ถ้าคุณคือคนอายุ 40-50 ปี คุณคือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสังคมผู้สูงวัยที่แก่ก่อนรวย

ถ้าคุณคือคนอายุ 40-50 ปี คุณคือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสังคมผู้สูงวัย ตอนนี้ประเทศไทยเป็นประเทศ "แก่ก่อนรวย" ไปแล้ว
 
 
ในยุคที่เราเข้าถึงข้อมูลความรู้ในการวางแผนทางการเงินได้มากขึ้น ทำให้เราทราบกันดีว่าหากเราคือ คนวัยทำงานอายุ 40+ เราจะเป็นคลื่นคนกลุ่มใหญ่ที่จะเข้าสู่วันเกษียณโดยต้องพึ่งพาตัวเอง
 
บทความนี้จะมาขยายความเข้าใจในเรื่องนี้กันค่ะ ว่ามันสำคัญขนาดไหนที่เราต้องเร่งออมเงิน เพื่อเตรียมเข้าสู่วัยเกษียณ ยิ่งตระหนัก รู้ตัวเร็ว ยิ่งเตรียมตัวเร็ว ยิ่งมีโอกาสรอดค่ะ
 
สาเหตุที่เราต้องเตรียมเงินเกษียณด้วยตนเอง เนื่องมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้
 
1. จากการสำรวจปัจจุบันแหล่งรายได้ผู้สูงวัยมาจากลูกหลานเป็นหลัก
• บุตร 36.7% 
• รายได้จากการทำงานของผู้สูงอายุเอง 33.9% 
• เบี้ยยังชีพจากราชการ 14.8% 
• เงินบำเหน็จบำนาญ 4.9% 
• จากคู่สมรส 4.3% 
• ดอกเบี้ยเงินออม และการขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ 3.9% 
• รายได้จากทางอื่น ๆ อีก 1.5%
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
แต่อีก 10-20 ปีข้างหน้า เราคงไม่สามารถพึ่งพาลูกหลานเป็นหลักได้อีก ทั้งจากปัจจัยของการไม่มีลูก หรือ มีลูกแต่ลูกก็ยังลำบากในการพึ่งพาตัวเอง
 
2. มีข้อมูลว่า คนวัยทำงาน 40 ล้านคนในประชากร 70 ล้านคนในเวลานี้ มีการเตรียมเงินบำนาญในระบบเพียงแค่ 15 ล้านคน ดังภาพ
ขอบคุณข้อมูลจาก ดร.กฤษฎา เสกตระกูล
 
ใน 15 ล้านคนนี้ คนกลุ่มใหญ่ 13.88 ล้านคน คือ สมาชิกประกันสังคม ซึ่งอาจจะลาออกจากประกันสังคมก่อนวัยเกษียณได้ ถ้าลาออกจากงาน หรือ ถูกให้ออกจากงาน และไม่ได้สมัครต่อในมาตรา 39
 
นั่นแปลว่าคนกลุ่มใหญ่ อีก 25 ล้านคน ไม่ได้มีการออมเงินในระบบบำนาญ (ซึ่งอาจจะมีการทำประกันบำนาญอยู่บ้าง แต่ไม่ได้มีการรวบรวมข้อมูลในส่วนนั้น)
 
ถึงแม้ว่าจะมีการเตรียมออมเงินไว้ในวิธีอื่นๆ เช่นการซื้ออสังหาเก็บไว้ หรือลงทุนในธุรกิจ แต่ก็อาจมีความไม่แน่นอนว่าจะมีกระแสเงินสดใช้ในช่วงวัยเกษียณหรือไม่ เพราะอาจจะดึงเงินเหล่านั้นมาใช้จ่ายหมดไปก่อนวัยเกษียณได้
 
ไม่เหมือนกับการเตรียมเงินออมโดยตรงในระบบบำนาญ ที่จะรับเงินออกมาใช้ในช่วงเกษียณเท่านั้น
 
 
3. โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป กลายเป็นสังคมคนแก่ ประชากรวัยทำงานที่จะเสียภาษีให้รัฐมาดูแล ผู้สูงวัยในเวลานั้น ไม่เพียงพอแน่นอน 
 
ขอบคุณข้อมูลจาก The Secret Sauce The Standard
 
ในปี 2030 คือ อีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรกลุ่มเกษียณและเตรียมเกษียณ จะมีจำนวนถึง 30 ล้านคน ในขณะที่ประชากรวัยทำงาน ช่วงอายุ 30-40 ปีที่จะเป็นหลักในการเสียภาษี มีเพียง 14 ล้านคนเท่านั้น
 
ขอบคุณข้อมูลจาก The Secret Sauce The Standard
 
จากข้อมูลวิจัยของ SES,KKP Research ค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณมีแนวโน้มลดลงกว่าวัยทำงาน ซึ่งหลายคนก็คิดว่า วัยเกษียณเราคงลดการใช้จ่ายลงเพราะไม่ต้องออกไปข้างนอก หรือ เข้าสังคมบ่อยนัก ซึ่งหากเรายังเป็นคนที่แข็งแรง และยังสนุกสนานกับการติดตาม social เรายังมีกิจกรรมทางสังคมต่างๆ รวมถึงอาหารเสริม และสิ่งบำรุงความดูดีของร่างกาย ค่าใช้จ่ายที่ลดลงนั้นก็ไม่มากเลยนะคะ อย่างน้อยสำหรับคนอายุ 50-64 ปี ในเวลานี้คือ 21,070 บาท เลยทีเดียว
 
มาถึงตรงนี้ถ้าเราจะเริ่มวางแผนการออมเพื่อเกษียณให้มากขึ้น มาเริ่มต้นง่ายๆลงมือทำได้ทันทีค่ะ
1.ปรับลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยต่างๆลง อันนี้เป็น life style ส่วนบุคคลนะคะ ชั่งน้ำหนักดูว่าจะใช้จ่ายตอนนี้ หรือ อยากสบายตอนแก่ค่ะ
 
2.เมื่อเหลือเงินออมที่มากขึ้น ควรแบ่งไปทำประกันบำนาญเพิ่ม เพราะเป็นเครื่องมือในการเตรียมเงินเกษียณที่เป็นระบบ ทำได้ทันทีไม่ตัองอิงกับการทำงานในองค์กรไหน ผลตอบแทนเฉลี่ยอิงเรตตราสารหนี้ ไม่มากไม่น้อยแต่ปลอดภัยแน่นอนค่ะ
 
3.นำเงินออมที่ออมเพิ่มได้มาลงทุนในแผนการลงทุน ที่รับความเสี่ยงได้มากขึ้น เพราะเป็นแผนระยะยาวเพื่อการเกษียณ สำหรับผู้เริ่มต้นถ้ายังไม่มีความรู้สามารถเริ่มที่กองทุนรวมก่อนได้ค่ะ
 
4.ความรู้เรื่องการลงทุน ควรศึกษาติดตามเอาไว้ตั้งแต่วัยทำงานนะคะ เพราะเมื่อถึงวัยเกษียณเรายังต้องพึ่งพาผลตอบแทนการลงทุนอยู่ การฝากธนาคารเฉยๆเพื่อรับดอกเบี้ย ไม่เพียงพออีกต่อไปค่ะ
 
5.มองหาอาชีพเสริมที่ทำได้ตั้งแต่ตอนนี้ และมองเผื่อยาวๆด้วยว่างานอะไรสามารถทำได้ถึงแม้จะเป็นวัยเกษียณ เพราะเราจำเป็นต้องมีรายได้ให้นานที่สุดค่ะ
 
6.สำคัญที่สุด คือ ดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ ให้แข็งแรงนะคะ รวมถึงดูแลความสัมพันธ์อันมีค่ากับคนรอบข้างให้ดีค่ะ ข้อนี้คือพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขค่ะ
 
บทความโดย : พิชญาภัฐฐ์ AFPT
Visitors: 1,429,849