รู้หรือไม่ กะหล่ำ คะน้า เคล บร็อคโคลี่ และดอกกะหล่ำ จริงๆ คือพืชชนิดเดียวกันทั้งหมด
ทุกวันนี้เทคโนโลยีด้านชีววิทยาก้าวไกลสุดๆ เราสามารถตัดต่อพันธุกรรมสร้างสิ่งแปลกๆ ได้เต็มไปหมด อย่างไรก็ดี ในความก้าวไกลนี้ มันอาจทำให้เราหลงลืม “ความมหัศจรรย์” ด้านเทคโนโลยีชีววิทยาของคนโบราณ อย่างการ “พัฒนาสายพันธุ์” สิ่งต่างๆ ในสมัยก่อน มนุษย์ไม่ได้มีความรู้ด้านชีววิทยา แต่มนุษย์ก็มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต มนุษย์ก็เลยทำการพัฒนาสายพันธุ์สิ่งต่างๆ ผ่านการเพาะพันธุ์ โดยการขยายจุดเด่นของสิ่งนั้นๆ ให้เด่นขึ้นอีก และผลผลิตอัน “มหัศจรรย์” ที่เราน่าจะคุ้นสุดของกระบวนการนี้ ก็คือหมาพันธุ์ต่างๆ ซึ่งคนสมัยก่อนโน้นที่ไม่มีความรู้วิทยาศาสตร์อะไรเลย สามารถเอาหมาป่าสีเทามาเพาะพันธุ์เป็นหมาหลายร้อยสายพันธุ์ทุกวันนี้ แค่คิดว่าหมาชิวาวาตัวเล็กกว่าแมว กับหมาธิเบธันมัสตีฟที่ตัวใหญ่ยิ่งกว่าหมาป่า นั้นจริงๆ แล้วคือสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์เดียวกัน ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี และนั่นเกิดมาจากเทคโนโลยีจากยุคโบราณอย่างการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ อย่างไรก็ดี “ความมหัศจรรย์” ด้านการพัฒนาสายพันธุ์มีแค่หมาเหรอ? คำตอบคือไม่ใช่ มีอีกเต็มไปหมด แต่สิ่งที่วันนี้เราอยากจะเอามาเล่าก็คือ ความมหัศจรรย์ในการพัฒนาพันธุ์พืช เราทุกคนเคยกินกะหล่ำปลี คะน้า บร็อคโคลี่ ดอกกะหล่ำ หรือใครที่ชอบกินสลัดผักฝรั่งก็คงเคยกิน เคล บรัสเซลสเปราท์ คอลลาร์ดกรีนส์ โคลราบี อยู่บ้าง เพราะผักพวกนี้ก็เป็นผักพื้นๆ ที่นำมาประกอบเป็นอาหารกันทั่วโลกตั้งแต่เขตร้อนยันเขตหนาว (อะไรจะมากจะน้อยก็แล้วแต่โซน) ถ้าเราจะบอกคุณว่าผักที่ว่ามาทั้งหมด จริงๆ คือผักชนิดเดียวกัน คุณจะเชื่อมั้ยครับ? แต่นั่นเป็นความจริงครับ เพราะผักที่ว่ามาทั้งหมด มีชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกันว่า Brassica oleracea เป็นพืชที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ทุกวันนี้ก็มีโดยมันมีชื่อว่า “มัสตาร์ดป่า” และหน้าตามันก็ไม่ได้เหมือนกับพวกผักที่ว่ามาเท่าไร เมื่อราวๆ 2,300 ปีก่อน คนก็กินผักชนิดนี้อยู่แล้ว แต่รู้สึกว่าใบมันน้อยกินไม่สะใจ ผลก็คือคนก็เอามันมาพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ให้ใบใหญ่ขึ้น โดยผลผลิตของกระบวนการนี้ ในยุโรปมันกลายมาเป็นเคล และคอลลาร์ดกรีน ส่วนในจีน มันกลายมาเป็นคะน้า วาร์ปไป 900 ปีก่อน คนยุโรปชอบกินส่วน “ปลายขั้ว” (Terminal Buds) หรือส่วนบนสุดของลำต้นของเคลกันมาก และรู้สึกว่ากินแล้วไม่สะใจ ก็เลยเอาเคลมาเพาะให้ปลายขั้วใหญ่ขั้น ผลที่ออกมาก็คือพืชที่เรารู้จักกันในนามกะหล่ำปลีในปัจจุบัน ซึ่งผักที่เกิดในยุคเดียวกับกะหล่ำปลีด้วยเหตุผลคล้ายๆ กันก็คือบรัสเซลสเปราท์ โดยมันเกิดในบริเวณที่เป็นประเทศเบลเยียมทุกวันนี้ (มันก็เลยได้ชื่อนี้) ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเลยว่าบรัสเซลสเปราท์มันมีหน้าตาเหมือนหัวกะหล่ำลูกเล็กๆ เพราะมันมีต้นกำเนิดเดียวกันนี่เอง ถัดมา 800 ปีก่อน คนไปชอบกินเคลในส่วนลำต้น แล้วรู้สึกว่าลำต้นมันเล็กไป เลยเพาะพันธุ์ให้ลำต้นใหญ่ขึ้น และผักที่เกิดจากกระบวนการนั้นก็คือโคลราบี ต่อมา 600 ปีก่อน คนชอบกินดอกของเคล ก็เลยพัฒนาสายพันธุ์ให้ดอกใหญ่ขึ้น ผลที่ได้มาก็คือบร็อคโคลี่ และสิ่งที่ตามมาติดๆ ก็คือดอกกะหล่ำ ซึ่งพัฒนามาจากบร็อคโคลี่อีกทีภายในไม่เกิน 100 ปี ซึ่งก็ไม่แปลกใจที่หน้าตามันคล้ายกัน และนี่แหละครับ 500 ปีก่อน “มัสตาร์ดป่า” ก็ได้กลายมาเป็นผักเกือบ 10 ชนิดที่เรากินมาทุกวันนี้ ซึ่งนี่ก็เรียกได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์ของภูมิปัญญาคนโบราณ สุดท้าย แถมอีกหน่อย คือจริงๆ ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง และหัวไชเท้า จริงๆ ก็เป็นพืชชนิดเดียวกันนะครับ โดยต้นกำเนิดมันคือญาติห่างๆ ของ “มัสตาร์ดป่า” ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Brassica rapa โดยมันก็มีประวัติคล้ายๆ กับการนำมัสตาร์ดมามาเพาะพันธุ์เป็นผักเกือบ 10 ชนิดที่ว่านี่แหละ คือมนุษย์ชอบกินส่วนไหน ก็เอามันมาเพาะพันธุ์ให้ส่วนนั้นเด่นขึ้น จะได้มีกินเยอะขึ้นต่อต้น
ข้อมูลจาก BrandThink |