ทฤษฎี 4 ช้อน ทอง-เงิน-ทองแดง-ดิน ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในเกาหลีใต้ ที่คนไทยมองข้าม
ทฤษฎี 4 ช้อน ทอง-เงิน-ทองแดง-ดิน ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในเกาหลีใต้ ที่คนไทยมองข้าม
“คาบช้อนเงิน ช้อนทองมาเกิด” เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินวลีนี้ ที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่ร่ำรวยมีอันจะกิน กับชีวิตที่แสนสุขสบายจากมรดกที่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย สะสมเอามาไว้ให้แต่เก่าก่อน จนหลายคนอิจฉาในความมั่งคั่งที่ไม่ต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำให้ลำบากกายลำบากใจ
แน่นอนว่าทุกประเทศมีทั้งคนรวยมาก และจนมาก ความเท่าเทียมทางรายได้ "ไม่มีอยู่จริง" บนโลกใบนี้ แม้แต่ในสังคมที่ถูกปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ที่มักอ้างถึงหลักความเท่าเทียมกันของทุกชนชั้น แต่กลุ่มผู้นำกลับกินดีอยู่ดี มีอิสระมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
แม้แต่ในเกาหลีใต้ หนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันที่คนไทยต่างชื่นชอบในเรื่องของนวัตกรรมสินค้าไฮเทค ซีรี่ย์สุดฮิต ศิลปิน K-POP อันเลื่องชื่อโด่งดัง ก็มีการเปรียบเปรยกลุ่มชนชั้นต่างๆ ในสังคมไม่ต่างกับช้อนแต่ละประเภทที่คาบมาเกิดเช่นกัน
"ทฤษฎีช้อน (Spoon class theory)" เปรียบเสมือนกับการนำช้อนที่ทำจากวัสดุ 4 ชนิด มาเปรียบเทียบการมีอยู่ของชนชั้นในสังคมเกาหลีใต้ โดยใช้ตัวแปรด้านรายได้และโอกาสในชีวิตมาเป็นเกณฑ์ เพื่อให้เห็นว่าสังคมเกาหลีใต้ที่ดูศิวิไลซ์ได้แอบซ้อนการแบ่งแยกทางชนชั้นในสังคมไว้อย่างแยบยล จนคนภายนอกดูไม่ออกเลยทีเดียว
ทฤษฎีช้อน ถูกนำมาใช้ครั้งแรกตั้งแต่ในสมัยโซซอน (ค.ศ. 1392-1910) ซึ่งมาจากความเชื่อของชาวเกาหลีในช่วงเวลานั้นที่เชื่อว่า คนแต่ละคนต่างก็มีบุญวาสนาแตกต่างกัน และในตอนที่เกิดมาทุกคนต่างก็มีช้อนติดตัวมาด้วย
สังคมของเกาหลีใต้มีชนชั้นทางสังคมอยู่ทั้งหมด 4 ชนชั้นด้วยกัน โดยแต่ละชนชั้น ก็จะมีสัญลักษณ์เป็นช้อนที่มีลักษณะที่แตกต่างกันไป ซึ่งชนชั้นทั้ง 4 นี้ ประกอบไปด้วยคือ ช้อนทอง ช้อนเงิน ช้อนทองแดง และช้อนดิน
#ชนชั้นช้อนทอง (Gold spoon)
คือกลุ่มคนที่เกิดมาร่ำรวยบนกองเงินกองทอง เหล่าลูกหลานของเศรษฐี หรือมหาเศรษฐีตระกูลต่างๆ ที่ครอบครองอาณาจักรทางธุรกิจมากมายมหาศาล มีรายได้มากกว่า 550 ล้านวอนต่อปี หรือราว 15 ล้านบาทขึ้นไป และมีทรัพย์สินสุทธิรวมกันมากกว่า 5,500 ล้านวอน หรือราว 150 ล้านบาท
ซึ่งคนกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วน 10% ของสังคมเกาหลีใต้ก็จริง แต่จะมีเพียงแค่ 1% เท่านั้นที่เป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างสูงที่สุด เพราะครอบครองอำนาจทางเศรษฐกิจไว้มากถึง 80% (38.2 ล้านล้านบาท) ของ GDP (48 ล้านล้านบาท) ซึ่งถ้าใครรับชมซีรีย์เกาหลีมักจะมีคำพูดที่ตัวละครกล่าวถึงกลุ่ม “แชโบล” อยู่บ่อยๆ
กลุ่มแชโบลก็คือ กลุ่มธุรกิจขนาดยักษ์ใหญ่หัวแถวของเกาหลีใต้ไม่กี่บริษัท เช่น Samsung, SK Group, Hyundai, LG, Lotte และบริษัทอื่นๆ อีกไม่กี่สิบแห่ง โดยตระกูลผู้เป็นเจ้าของธุรกิจในกลุ่มแชโบลเหล่านี้ก็มีธุรกิจย่อยๆ อื่นๆ ในเครืออีกมากมายกว่า 2,280 บริษัท ครอบคลุมทุกๆ สินค้าและบริการในเกาหลีใต้ และยังมีความเกี่ยวดองกันทางสายเลือดและเครือญาติข้ามบริษัทอีกด้วย เช่น ผู้ก่อตั้ง Samsung (อี บย็อง ช็อล) และ Hyundai (ชุง จู ยุง) ก็เป็นพี่น้องกัน และยังมีสายสัมพันธ์กับผู้ก่อตั้ง LG, Lotte Group (ชิน คย็อก โฮ) ในฐานะเครือญาติกันอีกด้วย
ยังไม่รวมรุ่นลูกรุ่นหลานที่ถือหุ้นข้ามบริษัทกันไปมา ซึ่งพูดง่ายๆ คือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในเกาหลีใต้ก็เป็นญาติกันแทบทั้งนั้นนั่นเอง และคนกลุ่มนี้นอกจากจะร่ำรวยแล้ว ยังมีทั้งอำนาจ บารมี บริวาร และสิทธิพิเศษต่างๆ ในสังคมที่ใครๆ ก็ต่างอิจฉา
#ชนชั้นช้อนเงิน (Silver spoon)
คือกลุ่มชนชั้นที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองและมีความเป็นอยู่สะดวกสบาย หรือคนไทยเรียกติดปากว่า "ชนชั้นกลาง" ได้แก่ พ่อค้าแม่ค้า พนักงานบริษัท ข้าราชการ รวมไปถึงผู้ที่มีการศึกษา กลุ่มคนเหล่านี้ จะมีรายได้ตั้งแต่ 80 ล้านวอน หรือราว 2.1 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป และมีทรัพย์สินสุทธิที่ 1,000 ล้านวอน หรือ 27 ล้านบาท
นับเป็นกลุ่มชนชั้นที่ใหญ่ที่สุดในสังคมเกาหลีใต้ราว 70% หรือทุกๆ ประเทศทั่วโลก มีอำนาจการซื้อรวมกันมหาศาล มีสิ่งอำนายความสะดวกสบายตามกำลังที่หามาได้ และเป็นผู้แบกภาระการเสียภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลส่วนใหญ่ของประเทศ แต่กลับไม่ใช่กลุ่มคนที่เสียงดังหรือมีอำนาจในสังคม เพราะก็คือมนุษย์เงินเดือนทั่วไปที่ต้องทำงานเลี้ยงชีพตามปกติ บางคนได้อาศัยอยู่ในแฟลตที่ค่อนข้างดีและกว้างขวางราคาหลายสิบล้านร้อยล้านวอน เห็นวิวเมืองสวยงามหรือวิวแม่น้ำฮันแสนโรแมนติก
แต่บางคนก็อาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ ขนาดเพียง 7 ตารางเมตร ที่ไม่มีระเบียง มีห้องน้ำเล็กๆ แคบๆ ไว้ปลดทุกข์ เดินเพียง 2 – 3 ก้าวก็ถึงเตียงนอนที่ปลายเตียงก็ชนกับประตูห้อง สนนราคาห้องที่ 5 แสนวอน หรือราว 13,000 บาทต่อเดือน โดยมีเงินเดือนเฉลี่ยราว 72,000++ บาทขึ้นไป และค่าครองชีพต่อเดือนราว 37,000 – 45,000 บาท โดยไม่รวมภาษีสังคมและการท่องเที่ยว
#ชนชั้นช้อนทองแดง (Copper spoon)
คือชนชั้นของประชากรที่มีรายได้น้อย มีฐานะค่อนข้างลำบาก และเป็นกลุ่มคนที่หาเช้ากินค่ำหรือมีรายได้เท่ากับเงินรายได้ต่อวันขั้นต่ำเท่านั้น เช่น คนขับรถประจำทาง พนักงานร้านอาหาร หรือ พนักงานร้านสะดวกซื้อที่ทำงานแบบทั้ง Full Time และ Part Time เป็นต้น มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 55 ล้านวอน หรือราว 1.5 ล้านบาทขึ้นไป มีรายได้สุทธิตั้งแต่ 500 ล้านวอน หรือราว 13 ล้านบาท
#ชนชั้นช้อนดิน (Dirt spoon)
คือกลุ่มของชนชั้นแรงงานและกรรมกร ซึ่งถือเป็นชนชั้นล่างสุดในสังคมของเกาหลีใต้ มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 20 ล้านวอน หรือราว 5.5 แสนบาท รวมรายได้สุทธิ 110 ล้านวอน หรือราว 2.5 ล้านบาท
เป็นกลุ่มชนชั้นที่นอกจากรายได้ต่ำแล้วยังไม่ได้รับโอกาสให้ก้าวหน้าในสังคม ซึ่งในภาพยนต์หรือละครแนวเสียดสีสังคมของเกาหลีใต้มักหยิบยกเรื่องราวของกลุ่มคนในชนชั้นนี้มาสร้าง ซึ่งถ้าใครนึกภาพไม่ออกให้ลองนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง “Parasite” หรือชื่อไทยคือ "ชนชั้นปรสิต” ที่สะท้อนภาพชีวิตของกลุ่มคนกลุ่มนี้ในสังคมเกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี
ซึ่งกลุ่มชนชั้นช้อนดินมักไม่ค่อยมีปากมีเสียงอะไรในสังคม เป็นกลุ่มคนชายขอบที่ถูกละเลยใส่ใจ ทำได้เพียงแค่ก้มหน้าก้มตาหาเลี้ยงชีพไปวันๆ เนื่องจากอาจจะเรียนหนังสือมาน้อย เลยไม่มีโอกาสที่จะได้เจริญก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่นั่นเอง
ทั้งนี้ช่องว่างระหว่างชนชั้นในเกาหลีใต้นับวันจะยิ่งห่างออกไปอย่างชัดเจน นับตั้งแต่รัฐบาลของนายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันขึ้นครองตำแหน่ง สะท้อนผ่านผลสำรวจความนิยมในตัวของนายมุนที่ตกต่ำลงอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุ 19 - 29 ปี ที่ลดลงจาก 90% เหลือเพียง 44% ตั้งแต่กลางปี 2017 จากกลุ่มผู้สนับสนุนกลับกลายเป็นกลุ่มคนที่ต่อต้านประธานาธิบดีมุน เพราะตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งปัญหาปากท้อง และอัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น
หนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้ที่อายุ 20 - 30 ปี ต้องประสบภาวะตกงานกันมากเป็นประวัติการ สถิติคนว่างงานพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว คนหนุ่มสาวของเกาหลีใต้ว่างงานเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน การที่จบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังก็ไม่ได้การันตีว่าพวกเขาจะได้งานที่ดีทำ หลายคนต้องทำงานพาร์ทไทม์ไปเรื่อยๆ จนอายุย่างเข้าเลข 3 ก็ยังมี
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ตั้งแต่ประธานาธิบดีมุน แจ อิน เข้ารับตำแหน่ง ความไม่เท่าเทียมและช่องว่างทางสังคมได้เพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่เพิ่มขึ้น คนรายได้สูงมีรายได้มากกว่าคนรายได้น้อยถึง 5.5 เท่า แม้จะมีนโยบายแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม และลดอัตราการว่างาน ซึ่งชูเป็นนโยบายตอนหาเสียงไว้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ
ทั้งนี้เกาหลีใต้มีนโยบายในการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ Start up และ SMEs เพื่อลดการพึ่งพากลุ่มทุนยักษ์ของประเทศที่เป็นเสาหลักค้ำยันเศรษฐกิจ แต่นโยบายนี้ยังคงต้องใช้เวลาอีกและเงินทุนมหาศาลกว่าจะสร้างธุรกิจสักตัวให้ขึ้นมาทัดเทียมกับทุนใหญ่ได้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าช่องว่างระหว่างชนชั้นจะขยายออกไปอีกมากขนาดไหน ที่จะกดดันให้ผู้คนต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด ท่ามกลางประเทศที่มีแรงกดดันในการทำงานและใช้ชีวิต รวมทั้งมีอัตราความเครียดจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ที่มา : Reporter Journey
|