กรณีศึกษา การสร้าง Ecosystem ธุรกิจแบบ คนโด มาริเอะ

กรณีศึกษา การสร้าง Ecosystem ธุรกิจแบบ “คนโด มาริเอะ”
 
หญิงสาวชาวญี่ปุ่นที่ทรงอิทธิพลที่สุดในปีที่ผ่านมา คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Marie Kondo หรือ คนโด มาริเอะ
เธอกลายเป็นที่รู้จักจากการเขียนหนังสือเรื่อง “ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” ที่ขายดีจนต้องแปลเป็นหลายภาษา และถูก
วางขายไปทั่วโลก
 
ปัจจุบันเธอได้ขยายขอบเขตธุรกิจของตัวเอง สู่การเปิดเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ และเปิดคอร์สสอนการจัดบ้าน
 
เส้นทางของคนโดค่อนข้างน่าสนใจ ในมุมของการสร้าง Ecosystem ธุรกิจ
 
คำว่า Ecosystem หมายถึง ระบบนิเวศ
 
ดังนั้นระบบนิเวศทางธุรกิจ จึงหมายถึง การสร้างธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกันหลายๆ โมเดล โดยแต่ละโมเดลมีความเกี่ยวโยงกัน และซัปพอร์ต
ซึ่งกันและกัน
 
ยกตัวอย่าง เช่น Ecosystem ของ Apple คือการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยแต่ละผลิตภัณฑ์ส่งเสริมซึ่งกันและกัน
อย่างสาวก Apple ที่ใช้ทั้ง MacBook, iPad, iPhone รวมถึง iCloud คงเข้าใจดีว่าผลิตภัณฑ์และบริการเหล่านี้ สามารถทำงานตอบสนอง
เชื่อมโยงกันทั้งหมด
 
จึงอาจพูดได้ว่า Ecosystem ของ Apple ก็คือ “นวัตกรรมและเทคโนโลยี”
 
ในขณะที่ Ecosystem ของ คนโด คือ “การจัดบ้าน”
 
เธอได้นำความถนัดของเธอ ในเรื่องของการจัดบ้าน มาแตกแขนงออกเป็นธุรกิจย่อย ตามสิ่งที่เธอสนใจและเห็นศักยภาพในตลาดนั้นๆ
 
ย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นของคนโด เธอหลงใหลการจัดบ้านมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ในขณะที่เพื่อนๆ ชั้นประถมออกไปวิ่งเล่นกัน
เธอกลับหมกมุ่นอยู่กับการจัดตู้หนังสือในห้องเรียน และมีงานอดิเรกที่ชื่นชอบ เป็นการอ่านนิตยสารแม่บ้าน
 
พออายุได้ 19 ปี ขณะเรียนมหาวิทยาลัย เธอก็เริ่มต้นธุรกิจรับเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดบ้าน ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มีใครทำอาชีพแบบนี้มาก่อน
 
หลังจากนั้นไม่นานเธอก็มีชื่อเสียงจากการบอกปากต่อปากในหมู่ลูกค้า จนมาเป็นที่รู้จักทั่วโลก ในตอนที่เขียนหนังสือ
 “ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” ซึ่งถูกตีพิมพ์จำหน่ายมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก
 
เรื่องนี้ทำให้เธอกลายเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดบ้านอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีคนมารอสมัครเรียนล่วงหน้านับปี เพื่อเข้าเรียนหลักสูตรการจัด
บ้านสไตล์ “KonMari” หรือ วิธีคนมาริ ซึ่งเป็นวิธีการจัดบ้านที่คนโดคิดค้นขึ้นมาเองทั้งหมด
 
เรื่องราวและวิธีการจัดบ้านที่น่าสนใจของเธอถูกนำไปตีแผ่บนช่องสตรีมมิงออนไลน์อย่าง Netflix โดยทำเป็นซีรีส์ชื่อ
Tidying Up with Marie Kondo ซึ่งก็ยิ่งทำให้เธอกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร
 
 
หลังจากนั้นไม่นาน เธอก็ได้เปิดเว็บไซต์ออนไลน์ เพื่อขายสินค้าออนไลน์ จำพวกของแต่งบ้าน ของขวัญ และของกระจุกกระจิก
 
 
ด้วยสิ่งที่คนโดทำมาทั้งหมดนี้ ก็คือ Ecosystem ที่มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกัน จนกลายเป็นภาพใหญ่ของธุรกิจ ที่มีความชัดเจน
 
กรณีของคนโด จะเรียกเป็นความโชคดี ก็ว่าได้ เพราะเธอสามารถค้นพบแพชชันของตัวเอง ในด้านการจัดบ้าน ตั้งแต่อายุยังน้อย
และสามารถต่อยอดต่อไปเรื่อยๆ กลายเป็นระบบนิเวศทางธุรกิจที่สมบูรณ์
 
ซึ่งถ้าเราเริ่มต้นค้นหาแพชชันของตัวเองให้เจอ การขยายขอบเขตธุรกิจให้กลายเป็น Ecosystem ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถ
 
เพราะถ้ามันเกิดจากแพชชันจริงๆ เราก็จะตื่นขึ้นมาทุกวันอย่างมีความสุข
 
หวังว่า เพื่อนๆ จะสามารถค้นพบแพชชันของตัวเอง เพื่อนำมาต่อยอดเป็น Ecosystem ทางธุรกิจได้เช่นกันนะคะ
 
แต่ถ้าใครยังหาไม่เจอ ลองเอาเทคนิคของคนโดไปใช้ดูก็ได้ค่ะ
เริ่มจากการหยิบจับสิ่งรอบตัว แล้วดูว่ามัน “Spark joy” หรือ “จุดประกายความสุข” ให้กับหัวใจเราหรือไม่
 
ถ้าคำตอบคือ “ใช่” ก็ไม่แน่ว่าสิ่งนั้นจะเป็น “แพชชัน” ที่เราตามหาอยู่ ก็เป็นได้..
 
 ขอบคุณที่มา : ลงทุนเกิร์ล
Visitors: 1,405,375