โลกแห่งกรีนอีโคโนมีของ โจ ไบเดน

โลกแห่ง 'กรีนอีโคโนมี' ของ 'โจ ไบเดน'
 
เกาะติด "แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว" (Green Economy) นโยบายหลักของรัฐบาลโจ ไบเดน การสร้างสังคมเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐ ที่จะเป็นกระแสต่อไปอีก 4 ปีข้างหน้า
 
 
โลกแห่ง 'กรีนอีโคโนมี' ของ 'โจ ไบเดน'
 
หนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลโจ ไบเดน ที่ได้ประกาศออกมา คือ แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ที่ไบเดนต้องการให้สหรัฐเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจให้ธุรกิจใหม่ๆ มาสู่รูปแบบดังกล่าว บทความนี้จะขอพาท่านมาทำความเข้าใจในเรื่องที่จะเป็นกระแสหลักของโลก อย่างน้อยในอีก 4 ปีข้างหน้า
 
ก่อนที่จะมารู้จักแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว จะขอพาท่านผู้อ่านมารู้จักแนวคิดด้านการวัดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งโฟกัสของไบเดน ดังนี้
 
เริ่มจากคำว่าความเสี่ยงด้านกายภาพ หรือ Physical Risks คือความเสี่ยงที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างอันตรายจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงกับสภาพที่อ่อนแอของมนุษย์และระบบธรรมชาติ โดยใช้มาตรวัดความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจและการเงินอันเนื่องมาจากความถี่และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่อากาศมีสภาพความแปรปรวนมากยิ่งขึ้น
 
รวมถึงผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ อาทิ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของระดับปริมาณน้ำฝน ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งตราสารทางการเงินและอสังหาริมทรัพย์
 
มีการคาดการณ์กันว่ายังมีความเสี่ยงและความเสียหายที่ยังไม่ได้ทำประกันไว้ถึงร้อยละ 70 อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม
 
ภายใต้บรรยากาศที่ทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ใต้ดิน อาทิ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ถูกต่อต้านจากกลุ่ม Green ไม่ให้ถูกนำขึ้นมาใช้ เนื่องด้วยจะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ในส่วนของทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถนำขึ้นมาใช้นี้เรียกกันว่า Stranded Asset ซึ่งส่วนของสินทรัพย์นี้ แม้จะเป็นสินทรัพย์ในงบดุลของบริษัทที่เป็นเจ้าของสัมปทาน ทว่าไม่สามารถนำมาใช้ได้ จนบางส่วนจะด้อยค่าลง รวมถึงอาจกลายเป็นส่วน Liabilities เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำลาย ซึ่งมีมูลค่าถึง 1-15 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
 
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือ Transition Risks คือความเสี่ยงที่เกิดจากการความเสียหายของเศรษฐกิจทุกอุตสาหกรรมจาก Stranded Asset
 
ทั้งนี้ หากเราไม่สนใจประเด็นปัญหาภาวะโลกร้อนหรือ Climate Change ในตอนนี้ โดยเห็นว่าจะสามารถมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในอนาคตอันใกล้ในการจัดการปัญหาโลกร้อน โดยยอมให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นถึง 4 องศา หรือกรณี Business-as-usual ดังเช่นกรณีด้านขวาในรูป ในกรณีนี้จะมีระดับความเสี่ยง Physical Risk อยู่สูง ในขณะที่จะมีระดับความเสี่ยง Transition Risk ที่ต่ำ
 
ในทางกลับกัน หากเราเข้มกับปัญหาภาวะโลกร้อน จนยอมให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเพียง 1.5 องศา หรือกรณี Rapid Transition ในกรณีนี้จะมีระดับความเสี่ยง Physical Risk อยู่ต่ำ ในขณะที่จะมีระดับความเสี่ยง Transition Risk ที่สูง
 
ทั้งนี้ งานศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ ได้ศึกษาผลกระทบของภาวะที่โลกเราร้อนขึ้น 4 องศา จะส่งผลต่อจีดีพีสหรัฐในเชิงลบระหว่างร้อยละ 1.5 ถึง 5.6 ซึ่งจะเกิดขึ้นแบบต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน
 
 
แล้วก็มาถึงศัพท์คำใหม่ที่ชื่อ Green Swan ซึ่งหมายถึง Black Swan ในยุคที่เกิดจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change ซึ่งมีลักษณะเด่นอยู่ 3 ประการ ดังนี้
 
1. ปฏิกิริยาระหว่าง Physical Risk กับ Transition Risk ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงสุดๆ หรือ Extreme Events แบบไม่เป็นเชิงเส้นหรือ Non-linearity โดยที่ข้อมูลในอดีตไม่สามารถนำมาคาดการณ์ Green Swan
 
2. ระดับความเสียหาย อยู่ในระดับที่มากกว่าความเสียหายทางการเงิน โดยอาจทำให้ถึงกับสูญเสียซึ่งมนุษยชาติได้
 
3. ความซับซ้อนของ Climate Change อยู่ในระดับที่เป็นทวีคูณ ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ สังคมและเศรษฐกิจ
 
 
สำหรับกรีนอีโคโนมี หรือเศรษฐกิจสีเขียว ในความหมายของทีมเศรษฐกิจของโจ ไบเดน หมายถึงการสร้างสังคมเศรษฐกิจใหม่ (New Eco-System) ผ่านการให้แหล่งเงินของรัฐบาลสหรัฐอย่างเต็มที่ต่อผู้ประกอบการธุรกิจสีเขียวรายใหม่ๆ ในสหรัฐ ซึ่งนับได้ว่า ณ ช่วงเวลานี้ ถือเป็นจังหวะที่ดี เนื่องจากสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากน่าจะยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายปี ทำให้รัฐบาลสหรัฐสามารถก่อหนี้ได้ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับจีดีพี โดยไม่กระเทือนต่อเสถียรภาพทางการคลังมากนัก
 
โดยที่ธุรกิจดังกล่าวจะหันมาใช้แหล่งพลังงานทางเลือกในการผลิต ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนให้มีการแข่งขันกันระหว่างแหล่งพลังงานทางเลือกต่างๆ แทนการใช้น้ำมันหรือถ่านหินดังเช่นในอดีต โดยที่สินค้าและบริการแบบกรีนอีโคโนมีนั้น มาจากความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ โดยแท้จริง แทนที่จะมาจากโรงงานที่ผลิตสินค้ามาจำหน่ายของเถ้าแก่ ซึ่งยังทำหน้าที่เป็นผู้คาดการณ์ความต้องการของผู้บริโภคไปเสียเองดังเช่นในอดีต
 
การเปลี่ยนแนวคิดทางธุรกิจดังกล่าว นอกจากจะส่งผลดีต่อการตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าแล้ว ยังทำให้ไม่มีการผลิตแบบที่เกิดอุปทานส่วนเกินอย่างเมื่อก่อน อีกทั้งจะสามารถช่วยสร้างโลกใหม่ให้มีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและดีขึ้นอีกด้วย
 
บทความโดย บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ | คอลัมน์ มุมคิดมหภาค
Visitors: 1,430,170