ข้าวไทยที่ทวงคืนแชมป์โลก!

อยากกิน ‘ข้าวไทย’ ที่ทวงคืนแชมป์โลก!
 
หลังจากที่ "ข้าวหอมมะลิ" ของไทยกลับมาทวงแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดมาได้ จากที่เคยเสียแชมป์ให้กัมพูชาและเวียดนาม ประเทศคู่แข่งที่สำคัญและน่าจับตามอง ในทางตรงกันข้ามคนไทยเองกลับเข้าไม่ถึงข้าวคุณภาพดี เนื่องจากมีราคาแพง ประเด็นนี้นับเป็นโจทย์สำคัญที่ยังรอไขปม
 
 
อยากกิน ‘ข้าวไทย’ ที่ทวงคืนแชมป์โลก!
 
ไทยกลับมาทวงแชมป์ได้อีกครั้ง! "ข้าวหอมมะลิไทย 105" ชนะเลิศรางวัล “ข้าวดีที่สุดในโลก" หรือ World's Best Rice Award 2020 ในการประกวดข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นทุกปีในงานประชุมข้าวโลก (World Rice Conference) โดย The Rice Trader สหรัฐ ระหว่าง 1-3 ธ.ค.2563 นับเป็นแชมป์ครั้งที่ 6 จากที่จัดมาทั้งหมด 12 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2552 เวียดนามและกัมพูชาที่เคยล้ม “แชมป์ไทย” ได้ในปี 2561 และ 2562 ครั้งนี้อยู่อันดับ 2 และอันดับ 3
 
แน่นอนว่าได้แชมป์ย่อมดีกว่าไม่ได้ แต่ก็เหมือนการประกวดอื่นๆ เช่น หนังสือ เครื่องประดับ ฯลฯ รางวัลชนะเลิศอาจเพิ่มชื่อเสียงยี่ห้อและยอดขายบ้าง หรือว่าอาจไม่เพิ่มยอดขายแม้กระทั่งในการส่งออกนัก เพราะข้าวดีขายแพง เจอเศรษฐกิจไม่ดี คนซื้อน้อยลง หรือไม่บางทีผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรสนิยม (taste shift) ไม่รู้สึกรู้สาใดนักที่จะกินข้าวถูกกว่า คุณภาพด้อยลง มีเงินก็ไม่ (รู้จัก) ซื้อของดีกิน แบบเดียวกับหนังสือดีไม่มีคนซื้ออ่าน ผู้ผลิตผู้ค้าย่ามใจไม่ได้
 
การสร้างตลาดเพิ่มให้ข้าวดีข้าวแพงจึงเป็นทางออกโดยเฉพาะการบริโภคในประเทศ จะไม่จัดให้ข้าวแชมป์โลก เป็นของขวัญปีใหม่ “คนละครึ่ง” สักครั้งหรือ กระทรวงพาณิชย์ที่แถลงหน้าบานข้าวไทยทวงคืนแชมป์โลก เหมือนการท่องเที่ยวนั่นแหละ อย่าคิดและค้นคว้าวิจัยแต่เรื่องเงินมาจากนอกประเทศ คนในประเทศก็อยากเที่ยวและอยากเข้าถึงข้าวดี
 
โดยทั่วไปคนไทยยังเข้าไม่ถึงข้าวดี ไม่รู้จะซื้อหาจากช่องทางใดแม้ว่าจะมีเงินซื้อและอยากลอง คนพะเยาเองเคยลำบากหาซื้อข้าวสารหอมมะลิพะเยาที่ได้รางวัลชนะเลิศ ก็จึงไม่แปลกที่ในฐานะนักท่องเที่ยวไปถึงพะเยาก็เจอปัญหาเดียวกันหาซื้อไม่ได้
 
เรื่องนี้น่าคิด ผู้ว่าฯพะเยา ในช่วงหลังมานี้ทำนโยบายให้ร้านอาหารเสิร์ฟข้าวสวยหอมมะลิพะเยา ได้รับความร่วมมือ แต่ก็ได้ยินผู้บริโภคบ่นว่าแพงจัง บางร้านจึงมีข้าวสวยราคาถูกกว่าให้เลือก
 
 
ทั้งหาซื้อไม่ได้และราคาที่ว่า “แพง” เป็นโจทย์ที่ต้องตีให้แตก โดยทั่วไปแชมป์มวย นางงาม ดาราคืนถิ่น เป็นข่าวครึกโครมกว่าข้าวของท้องถิ่นชนะเลิศรางวัลอะไรมาเสียอีก ส่วนหนึ่งที่บ่นว่าแพง อาจเพราะเราคนไทยไม่ค่อยสนใจไม่ (สามารถ) พิถีพิถันนักกับข้าวสารข้าวสวยที่กิน
 
ไม่ว่าที่บ้านและร้านอาหารทั่วไป แม้แต่ในร้านอาหารดีและแพง เราจะบ่นในเรื่องอาหารไม่อร่อย แต่ไม่ว่ากันในเรื่องคุณภาพข้าว
 
ข้าวสารถุงที่ซื้อบริโภคกันทั่วไประบุน้อยมาก หรือไม่ระบุเลยว่าเป็นข้าวพันธุ์ใด ผลิตปีไหน ผู้ซื้อดูยี่ห้อผู้บรรจุถุงเป็นหลัก (ซึ่งก็อาจไม่ใช่ผู้ผลิตข้าวสาร) ต่างจากแต่เดิมที่ซื้อปลีกข้าวสารเป็นลิตรหรือกิโลกรัม (ซึ่งกลับมานิยมกันใหม่ในร้านขายข้าวไฮเอนด์) มักปักป้ายบอกว่า เป็นข้าวอะไร พันธุ์อะไร ข้าวใหม่ข้าวเก่า หรือข้าวเก่า 2 ปี ถ้าแหล่งภูมิศาสตร์มีความสำคัญก็จะระบุเช่นว่าข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย (เยี่ยมมากนำมามูลกะทิ) ข้าวสังข์หยดพัทลุง ฯลฯ
 
พอกล่าวได้ว่าทุกวันนี้คนไทยที่ไม่เกี่ยวข้องฤดูกาลปลูกข้าว แทบจะไม่แยกแยะอะไรเกี่ยวกับข้าวที่ซื้อที่กิน ไม่รู้ความแตกต่าง “ข้าวใหม่” “ข้าวเก่า” ไม่รู้จักทั้งชื่อและหน้าตาตลอดจนรสชาติของข้าวนานาพันธุ์ ศักยภาพการรู้จักข้าวและรสข้าวของเราเสื่อมถอย จนเราคนในประเทศที่ได้ชื่อว่าปลูกและส่งออกข้าวดีที่สุดในโลก กลับมีข้าวกินไปตามยถาตลาดบงการ ไร้การดูแลเอาใจใส่จากสถาบันเกี่ยวข้อง การวิจัยพัฒนาข้าวไทยมุ่งแต่ส่งออกเป็นหลักทั้งรสชาติ คุณภาพ และการจำหน่าย
 
การที่ผู้บริโภค (ในประเทศ) ไม่พิถีพิถัน สำนึกน้อย สืบสาวไปก็โยงถึงผู้ผลิต ตั้งแต่เกษตรกร โรงสี ผู้จำหน่าย ที่บกพร่องในการแยกแยะ คัดเลือก และการปลูกมาตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ จนส่งผลถึงผู้บริโภค ต้นน้ำถึงปลายน้ำเป็นวงจรมานาน
 
เราเพิ่งบริหารจัดการคุณภาพเมล็ดพันธุ์เมื่อ 20 กว่าปีนี้เอง อื่นๆ เช่น ลดปลูกข้าวด้อยคุณภาพ ก็เพิ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องแก้ทุกข์ใหญ่จำนำข้าวทุกเมล็ดทิ้งมรดกไว้ คือเร่งผลิตเอาเมล็ดมากๆ เป็นหลัก นาบางแห่งปลูกข้าว 7 ครั้งในสามปี เป็นข้าวนาปรังคุณภาพต่ำทั้งนั้น
 
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเตือนพักใหญ่แล้วว่าส่งออกข้าวปีนี้ในช่วงเดียวกัน ม.ค.-พ.ค. ลดลงจากปีที่แล้วและมีแนวโน้มจะลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า คู่แข่งจะมากขึ้น โดยเฉพาะจีนที่จะเริ่มส่งออกข้าวไปขายในแอฟริกา จีนเป็นดาวรุ่งดวงใหม่เรื่องข้าว เดินตามหลายประเทศในการวิจัยพัฒนาพืชเกษตรทุกด้านเมื่อตั้งใจผลิต เช่น ญี่ปุ่นซึ่งเคยเขียนถึงมาแล้ว
 
ขนมปังที่คนฝรั่งเศสกินเป็นอาหารแป้งหลักนั้น รัฐบาลเฝ้ารักษามาตรฐานเสนอสนองผู้บริโภค เพราะหมายถึงชื่อเสียง ยี่ห้อและเพื่อควบคุมการผลิตทั้งวงจร กว่าสองทศวรรษแล้วที่เริ่มเงินอุดหนุนผู้ผลิตขนมปังดีๆ ให้อยู่ได้ในภาวะแข่งขันและให้โรงเรียนจัดขนมปังดีให้เด็กได้ลิ้มรสช่วงอาหารกลางวัน ด้วยเกรงลิ้นคนในชาติจะกลายเป็นลิ้นจระเข้ โดยเฉพาะเด็กๆ หากได้กินแต่ขนมปังซูเปอร์มาร์เก็ตเก็บได้เป็นอาทิตย์ ซึ่งห่างไกลลิบคุณภาพขนมปังแบบดั้งเดิมที่ร้านขนมปังอบขนมปังท่อนยาวกรอบนอกนุ่มในที่เรียกว่า "บาแกตต์" (baquette) วันละสองรอบ คือตีสี่และบ่ายสองบ่ายสาม กินสุกใหม่วันต่อวัน
 
พูดแล้วท้องร้องจ๊อกๆ อยากกินข้าวแชมป์โลก!
 
บทความโดย สุกัญญา หาญตระกูล | คอลัมน์ ร้อยแปดวิถีทัศน
Visitors: 1,218,241