มิลเลนเนียล มีแนวโน้มที่จะป่วยและตายเร็วกว่าคนรุ่นก่อน

มิลเลนเนียล มีแนวโน้มที่จะป่วยและตายเร็วกว่าคนรุ่นก่อน
 
รายงานจาก Blue Cross Blue Shield บริษัทประกันที่อเมริกา พบว่ามิลเลนเนียล (คนที่เกิดในปี 2524-2539 ปีนี้อายุ 25-40 ปี) มีแนวโน้มที่จะป่วยและเสียชีวิตเร็วกว่าคนรุ่นก่อนครับ
 
โดยหากเทียบกับคน Gen X (คนที่เกิดปี 2508-2523) ในช่วงอายุเดียวกัน มิลเลนเนียลมีอัตราการเสียชีวิตสูงมากกว่าถึง 40 เท่าเลยทีเดียว
 
 
 ปัจจัยหลักของอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่านี้ ➜ มาจากพฤติกรรมด้านสุขภาพ ➜ ซึ่งหลักๆ มาจากปัญหาด้านสุขภาพจิต ➜ ส่วนปัญหาด้านสุขภาพจิตหลัก ๆ ก็มาจากปัญหาด้านการเงินอีกที
 
โดยมิลเลนเนียลเป็นเจนเนอเรชั่นที่มี Affordability Crisis ค่อนข้างสูง กล่าวคือไม่สามารถที่จะตั้งตัว จับจ่าย ซื้อหา หรือถือครองทรัพย์สินได้ง่ายเหมือนคนรุ่นก่อน ทำให้เกิดความเครียดและความกดดันทางการเงินสูง
 
 
 ทีนี้พอสุขภาพจิตย่ำแย่ สุขภาพทางกายก็พลอยแย่ไปด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่ผลกระทบโดยตรง เช่น ปวดหัว เครียด ไมเกรน เป็นโรคซึมเศร้า ฯลฯ อย่างเดียวเท่านั้น
 
แต่ยังรวมไปถึงสุขภาพทางอ้อมด้วย เช่น เครียดแล้วนอนไม่หลับ กลายเป็นพักผ่อนน้อย ภูมิคุ้มกันตก เครียดแล้วกินเยอะ คอเลสเตอรอลขึ้น ไขมันในเลือดสูง หรือบางคนทานน้อยไป สารอาหารไม่เพียงพอ บางคนก็หันไปพึ่งสารเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์ บางคนก็ซึมเศร้ารุนแรงจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย
 
 
 
แม้ว่ายุคนี้ สังคมจะตระหนักถึงเรื่องปัญหาสุขภาพจิตกันมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะไปพบจิตแพทย์หรือได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมครับ เพราะการรักษามีต้นทุนค่าใช่จ่าย ซึ่งมิลเลนเนียลหลายคนก็เครียดเรื่องการเงินที่มีจำกัดอยู่แล้ว เลยปล่อยให้ปัญหาอีรุงตุงนังต่อไป
 
 
ฟังดูเป็นเรื่องน่ากังวลใช่ไหมครับ แต่มิลเลนเนียลบางคนกลับมอง (อาจจะติดตลก) ว่าเป็นเรื่องดี
 
นั่นเป็นเพราะหลายคนมี Passive Suicidal Ideation ครับ กล่าวคือ ไม่ได้อยากฆ่าตัวตาย แต่มีความคิดว่าหากจู่ ๆ สามารถตายได้แบบกดสวิทช์ไฟ หรือจู่ ๆ ก็หายตัวไปจากโลกนี้ หรือจู่ ๆ โลกก็แตก แบบนี้ก็โอเคนะ
 
 
สำหรับแนวทางแก้ปัญหานั้น
 
1 มิลเลนเนียลควรสำรวจสุขภาพจิตของตัวเองมากขึ้น อาจจะดูแลสุขภาพจิตของเพื่อน ๆ ในรุ่นเดียวกันด้วย ส่วนสมาชิกครอบครัวต่างเจนเนเรชั่นก็ควรเปิดใจรับฟังกันมากขึ้นครับ
 
2 บริษัทอาจจะขยายสิทธิประกันให้ครอบคลุมการเข้าพบจิตแพทย์ ซึ่งปัจจุบันหลาย ๆ บริษัทก็ให้สวัสดิการนี้ ด้วยมองว่าถ้าลูกจ้างมีสุขภาพจิตดี งานก็ดีไปด้วย
 
3 ส่วนภาครัฐ อาจจะทำให้การเข้าถึงจิตแพทย์เป็นเรื่องง่ายและมีต้นทุนถูกลง เพราะหากปล่อยให้ประชากรวัยทำงานอย่างมิลเลนเนียลมีปัญหา ประเทศก็อาจจะมีผลกระทบได้เช่นกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
 
ทั้งนี้ หากเพื่อน ๆ ผู้อ่านมีแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือมุมมองอื่น ๆ อย่าลืมมาแบ่งปันกันนะครับ
 
 
*ปล. งานวิจัยและตัวเลขข้างต้น มาจากการสำรวจมิลเลนเนียลในอเมริกา อาจจะมีบางบริบทและปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยรวมแล้ว มิลเลนเนียลทั่วโลกมีลักษณะไปในทิศทางเดียวกันครับ
 
  
Image: Pexels
 
ขอบคุณที่มา : The Columnist 
ติดตาม ข้อมูลข่าวสาร และแนวคิดใหม่ ๆ นะครับ - https://bit.ly/36abvy9
Visitors: 1,429,841