กินยังไงให้ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ วิถีการกินเพื่อเซฟโลกแบบชาว Climatarian

คำว่า Climatarian อาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นหูในบ้านเรานัก และถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการบัญญัติคำไทยขึ้นมาเพื่อใช้เรียกแทนผู้บริโภคกลุ่มนี้ว่าควรจะเรียกอย่างไรดี เราจึงขอเรียกคำที่เป็นสากลเช่นนี้ไปก่อน แต่เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน Climatarian อธิบายได้ว่า เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการงดบริโภคเนื้อสัตว์ซึ่งมาจากสัตว์ใหญ่ที่เลี้ยงในระบบปศุสัตว์ ซึ่งจะปล่อยก๊าซมีเทนออกมากเป็นจำนวนมากจากระบบการย่อยอาหาร และความแคร์ของชาว Climatarian ที่เห็นว่าก๊าซมีเทนที่ปล่อยออกมานั้นจะส่งผลต่อภาวะโลกร้อน พวกเขาจึงหลีกเลี่ยงการบริโภคสัตว์ใหญ่ และทดแทนด้วยอาหารประเภทอื่นแทน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินของตัวเองในมุมอื่นๆ เพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ตัวเองจะสร้างขึ้นจากการกินการอยู่ โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่สร้างผลกระทบต่อโลกน้อยที่สุดในกระบวนการผลิต

ในแพลตฟอร์ม Spoonshot ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้านอาหาร เคยได้ทำการวิเคราะห์และทำนายแนวโน้มของเทรนด์อาหารที่จะเกิดขึ้นในปี 2021 เอาไว้ว่า เทรนด์การบริโภคแบบชาว Climatarian จะเป็นหนึ่งในเทรนด์ฮอตของปี และเทรนด์นี้จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคตด้วย แต่การระบาดของโควิด-19 ก็มีผลต่อการลงทุนของผู้ประกอบการที่กำลังให้ความสนใจนวัตกรรมอาหารที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ ทำให้หลายแบรนด์ต้องเบรกแผนหรือชะลอเวลาออกไปก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเทรนด์นี้จะถูกตีตกไปเสียทีเดียว เพราะก็ยังมีความคาดการณ์กันว่า

ชาว Climatarian จะยังให้ความใส่ใจต่อการลดบริโภคที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ไม่เพียงแต่เรื่องของอาหารการกินเท่านั้นที่พวกเขาจะต้องเปลี่ยนแปลง เพราะยังรวมไปถึงการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อัพไซคลิ่ง ก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

แต่แม้ว่านวัตกรรมอาหารที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ จะมีอันชะงักงันหรือบางรายต้องขอถอยทัพกลับไปตั้งหลักใหม่ ก็ไม่ได้เป็นผลต่อชาว Climatarian ที่อยากจะเซฟโลกในทางปฏิบัติปลีกย่อย เพราะเมื่อเปิดดูกฎการกินของชาว Clamatarian ที่เจมส์ เกอร์เบอร์ นักวิจัยจากโครงการ Global Landscapes Initiative ได้ให้คำแนะนำเอาไว้ ก็ไม่ได้ยากเกินไปนักถ้าใครสักคนอยากจะเริ่มต้นเป็นชาว Climatarian กับเขาดูสักที


 

กฎของการกินเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ฉบับเริ่มด้วยตัวเอง

 

กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อดิน 

 

หรือพูดง่ายๆ ว่า เลือกกินอาหารประเภทธัญพืช ผัก ผลไม้ ที่กระบวนการเพาะปลูกพึ่งพาปัจจัยการผลิตน้อยๆ เช่น ใช้น้ำน้อยหรือต้องการปุ๋ยน้อย และเป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อดินนั่นเอง โดยพืชที่เกอร์เบอร์ให้คะแนนเป็นพิเศษคือพืชตระกูลถั่วซึ่งให้โปรตีนสูง แถมยังมีปมรากที่ให้ประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนในดินได้สูง และช่วยป้องกันการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่จะนำไปสู่การสูญเสียโอโซนในชั้นบรรยากาศด้วย

งดกินเนื้อสัตว์ที่ถูกขุน

เนื้อ Feedlot หรือเนื้อวัวที่ถูกขุนก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการชำแหละหรือแปรรูปเป็นอาหาร จะเพิ่มก๊าซมีเทนจากกระบวนการขุน ที่วัวจะต้องกินอาหารจำนวนมากและต้องการน้ำจำนวนมาก เกอร์เบอร์ให้ข้อมูลว่า 2 ใน 3 ของเมล็ดพืชที่เกษตรกรเพาะปลูกจะถูกส่งไปเป็นอาหารสัตว์ ทำให้พื้นที่ที่ควรจะถูกปล่อยให้เป็นธรรมชาติ ต้องกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกอาหารสัตว์เหล่านี้ การเปลี่ยนมางดหรือลดการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการเลี้ยงดู และหันมาบริโภคสัตว์ขนาดเล็ก หรือไข่และปลาจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ลดขยะอาหารด้วยการซื้ออย่างชั่งใจ

ไม่ได้มีแต่ฟาร์มปศุสัตว์เท่านั้นที่สร้างก๊าซมีเทน เพราะเศษอาหารที่เหลือทิ้งก็เป็นอีกหนึ่งต้นตอของการเกิดมีเทน และมีผลต่ออุณหภูมิโลกด้วย การจับจ่ายอาหารอย่างเหลือกินเหลือใช้หรือเกินความต้องการ จะทำให้เราสร้างขยะอาหารที่ปลายทางเมื่อกินไม่หมด และการซื้ออย่างเกินความต้องการก็ทำให้เกิดการผลิตเกินความต้องการตามไปด้วย เกอร์เบอร์บอกว่าประมาณหนึ่งในสี่ถึงหนึ่งในสามของอาหารทั้งหมดจะกลายเป็นขยะ เรื่องนี้ชาว Climatarian จึงต้องชั่งใจ และคำว่า ‘เหลือดีกว่าขาด’ อาจไม่ดีจริงเสมอไป

ซื้อผลิตผลปลอดภัยในท้องถิ่น

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่วนหนึ่งเกิดจากภาคการขนส่งผลผลิต การตัดตอนระยะทางในการขนส่ง จึงเป็นทางรอดของการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการหันมาสนับสนุนผลผลิตในท้องถิ่น ที่นอกจากจะช่วยเรื่องเศรษฐกิจชุมชนแล้ว เรายังได้กินอาหารสดใหม่กว่าอาหารที่ต้องเดินทางไกลและสูญเสียรสชาติไประหว่างเดินทาง และควรใส่ใจกับการเลือกซื้ออาหารปลอดสาร เพื่องดการสนับสนุนผลผลิตที่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก และส่งเสริมการผลิตสินค้าปลอดสารให้มีพื้นที่ในตลาดมากขึ้น

กินพืชที่ใช้น้ำในการเพาะปลูกน้อย

ข้อสุดท้ายนี้เกอร์เบอร์ยกกรณีตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ว่าในการทำฟาร์มเพาะปลูกของเกษตรกรอเมริกันนั้น ใช้น้ำจืดมากถึงร้อยละ 90 ของการใช้น้ำจืดในประเทศ จนเกิดเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งในแคลิฟอร์เนียมาแล้วเพราะเกษตรกรของรัฐนี้ใช้น้ำมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เขาจึงแนะนำให้กินอาหารจำพวกพืชตระกูลถั่วและผักที่ต้องการน้ำน้อยในการเพาะปลูก สำหรับบ้านเราซึ่งแม้จะไม่ได้มีวิกฤตแล้งถึงขั้นกระทบกับการเพาะปลูก แต่นัยเดียวกันนี้ก็ใกล้เคียงกับการกินพืชผักผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตได้ แถมรสชาติตามฤดูกาลก็ยังอร่อยกว่ากินนอกฤดูด้วย

ข้อมูลจาก: Greenery

 

 

Visitors: 1,212,309