ฉลามกว่า 5 แสนตัวอาจต้องอุทิศชีวิตและ “น้ำมันตับ” เพื่อผลิตวัคซีนโควิด-19

ฉลามกว่า 5 แสนตัวอาจต้องอุทิศชีวิตและ “น้ำมันตับ” เพื่อผลิตวัคซีนโควิด-19

หลังอยู่กับเชื้อไวรัสโควิด-19 มาเกินครึ่งปี แนวโน้มผู้ป่วยก็ยังคงขึ้นๆ ลงๆ และเริ่มมีตัวเลขผู้ป่วยใหม่ดีดขึ้นอีกครั้งในแถบยุโรป ความหวังในการเอาชนะโรคระบาดก็ยังคงอยู่ที่การผลิตวัคซีน และแน่นอนห้องแล็บทั่วโลกก็กำลังแข่งขันกันเพื่อค้นคว้าวัคซีนให้สำเร็จเป็นเจ้าแรก แต่ท่ามกลางการแข่งขันกลุ่มอนุรักษ์ Shark Allies ระบุว่าอาจต้องมีฉลามกว่า 5 แสนตัวต้องตายเพื่อผลิตวัคซีนโควิด-19

วัคซีนโควิด-19 ไปเกี่ยวข้องอะไรกับฉลาม?

ในการผลิตวัคซีนหลายตัวต้องใช้สาร “สควอลีน” (Squalene) ซึ่งได้จากน้ำมันตับปลาฉลามเป็นส่วนประกอบในการผลิตเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกัน และจะใช้ปริมาณวัคซีนลดลง นอกจากนี้ สควอลีนยังถูกใช้ในสินค้าเครื่องสำอางและครีมกันแดดบางชนิด แต่การจะได้สารสควอลีนมาเพียง 1 ตัน ต้องใช้ฉลามถึง 3 พันตัว

และข่าวร้ายสำหรับฉลามก็เกิดขึ้น เมื่อบริษัท GlaxoSmithKine (GSK) เวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่จากอังกฤษ ซึ่งใช้สควอลีนผลิตสารเสริมฤทธิ์ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ประกาศว่า จะผลิตสารเสริมฤทธิ์ดังกล่าว 1 พันล้านโดส เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนโควิด-19

และถ้าหากเราคำนวณว่าประชากรโลกทุกคนจะได้รับวัคซีนคนละ 1 โดส เท่ากับว่าจะมีฉลามตายราว 250,000 ตัว แต่นักวิจัยเชื่อว่าการสร้างภูมิคุ้มกันจะต้องใช้วัคซีน 2 โดส เท่ากับว่าอาจมีฉลามถูกฆ่า 5 แสนตัวเพื่อให้คนทั่วโลกได้รับการป้องกันจากโรคระบาด

Shark Allies ยังมีความกังวลว่าการฆ่าฉลามในปริมาณมหาศาลอย่างนั้นจะเป็นการทำลายระบบนิเวศทางทะเลอย่างหนัก เนื่องจากปัจจุบันในแต่ละปีฉลามก็ถูกฆ่าเพื่อนำไปผลิตวัคซีน ยา และเครื่องสำอางอยู่แล้ว ปีละ 3 ล้านตัว ความต้องการวัคซีนโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นอาจคุกคามจำนวนประชากรฉลามอย่างร้ายแรง

ทางกลุ่มอนุรักษ์จึงมีการเรียกร้องให้อุตสาหกรรมยาหาทางเลือกอื่นๆ ในการผลิตสารเสริมฤทธิ์จากสควอลีน ที่ไม่ใช่สัตว์ และยั่งยืนกว่าในการทดลองยาและผลิตภัณฑ์ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการทดลองหาทางเลือกอื่นแทนสควอลีนจากการสังเคราะห์พืช เช่น อ้อยหมัก เป็นต้น

ข้อมูลจาก: BrandThink
Visitors: 1,430,169