ประชากรในเกือบ 70 ประเทศที่มีรายได้ต่ำ อาจมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 เพียง 10% ของทั้งหมด

ประชากร 90% ในประเทศยากจน อาจไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19
 
ในวันนี้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านมาแล้ว 1 ปีเต็ม และกำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญ คือการที่หลายประเทศเริ่มอนุมัติวัคซีนโควิด-19 เพื่อฉีดให้ประชาชนสร้างภูมิต้านทานโรคโควิด-19
 
 
ภายใต้ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลถึงภาวะเหลื่อมล้ำทางวัคซีน ที่อาจทำให้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงวัคซีนโควิด-19 วันนี้ workpointTODAY จะนำรายละเอียดของความกังวลนี้มาให้อ่านกัน
 
People's Vaccine ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาคประชาสังคมระดับโลกที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมและสุขภาพ เช่นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, Frontline AIDS และ Oxfam เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดที่ประเมินว่า ประชากรในเกือบ 70 ประเทศที่มีรายได้ต่ำ อาจมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 เพียง 10% ของทั้งหมด
 
ผลการศึกษาชิ้นนี้แปลความได้ว่า ประชากรทุกๆ 10 คนในประเทศยากจน จะมีเพียงแค่ 1 คนเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนโควิด-19
 
สอดคล้องกับการตรวจสอบยอดสั่งจองวัคซีนโควิด-19 ล่าสุด ที่พบว่า มีหลายชาติยังไม่ได้สั่งจองวัคซีน ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ มียอดจองวัคซีนในอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก เช่น
 
ฟิลิปปินส์ สั่งจองวัคซีนไว้ 2.6 ล้านโดส เพียงพอกับประชากรแค่ 1.3 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 1% ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น
 
แต่ในทางกลับกัน ประชากรในประเทศร่ำรวย ซึ่งคิดเป็น 14% ของคนทั้งโลก กลับถือครองวัคซีนมากถึง 53% โดยที่มีบางประเทศสั่งจองวัคซีนเพียงพอและอาจมากกว่าความต้องการของคนทั้งประเทศไปแล้ว เช่น
 
แคนาดา สั่งจองวัคซีนมากกว่าความต้องการของคนทั้งประเทศ 5 เท่าตัว
เกาหลีใต้ สั่งจองวัคซีนเพียงพอกับประชากร 88% ของทั้งประเทศ
 
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางวัคซีนโควิด-19 ทำให้ COVAX ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประสานงานและระดมทุน หวังให้วัคซีนโควิด-19 เพียงพอกับคนทั้งโลกตั้งเป้าไว้ว่า จะต้องจัดหาวัคซีนแจกจ่ายให้กับประเทศยากจนอย่างน้อย 92 ประเทศให้ได้ 2,000 ล้านโดสภายในปีหน้า โดยในตอนนี้สามารถจัดหาได้แล้ว 700 ล้านโดส
 
ขณะเดียวกันในตอนนี้มีบริษัทวัคซีนที่ประกาศตัวพร้อมช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 บริษัท คือบริษัทแอสทราเซเนกา (AstraZeneca) ที่ร่วมพัฒนาวัคซีนโควิด-19 กับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งออกมายืนยันว่า จะขายวัคซีนโควิด-19 ในราคาทุนให้กับประเทศกำลังพัฒนา
 
โดยวัคซีนของบริษัทแอสทราเซเนการ่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด มีข้อดีคือสามารถเก็บรักษาได้ในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ ไม่ต้องใช้อุณหภูมิที่เย็นจัด ทำให้ช่วยลดอุปสรรคในการขนส่งไปได้มาก
 
นอกจากนี้ยังมีวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทยาในประเทศจีน ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนประกาศว่า หากวัคซีนที่พัฒนาประสบความสำเร็จ จะช่วยแจกจ่ายไปยังหลายประเทศ ท่ามกลางการจับตาว่า นี่เป็นยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดของรัฐบาลจีน ที่หวังใช้วัคซีนโควิด-19 เป็นเครื่องมือทางการทูตผูกมิตรกับชาติต่างๆ
 
อย่างไรก็ตาม การแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้เพียงพอกับคนทั้งโลก ไม่สามารถทำได้ผ่านวัคซีนจากแค่ 1-2 บริษัท แต่ต้องอาศัยปริมาณวัคซีนจำนวนมหาศาล ทำให้ภาคประชาสังคมที่กำลังจับตาปัญหานี้ชี้ว่า บริษัทผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 รายอื่นๆ ควรเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการกระจายกำลังการผลิต ให้ผู้คนเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้มากและเร็วที่สุด
 
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเรียกร้องไปถึงรัฐบาลของทุกประเทศว่าต้องให้คำมั่นว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะทำให้แต่ละรัฐบาลต้องหันมาให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการทุ่มงบประมาณ หรือขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานระดับโลกเพื่อให้ได้วัคซีนโควิด-19 เพียงพอกับคนทั้งประเทศ
 
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ให้ทั่วถึงประชากรทั้งโลกมีความจำเป็น เพราะในท้ายที่สุดแล้วจะไม่มีใครปลอดภัยจากโรคระบาดเลย ตราบใดที่คนทั้งโลกยังไม่ปลอดภัยทุกคน
 
Visitors: 1,403,304