานครฝุ่นพิษ" รับผลกระทบหนักที่สุด
 
- กรมควบคุมมลพิษชูนโยบายแก้วิกฤติ PM 2.5 เน้น "ไม่ห้าม ไม่หยุด" ลุยจัดระเบียบไม่ให้กระทบประชาชน
 
 
ทุกๆ ปี เราเผชิญกับวิกฤติ PM 2.5 เหมือนกับเป็นฤดูกาลปกติไปเสียแล้ว ท้องฟ้ายามเช้าที่ปลอดโปร่งกลับถูกปกคลุมไปด้วย "ฝุ่นพิษ" ที่ย้อมภาพเบื้องหน้าเป็นโทนสีเหลืองไปจนถึงสีส้ม มองเผินๆ คล้ายกับฉากในหนังฮอลลีวูดที่มักจะสะท้อนภาพความเป็นไปของประเทศเอเชียไม่มีผิด
 
ปี 2564 เองก็เช่นกัน หลายพื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานหลายแห่ง มีตั้งแต่ระดับสีเหลือง สีส้ม สีแดง ไปจนถึงสีม่วง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แม้ตามถนนหนทางจะมีการจราจรบางตาลงมากจากช่วงเวลาปกติ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่
ทำให้ต้องปิดโรงเรียน หลายๆ คนต้องเรียนออนไลน์ และทำงานจากบ้าน (Work from Home) แต่ท้องฟ้ายามเช้ากลับถูก "ฝุ่นพิษ" ย้อมจนกลายเป็นสีเหลือง
 
ต้องยอมรับว่า PM 2.5 รอบนี้หนักหนาจริงๆ อาการระคายเคืองตาเป็นติดต่อกันหลายวัน รอบๆ ตัวก็มีบางคนที่มีอาการผื่นตามผิวหนัง
 
จากภาพที่ปรากฏ หลายเสียงต่างก็เห็นไปทางเดียวกันว่า ปี 2564 วิกฤติ PM 2.5 เหมือนจะหนักกว่าปีที่ผ่านๆ มาเสียอีก โดยช่วงวันเสาร์ที่ 23 มกราคม 2564 เวลา 17.00 น. กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีระดับ "สีแดง" มากถึง 22 พื้นที่ และอยู่ระดับสีส้มอีกหลายพื้นที่ ตรวจวัดค่าได้ 61-117 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และพื้นที่ที่สูงที่สุด คือ ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา ซึ่งตามมาตรฐานแล้วต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
 
 
 
:: หากถามว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิด PM 2.5 ในไทยเวลานี้มาจากอะไร?
 
หลายๆ ท่านพอจะทราบอยู่บ้างแล้วว่ามีหลายอย่างผสมกันไป ทั้งจากภายนอกอาคารและภายในอาคาร ทำอาหารกินในบ้านนี่ก็สร้าง PM 2.5 เหมือนกัน ถ้าในเมือง... แน่นอนว่า การจราจรเป็นปัจจัยหลัก โดยเฉพาะจากเครื่องยนต์ดีเซล อย่างกรุงเทพฯ ก็เช่นกัน การจราจรเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด PM 2.5 แต่อีกอย่างที่มีผลกระทบไม่แพ้กัน คือ สภาวะอากาศและทิศทางลมที่ทำให้ PM 2.5 เคลื่อนตัวมาจากปริมณฑลและภาคเหนือ
 
แล้วในเมื่อช่วงเวลานี้ การจราจรบางตา หลายๆ คน Work from Home และเรียนออนไลน์ เหตุไฉน PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ถึงยังสูงทะลุ "สีแดง" อยู่อีกหรือ?
 
 
:: กรุงเทพฯ หนีไม่พ้นชะตากรรม "มหานครฝุ่นพิษ"
 
อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อธิบายภาพกับผู้เขียนถึงสถานการณ์ PM 2.5 ในไทยเวลานี้ได้อย่างน่าสนใจ ฉะนั้น จึงขอหยิบยกบางช่วงบางตอนมาบอกเล่าแก่คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ทุกท่าน
 
"ทำไมวันนี้ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ถึงเยอะขนาดนี้?"
 
คำตอบคือ ที่วันนี้กรุงเทพฯ มี PM 2.5 เยอะมาก ก็เพราะว่าเกิดจากการสะสม หมายความว่า PM 2.5 ในวันนี้ เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของหลายสัปดาห์ก่อนหน้านั่นเอง
 
อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) | Photo: กรมควบคุมมลพิษ
"ง่ายๆ ว่า มันรวมกันจนเยอะและกดลงมาต่ำกว่า 200 เมตร สะสมมาหลายสัปดาห์ พอมาวันนี้ก็เลยเยอะมาก ไม่ใช่ว่า PM 2.5 เกิดวันต่อวันอย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นเพราะมันรวมกันมานาน สะสมจนพอกพูน แล้วก็เป็นผลในวันนี้ ต่อให้วันนี้เราห้ามคนออกจากบ้านไปไหน...ก็ไม่มีผลอะไร"
 
และหากจะบอกว่า Work from Home ไม่ช่วยอะไรเลยนั้น ก็ไม่ใช่... อธิบดีฯ ยืนยันว่า ช่วยได้ บรรเทา PM 2.5 ได้บ้าง แต่ถ้าจะไปห้ามคนไม่ให้ใช้รถเลย ยังไงก็ทำไม่ได้ เวลานี้จึงต้องมุ่งไปที่การบังคับการจับควันดำ
 
สำหรับกรุงเทพฯ แล้ว ปัจจัยที่ทำให้ PM 2.5 สูง ไม่ได้มีเพียงแค่นี้ มันยังมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น และบอกได้เลยว่า กรุงเทพฯ คือ พื้นที่ที่หนักที่สุดในไทย!!
 
เพราะกรุงเทพฯ ก็เหมือน "ศูนย์กลาง" ของ PM 2.5 ที่รับเอามาจากทุกทิศทุกทาง รวมถึงมีการเผาในพื้นที่โล่งด้วย และนอกจากจะรับจากพื้นที่ในประเทศแล้ว ยังรับ "มลพิษข้ามแดน" จาก "เพื่อนบ้าน" มาอีกเช่นกัน
 
จากปัญหาทั้งหมดของกรุงเทพฯ ผู้เขียนก็เกิดคำถามว่า "แล้วปัญหาอะไรที่แก้ยากที่สุดในวิกฤติ PM 2.5 นี้?" และคำตอบที่ได้ก็คือ "เพื่อนบ้าน..."
 
คุณผู้อ่านลองมองเส้นสีขาวๆ ในภาพด้านล่างนี้ ซึ่งเป็นทิศทางลม ก็จะเข้าใจมากขึ้นว่า กรุงเทพฯ รับ PM 2.5 หรือมลพิษต่างๆ มาจากไหนกันบ้าง...
 
"มลพิษข้ามแดน" นี้ เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้แก้ได้ยาก คือ "ความสัมพันธ์"
 
 
:: วิกฤติ PM 2.5 อย่าใจร้อน กำลังแก้อยู่...
 
ในวันที่ผู้เขียนมีโอกาสสนทนากับอธิบดีฯ ก็ถือเป็นจังหวะพอดิบพอดีที่เพิ่งกลับจากการลงพื้นที่ จ.ลำปาง ซึ่งก็ได้บอกเล่าให้ได้ฟังว่า พบ Hotspot สูงขึ้น แต่ยังมีค่า PM 2.5 น้อย ซึ่งตอนนี้เองก็มีความพยายาม 2 ส่วน คือ 1.เชื้อเพลิง ลดการเผาต่างๆ และ 2.การจัดระเบียบการเผา
 
"ปีก่อนๆ เราห้ามเผา ห้ามเด็ดขาด แต่ครั้งนี้เราปรับวิธีการใหม่ หากใครอยากเผา ขอให้เข้ามาแจ้งก่อน แจ้งกับ อบต. หรือผู้ใหญ่บ้านก็ได้ มาบอกว่าจะเผานะ เผาวันไหน เวลาใด เพราะที่เราจะได้ดูว่าวันนี้ค่า PM 2.5 สูงหรือไม่ เผาได้ไหม เหมาะสมหรือไม่เวลานั้น เพราะเราเข้าใจดีว่า ทำไมพวกเขาต้องเผา ทุกอย่างมีต้นทุน หากเราจะให้เขาหยุดแล้วไปใช้วิธีอื่นแทน"
 
อธิบดีฯ ย้ำหลายครั้งว่า นโยบายเกี่ยวกับ PM 2.5 ในเวลานี้ ไม่มีการ "ห้าม" เพราะไม่อยากให้กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่อยากให้ทุกคนเดือดร้อน และจะกระทบต่อเศรษฐกิจด้วย อธิบายง่ายๆ ว่า การเผาไร่ของประชาชน ในครั้งนี้จะไม่มีการห้าม แต่จะเป็นการขอให้งด โดยจะมีการทำเป็นระบบ มีการวางแผนการเผา ให้เผาได้ แต่การเผาให้เป็นไปตามช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น อากาศปิดขอให้งด อากาศเปิดค่อยเผาได้
 
ไม่เพียงเท่านั้น ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็มีการควบคุมการก่อสร้าง ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิต PM 2.5 ซึ่งก็ไม่ได้ห้ามเช่นกัน แต่การทำก่อสร้าง ช่วงไหนที่ PM 2.5 เยอะมากๆ ก็จะมีการขอให้งดก่อน ขณะที่การประกอบอุปกรณ์อื่นๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดฝุ่นในภาคก่อสร้าง ก็สามารถทำได้ปกติ
 
นอกจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ก็มีการวางการป้องกันในอนาคต ทั้งการปฏิรูปการใช้ที่ดิน คือ เน้นให้มีการทำเกษตรแบบผสมผสานมากขึ้น
 
โดยปี 2567 จะเห็นแผนการดำเนินงานวิกฤติ PM 2.5 เป็นรูปธรรมมากขึ้น ตอนนี้การปรับให้รถยนต์เป็นมาตรฐาน EURO 5-6 ผ่านการพิจารณาแล้ว แน่นอนว่าจะช่วยลด PM 2.5 ได้มากทีเดียว ประมาณเกือบ 90% รวมถึงการผลักดันให้เกิดรถยนต์ไฟฟ้า หรือ "อีวี" (EV) ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนในอนาคต
 
"อย่าลืมว่า การปรับเปลี่ยนมาตรฐาน EURO ไปบังคับหักดิบไม่ได้ ต้องเคลียร์รถเก่าอายุ 7-10 ปีขึ้นไปก่อน ตอนนี้มีการหารือกันแล้ว แต่ปี 2567 เป็นจุดเปลี่ยนแน่นอน โดยเฉพาะอนาคตของขนส่งสาธารณะ รถไฟฟ้า"
 
หากไปเช็กคอมเมนต์ตามโซเชียลมีเดีย แน่นอนว่า บ่นกันขรมว่า ภาครัฐแก้ PM 2.5 ช้าเสียเหลือเกิน ซึ่งอธิบดีฯ ก็ขอว่า "อย่าใจร้อน" ตอนนี้ภาพที่เกิด คือ ผลกระทบจากการเผาลดลงมากเกือบ 80% ทีเดียว อย่างหีบอ้อยก็มีการเผาลดลงอยู่ที่ 20% เท่านั้น ซึ่งก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์มากๆ ลงไปทำความเข้าใจ เพราะยังมีประชาชนในพื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่ทราบ
 
"ไม่ห้าม ไม่หยุด เพราะเราไม่อยากให้กระทบกับการดำรงชีพของประชาชน เพราะแค่โควิด-19 ก็ใช้ชีวิตลำบากมากอยู่แล้ว ถ้าให้เขาลำบากอีกจะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ จะออกมาตรการอะไร เราก็คิดว่า เขาต้องรับได้ด้วย สิ่งสำคัญ คือ เราต้องป้องกันตัวเอง ช่วยกันลดการใช้รถ อาจไม่ถึงกับหยุดใช้ แต่งด เพราะทุกคนมีส่วนทำให้เกิด PM 2.5 ไม่มากก็น้อย หากร่วมมือกันทั้งภาครัฐและประชาชน ก็จะทำให้ PM 2.5 เบาบางลง"
 
เห็นด้วยกับนโยบาย "ไม่ห้าม" ของอธิบดีฯ เพราะนอกจากจะกระทบประชาชนที่ลำบากแล้ว ยังกระทบเศรษฐกิจด้วย แต่ก็ขอให้การจัดระเบียบอย่างที่ท่านว่าเป็นไปอย่างราบรื่น...
 
ทิ้งท้ายการสนทนาและคำบอกเล่าครั้งนี้ PM 2.5 จะหมดช่วงไหน?
 
คำตอบคือ หมดหน้าหนาวเมื่อไรก็เมื่อนั้น หรือประมาณกุมภาพันธ์ โดยอธิบดีฯ หยิบยกข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยามาบอกด้วยว่า จากการประเมิน ในช่วงหน้าหนาว กรุงเทพฯ จะมีจุดพีค PM 2.5 ประมาณ 6 ครั้ง! ฉะนั้น อย่าลืมใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกไปไหนมาไหน.
 
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Supassara Traiyansuwan
Thairath Online
Visitors: 1,430,176