โอริงามิ : จากเคล็ดวิชาสุดลับในชนชั้นสูงและซามูไร สู่ศิลปะการพับกระดาษที่ดังไกลทั่วโลก

วันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 2020 เป็นทั้งวันครบรอบวันเกิดปีที่ 109 และการจากไปปีที่ 15 ของอากิระ โยชิซาวะ (Akira Yoshizawa) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งโอริงามิสมัยใหม่”

โยชิซาวะ (ค.ศ. 1911-2005) เป็นผู้พัฒนาเทคนิคแบบใหม่ที่เรียกว่า การพับแบบเปียก (wet folding) เพื่อช่วยให้โมเดลเสมือนมีชีวิต เคล็ดลับอยู่ที่การทำให้กระดาษชื้นเล็กน้อยโดยการพรมน้ำลงไป หรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดไปด้วยในขณะพับ ทำให้สามารถจัดรูปทรงกระดาษได้ง่าย หรือแม้กระทั่ง “ปั้น” กระดาษให้อยู่ตัวได้อีกด้วย

นอกจากนี้เขายังได้ประดิษฐ์สัญลักษณ์แสดงวิธีการพับเพื่อให้คนส่วนใหญ่เข้าใจได้โดยไม่ต้องรู้ภาษาญี่ปุ่น ปัจจุบันสัญลักษณ์ โอริงามิ ของโยชิซาวะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยมีการดัดแปลงเพิ่มเติมเล็กน้อย เรียกว่า ระบบสัญลักษณ์โยชิซาวะ-แรนด์เล็ตต์ (Yoshizawa-Randlett system of notation) ซึ่งหนังสือพับกระดาษทั่วโลกต่างก็ใช้มาตรฐานดังกล่าวนี้

เพื่อรำลึกถึงปรมาจารย์แห่งโอริงามิสมัยใหม่ Sarakadee Lite ขอพาย้อนรอยการเดินทางของศิลปะการพับกระดาษหรือ โอริงามิ (origami) ก่อนที่ในปัจจุบันจะมีการนำคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์มาช่วยในการออกแบบโมเดลพับกระดาษให้มีรายละเอียดซับซ้อนสมจริง ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมที่ผสมผสานภูมิปัญญาโบราณกับวิทยาการสมัยใหม่

 

โอริงามิกับสัญลักษณ์ชนชั้นสูง

โอริงามิ มาจากภาษาญี่ปุ่น โดยนำคำ 2 คำมาเชื่อมกัน คือคำว่า “โอรุ” (oru) แปลว่า “พับ” และคำว่า “คามิ” (kami) แปลว่า “กระดาษ” นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า การพับกระดาษ น่าจะเกิดขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือห่อสิ่งของ และพับเพื่อใช้แสดงฐานะอันสูงส่งตั้งแต่สมัยเฮอัง (ค.ศ.794-1192)

 

นักประวัติศาสตร์พบร่องรอยการห่อชุดกิโมโนด้วยกระดาษเรียกว่า ทาโตงามิ (tatogami) แต่นักพับกระดาษในปัจจุบันถกเถียงกันว่า การห่อสิ่งของด้วยกระดาษที่มีราคาแพงในสมัยนั้นเข้าข่ายการพับกระดาษหรือไม่ หากยึดตามอาจารย์โอกามุระ มาซาโอะ (Okamura Masao) กูรูนักประวัติศาสตร์โอริงามิในวงการพับกระดาษญี่ปุ่น ก็ไม่ถือว่าการห่อสิ่งของเป็น โอริงามิ เพราะวัตถุประสงค์ของการห่อมุ่งการใช้กระดาษแทนผ้า อีกทั้งในการห่อไม่เน้นการรีดกระดาษให้เกิดรอยอย่างที่ควรมีในการพับกระดาษ

 

ในอดีต การพับกระดาษ เป็นเคล็ดวิชาที่จะถ่ายทอดกันเฉพาะในเหล่าตระกูลชั้นสูงหรือตระกูลซามูไรบางตระกูลเท่านั้น ด้วยเหตุนี้การพับกระดาษจึงถูกเก็บงำเป็นความลับ ทำให้ไม่พบหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอันใดๆ ก่อนสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-1867)

 

กำเนิดหนังสือโอริงามิเล่มแรกของโลกในสมัยเอโดะ 

ในสมัยเอโดะซึ่งเป็นยุคทองของญี่ปุ่น กระดาษเริ่มมีราคาถูกลงทำให้การพับกระดาษเป็นที่แพร่หลายในหมู่ชนชั้นกลางมากขึ้น จนเกิดหนังสือเกี่ยวกับการพับกระดาษเล่มแรกของโลกในปี ค.ศ. 1764 ชื่อ “สึสึมิ-โนะ คิ” (Tsutsumi-no Ki) หรือ “วิธีการห่อ” โดย อิเซะ ซาดาทาเกะ (Ise Sadatake) ซึ่งสอนวิธีพับสิ่งของที่ใช้ในงานพิธีต่างๆ เช่น ของประดับบนกล่องของขวัญ

อย่างไรก็ตามหนังสือเล่มนี้ยังมีกฎเกณฑ์ทางประเพณีโบราณเป็นกรอบกำหนดอยู่มาก ทำให้หนังสือสอนวิธีการพับกระดาษเล่มที่ 2 ในปี ค.ศ. 1797 ชื่อ “เซ็มบาซุรุ โอริกาตะ” (Sembazuru Orikata) หรือ “วิธีพับนกกระเรียนพันตัว” ได้รับความนิยมมากกว่า หนังสือเล่มนี้เขียนโดยพระชื่อ กิโดะ โระโกะอัน (Gido Rokoan) ซึ่งไม่ได้สอนเพียงการพับนกกระเรียนธรรมดาๆ เท่านั้น แต่ยังสอนเทคนิคพลิกแพลงการพับนกกระเรียนได้ถึง 49 แบบ เช่น นกกระเรียน 2-3 ตัวติดกัน นกกระเรียนซ้อนกัน 5 ชั้น นกกระเรียน 9 ตัว บินเป็นฝูง ไปจนถึงนกกระเรียน 45 ตัวติดกัน ซึ่งทั้งหมดนี้พับจากกระดาษแผ่นเดียวโดยไม่ใช้กาว แต่อาศัยการตัดกระดาษช่วยเพียงเล็กน้อย

เทคนิคการพับในลักษณะนี้ได้รับความนิยมเรื่อยมาถึงปัจจุบัน เรียกว่า การพับกระดาษสไตล์โระโกะอัน (Rokoan’s style) เพราะนอกจากจะแสดงวิธีพับนกอันพิสดารล้ำยุคแล้ว ผู้แต่งยังใช้แผนภาพรูปแบบรอยพับ (Crease Pattern หรือ CP) ในการนำเสนออีกด้วย

 

โยชิซาวะผู้คิดค้นสัญลักษณ์โอริงามิสากล

การพับกระดาษในญี่ปุ่นเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมากในสมัยโชวะ (ค.ศ.1926-1989) เมื่อนักพับกระดาษยากจนคนหนึ่งชื่อ อากิระ โยชิซาวะ (Akira Yoshizawa) ได้ทำให้วงการ การพับกระดาษ ของญี่ปุ่นตื่นตัวขึ้นอีกครั้ง โดยได้นำเสนอแบบพับใหม่ๆ ที่สวยงามและดูมีชีวิตมากกว่าการพับแบบก่อนๆ หนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงของเขาคือ งานพับ 12 นักษัตร ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร Asahi Graph เดือนมกราคม ค.ศ. 1952

นอกจากคิดค้นเทคนิคการพับแบบเปียกที่ช่วยให้การพับง่ายขึ้นและสามารถดัดกระดาษให้อ่อนช้อยพลิ้วไหว ก่อให้เกิดโมเดลเสมือนมีชีวิตแล้ว มรดกชิ้นสำคัญของโยชิซาวะคือสัญลักษณ์โอริงามิสากลที่ในปัจจุบันเรียกว่า ระบบสัญลักษณ์โยชิซาวะ-แรนด์เล็ตต์ (Yoshizawa-Randlett system of notation) 

เขาเสนอระบบเส้นประและลูกศรที่ใช้ในการอธิบายแบบพับโอริงามิให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับจากนักพับกระดาษทั่วโลก เนื่องจากผู้สนใจโอริงามิสามารถอ่านแบบพับได้โดยไม่ต้องเข้าใจภาษาญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักพับกระดาษทั่วโลกได้สะดวก ไม่ต้องเสียเวลาศึกษาสัญลักษณ์ของนักพับกระดาษแต่ละคนที่มักแตกต่างกัน

มีผู้ยกย่องทักษะ การพับกระดาษ ของโยชิซาวะว่า “หากคุณให้เขาพับไก่ คุณแทบจะได้ยินเสียงไก่ขันอยู่ทีเดียว แม้คุณจะไม่เห็นขนของมันเลยสักเส้น” เพราะผลงานของเขาไม่ได้เน้น “ความสมจริง” แต่เน้นการแสดงออกถึง “ชีวิตที่สัมผัสได้จริง”

หนังสือเล่มแรกของโยชิซาวะชื่อ “ศิลปะโอริงามิแบบใหม่” (Atarashii Origami Geijutsu) ได้รับการตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1954 และดังข้ามทวีปจนนักวิจัยโอริงามิชื่อ เกอร์ชอน เลกแมน (Gershon Legman) ที่ฝรั่งเศส ติดต่อให้เขานำผลงานมาจัดแสดงที่ยุโรป ในที่สุดโยชิซาวะได้ส่งผลงานกว่า 300 ชิ้น ไปร่วมแสดงในนิทรรศการโอริงามิซึ่งจัดที่พิพิธภัณฑ์ Stedelijk ณ เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อ ค.ศ. 1955

งานนี้นับเป็นการแจ้งเกิดของยอดนักพับกระดาษจากญี่ปุ่นในเวทีโลก และก่อให้เกิดชมรมและสมาคมเกี่ยวกับโอริงามิขึ้นมากมายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Origami USA, British Origami Society, Nippon Origami Association และ Japan Origami Academic Society เป็นต้น

 

การพับกระดาษในยุโรปกับการพัฒนาเด็กในโรงเรียนอนุบาล

ทางฝั่งตะวันตก การพับกระดาษรุ่งเรืองมากในประเทศสเปน เชื่อกันว่าเป็นมรดกจากพวกมัวร์ (Moore) ซึ่งเป็นกลุ่มชนมุสลิมแถบแอฟริกาตอนเหนือที่เข้ามารุกรานสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และเนื่องจากศาสนาอิสลามบัญญัติห้ามสร้างศิลปะรูปสัตว์ การพับกระดาษในระยะแรกๆ จึงมีลักษณะเป็นรูปทรงเรขาคณิต แบบพับกระดาษชื่อ “ปาคารีตา” (คำว่า pajarita ในภาษาสเปนหมายถึงนกตัวเล็กๆ) เป็นแบบพับรูปร่างคล้ายนกที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวยุโรป

 

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 มีการบรรจุการพับกระดาษไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาจิตใจและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ แนวคิดนี้ เป็นของ ฟรีดริช เฟรอเบิล (Friedrich Froebel) ครูชาวเยอรมัน ผู้ริเริ่มโรงเรียนอนุบาลแห่งแรกของโลก 

 

ข้อมูลจาก : นิตยสารสารคดี ฉบับเดือนมกราคม 2553

 

 

 

Visitors: 1,405,369