ทำไมต้องเปิดประเทศ รับ นักท่องเที่ยวจีน แบบ ไม่กักตัว
ทำไมต้องเปิดประเทศ รับ 'นักท่องเที่ยวจีน' แบบ ‘ไม่กักตัว’
หนึ่งในทางออกสำหรับ "เศรษฐกิจไทย" คือ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความปลอดภัยจากโควิดสูง อย่างประเทศจีน โดยไม่ต้องกักตัว ท่ามกลางการกำหนดมาตรป้องกันการระบาดอย่างเข้มข้น
ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ความสำเร็จนี้ก็ตามมาด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงมหาศาล คาดว่าจีดีพีของไทยปีนี้จะลดลงไม่ต่ำกว่า 7.8% ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บางสำนักคาดว่าจีดีพีอาจลดลงถึง 8-10% นับเป็นอัตราการติดลบที่รุนแรงที่สุดในอาเซียน หรืออยู่ในกลุ่ม 12 ประเทศ จาก 42 ประเทศที่มีอัตราเติบโตติดลบมากที่สุดตามรายงานของนิตยสาร The Economist
ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดคือ คนจำนวนหลายล้านคนทั้งในเมืองและชนบทที่ตกงาน หรือต้องหยุดทำงานกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก ธุรกิจจำนวนนับแสนแห่งคงต้องปิดกิจการในไม่ช้า แม้รัฐบาลจะแจกเงินให้คนทั่วประเทศแล้ว 30.5 ล้านคน คนละ 15,000 บาท เงินประทังชีพกำลังหมดไปอย่างรวดเร็ว แต่กว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวจนประชาชนมีงานและมีรายได้ต่อหัวเท่ากับปี 2562 คงต้องกินเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่เคยเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่และเคยทำรายได้ให้ประเทศถึงร้อยละ 18 ของจีดีพี น่าจะฟื้นตัวช้าที่สุด
แม้รัฐบาลจะพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวในหมู่คนไทยด้วยทุกวิถีทาง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยยังต่ำมากเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (เกือบ 40 ล้านคนในปี 2562) และรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยก็เพียง 1.1 ล้านล้านบาท เทียบกับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 2 ล้านล้านบาท
ทางออกที่สำคัญที่สุดคือนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความปลอดภัยจากโควิดมากที่สุด โดยเฉพาะจีน โดยไม่ต้องกักตัว (ยกเว้นการกักตัวสั้นๆ ระหว่างรอผลตรวจ) เพราะรัฐบาลจีนสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้ผลที่สุด ทำให้เวลานี้คนจีนสามารถเดินทางไปเที่ยวมณฑลต่างๆ ได้อย่างเสรี ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน
จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนน่าจะมากพอที่จะช่วยชีวิตของธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องในไทยได้เป็นจำนวนมาก และอาจช่วยได้มากกว่านโยบายไทยเที่ยวไทย แต่ไม่ต้องใช้เงินภาษีมาจ้างให้คนเที่ยว เมื่อธุรกิจมีลูกค้า รัฐบาลก็ไม่ต้องเสียเงินกับมาตรการพักชำระหนี้ มาตรการ refinance หรือแม้กระทั่งมาตรการช่วยเพิ่มทุนให้ธุรกิจ ยิ่งกว่านั้นผลสำคัญคือเกิดการจ้างงานจำนวนนับล้านคนในภาคท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแรงงานที่มีการศึกษาไม่สูงซึ่งมีปัญหาการปรับตัวมากที่สุด ฉะนั้น ในด้านเศรษฐกิจนโยบายนี้จึงเป็นนโยบายแบบ “ได้กับได้” (win-win)
แต่ขณะเดียวกัน เราจะต้องมีมาตรการด้านสาธารณสุขและการป้องกันโควิด-19 ที่เข้มข้น ฉับไว และมีความพร้อมที่จะดำเนินการในเชิงรุก เพื่อป้องกันมิให้ความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัส เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แน่นอนไม่มีประเทศใดสามารถลดความเสี่ยงให้เป็นศูนย์ได้ แต่รัฐบาลกับภาคประชาสังคมสามารถร่วมกันกำหนดระดับความเสี่ยงจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากจีน ว่าเราจะยอมรับความเสี่ยงได้เท่าไร จึงจะสามารถรักษาสมดุลระหว่างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมกับผลกระทบด้านสาธารณสุขและสุขภาพของคนไทย หลังจากตกลงกันได้ เราต้องกำหนดมาตรการป้องกันการระบาดอย่างเข้มข้นอย่างน้อย 4 มาตรการดังนี้
มาตรการแรกคือ การตรวจเชื้อไวรัสนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวดทั้งก่อนเข้าประเทศและวันที่เดินทางมาถึงประเทศไทย และตรวจซ้ำหลังเข้ามาอยู่เกิน 5-6 วัน รวมทั้งมีประวัติการเดินทางในช่วง 1 เดือนโดยละเอียด
รายละเอียดเป็นเรื่องที่คณะทำงานต้องร่วมกันจัดทำในภายหลัง ประเด็นสำคัญของมาตรการที่ใช้คัดกรองนักท่องเที่ยว คือการควบคุมความเสี่ยงจากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะนำเชื้อไวรัสมาแพร่ในหมู่คนไทย สิ่งที่ต้องตกลงกันให้ได้ก่อนคือ ระดับความเสี่ยงที่สังคมยอมรับได้คือเท่าไร เช่น 5% หรือ 3% แต่คงไม่ใช่ 0% (เช่นกักตัวนาน 21 วัน) และรัฐต้องใช้มาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวอย่างไร จึงจะลดความเสี่ยงสู่ระดับที่ยอมรับได้
มาตรการที่สองคือ รัฐต้องลงทุนในเทคโนโลยีและระบบการติดตามตัวนักท่องเที่ยวตลอดเวลา (แบบตามเวลาจริง) รวมทั้งกรณีที่เกิดการระบาดขึ้น รัฐต้องมีระบบติดตามผู้ที่ติดต่อหรือสัมผัสกับนักท่องเที่ยวที่มีผลตรวจเป็นบวก (tracing) ที่รวดเร็วและครอบคลุม คณะทำงานจะต้องศึกษารายละเอียดของการลงทุนในระบบดังกล่าว การฝึกอบรมบุคลากรและการร่วมมือกับธุรกิจการท่องเที่ยว
มาตรการที่สามคือ การลงทุนเพิ่มเติมในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะจำนวนเตียงคนป่วย ห้องไอซียู โรงพยาบาล ศูนย์บริการตรวจวัดเชื้อโควิด-19 ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าหากเกิดการระบาดที่ไม่คาดหมายไว้ ไทยจะมีอุปกรณ์และเครื่องมือเพียงพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายได้ ข้อสังเกตคือที่ผ่านมาฝ่ายสาธารณสุขใช้เงินค่อนข้างน้อยมากแต่มีประสิทธิผลสูง รัฐบาลจัดสรรงบเงินกู้ให้ 45,000 ล้านบาท แต่ใช้ไปแค่ 1,677.3 ล้านบาท ดังนั้นรัฐสามารถนำเงินที่เหลือบางส่วนมาลงทุนเพิ่มศักยภาพการป้องกันและการรับมือกับการระบาดรอบใหม่ เพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้แรงงานจำนวนนับล้านๆ คนและธุรกิจได้
แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายในการตรวจเชื้อไวรัสรวมทั้งค่ารักษาพยาบาล (ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อ) ย่อมต้องเป็นค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว
มาตรการที่สี่คือ การสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องมาตรการป้องกันความเสี่ยง การขอความร่วมมือด้านต่างๆ จากประชาชน รวมทั้งควรจัดกระบวนการรับฟังสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมเสนอแนะและให้ข้อคิดเห็น
ก่อนที่จะนำเสนอนโยบายนี้ รัฐควรจัดให้มีการศึกษาความคุ้มค่าและประเมินความเสี่ยงของข้อเสนอชุดนี้ รวมทั้งการเสนอนโยบายทางเลือกที่สามารถช่วยแรงงานจำนวนหลายล้านคนและธุรกิจทั้งเล็กใหญ่นับแสนกิจการ โดยทีมศึกษาต้องประกอบไปด้วยนักระบาดวิทยา แพทย์ พยาบาล นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการทั้งเล็ก/ใหญ่ ตลอดจนแรงงานในภาคบริการ เป็นต้น
บทความโดย นิพนธ์ พัวพงศกร | คอลัมน์ บทความพิเศษ กรุงเทพธุรกิจ
|