วัคซีนป้องกันโควิดของ Pfizer ดีจริงหรือไม่ ทำไม CEO ขายหุ้นทิ้งทันที แล้วไทยจะมีโอกาสได้ใช้มั้ย

วัคซีนป้องกันโควิดของ Pfizer ดีจริงหรือไม่ ทำไม CEO ขายหุ้นทิ้งทันที แล้วไทยจะมีโอกาสได้ใช้มั้ย?
 
 
ตื่นเต้นกันไปทั่วโลก จากข่าววัคซีนบริษัทไฟเซอร์มีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ถึง 90% เรื่องนี้มีความจริงมากน้อยแค่ไหน ถ้าจริงแล้วทำไมผู้บริหารระดับสูงของไฟเซอร์ จึงรีบเทขายหุ้นทิ้งทันที ไม่ถือหุ้นรอไว้จนบริษัทขายวัคซีนร่ำรวยในอนาคตอันใกล้นี้ เราลองมาค่อยค่อยคลี่ข้อมูลต่างๆกันดูนะครับ
 
 
1) วัคซีนป้องกันได้ 90% แปลว่าอะไร?
แปลว่าถ้ามีคนที่ได้รับวัคซีน 100 คน เมื่อไปเจอเชื้อไวรัสจะต้องป้องกันสำเร็จไม่ติดเชื้อ 90 คน มีเพียง 10 คนเท่านั้นที่ติดเชื้อ
แล้ววัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ ที่ว่าป้องกันได้ 90%
 
มีจำนวนอาสาสมัครที่ได้รับการฉีดวัคซีนเท่าไหร่และการป้องกันเป็นอย่างไร
มีการฉีดวัคซีนครบสองเข็ม และสามารถประเมินได้ในอาสาสมัคร 39,000 คน จากจำนวนนี้ปรากฏว่ามีการติดเชื้อโควิดไปแล้ว 94 คน
และในผู้ที่ติดโควิด 94 คนนี้ วิเคราะห์แล้วพบว่า 90% อยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนจริงคือ ได้รับยาหลอก(Placebo) มี 10% ที่ได้วัคซีนจริง อันนี้ถือว่าป้องกันได้ 90%
 
แล้วตัวเลขแค่ไหน ที่วงการแพทย์จะยอมรับว่าเป็นจุดยุติการสรุปประสิทธิภาพวัคซีน 90%
สรุปว่า จะต้องมีจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 164 คน
 
ดังนั้นวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์จึงยังไม่ใช่จุดยุติสุดท้าย จะต้องตามเพิ่มอีก 70 คน ที่จะทยอยติดเชื้อมา ซึ่งเมื่อตามจนครบ 164 คนแล้ว จำนวนผู้ที่ติดเชื้อแต่ได้รับวัคซีนจริง อาจจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง ทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันโรคเปลี่ยนแปลงไปจาก 90% ได้
อันนี้อาจเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ผู้บริหารระดับสูงของไฟเซอร์ต้องการลดความเสี่ยง จึงขายหุ้นทิ้งไปก่อน เพื่อทำกำไรชัวร์ๆ ไม่ต้องมาลุ้น
 
 
2) วัคซีนที่จะสามารถใช้ป้องกันโรคได้จริง ควรจะมีประสิทธิภาพอย่างไร
ถ้าเป็นเหตุการณ์ปกติทั่วไป วัคซีนควรจะป้องกันโรคได้ 70%
 
แต่ในกรณี โควิด-19 ซึ่งมีการติดเชื้อมากคือเกิน 50 ล้านคน และเสียชีวิตพอสมควรคือเกิน 1 ล้านคน ถ้าประสิทธิภาพการป้องกันของวัคซีนได้มากกว่า 50% ก็ยอมรับได้
 
แต่เป็นการยอมรับแบบใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน(Emergency Used Authorization) และจะต้องติดตามต่อไปถึงเรื่องความปลอดภัยด้วยอย่างน้อย 1-2 ปี
 
3) ที่มีข่าวว่า การเก็บรักษาวัคซีนยากจริงไหม
ข่าวในช่วงแรกออกมาว่า วัคซีนนี้เป็นเทคโนโลยี mRNA จะต้องเก็บที่ -80 องศาเซลเซียส และทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า ประเทศต่างๆจะเข้าถึงวัคซีนยาก
 
เพราะตู้เย็นที่เก็บแบบอุณหภูมิ -80 องศาเซลเซียสหาได้ยากและมีราคาแพง แต่ข้อเท็จจริงแล้ว การเก็บวัคซีนที่ -20 องศาเซลเซียส ก็สามารถเก็บวัคซีนได้นานถึงหกเดือน ซึ่งเพียงพอสำหรับการกระจายวัคซีนออกไปฉีดให้กับประชาชน ซึ่งประเทศไทยเราก็พอจะมีตู้เย็นอย่างนี้ครบทุกภูมิภาค
 
ส่วนการเก็บวัคซีนในตู้เย็นธรรมดา 2-8 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 3-7 วันกำลังมีการพูดถึงเทคนิคทำวัคซีนให้เป็นผงแห้งซึ่งจะเก็บได้นานถึงสามปี และไม่ต้องใช้ตู้เย็น จึงทำให้ความวิตกกังวลเรื่องการเก็บรักษาวัคซีนที่ว่ายาก น่าจะเบาใจได้ในระดับหนึ่ง
 
4) ราคาเป็นอย่างไรบ้าง แพงมากน้อยแค่ไหน
ในเบื้องต้นที่จะมีการขายคือเข็มละ 20 เหรียญสหรัฐ ต้องฉีดคนละสองเข็มเป็นเงิน 40 เหรียญ หรือประมาณ 1200 บาท(ยังไม่รวมค่าขนส่งและการเก็บรักษา) ถ้าไทยเราจะฉีดให้สามารถควบคุมการระบาดได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะต้องฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
คือฉีดประชากรจำนวน 60% ของ 70 ล้านคน หรือ 42 ล้านคน คนละสองเข็มก็คือ 84 ล้านเข็ม เป็นเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท
 
5) แล้วไทยจะมีโอกาสได้รับวัคซีนจำนวนมากมาฉีดให้ประชากรดังกล่าวเมื่อไหร่
ถ้าดูตัวเลขชาติที่ร่ำรวยและมีความพร้อมที่จะสูญเงินเปล่า ถ้าวัคซีนไม่สำเร็จ ได้จองล่วงหน้ากันไปหลายประเทศแล้วประกอบด้วย
สหรัฐอเมริกา 100 ล้านเข็ม
ญี่ปุ่น 120 ล้านเข็ม
สหภาพยุโรป 300 ล้านเข็ม
ในขณะที่กำลังการผลิตของไฟเซอร์ บอกว่าผลิตอย่างเต็มที่ปลายปีนี้ได้แค่ 50 ล้านเข็ม ไทยจึงจะยังไม่มีโอกาสได้วัคซีนในต้นปีหน้า แม้จะมีเงินซื้อก็ตาม เพราะต้องไปต่อคิวประเทศอื่นๆที่จ่ายมัดจำล่วงหน้า ส่วนถ้ามีคำถามว่า ทำไมไทยเราไม่จองด้วย เหตุผลคือการจองแบบนี้ถ้าวัคซีนไม่สำเร็จ จะไม่ได้รับเงินมัดจำคืน ต้องสูญเสียเงินไปนับพันล้านบาท ประเทศไทยเราไม่รวยขนาดนั้น
 
6) วัคซีนที่จะทยอยส่งได้ใกล้เคียงกับไฟเซอร์มีอะไรอีกบ้าง
 
มีอีกสี่ห้าบริษัทครับคือ
 
บริษัท Moderna
บริษัท AstraZeneca
บริษัท Johnson & Johnson
บริษัท Sinovac ของจีน
บริษัท Sinopharm ของจีน
 
7) ความหวังของไทยเป็นอย่างไรบ้าง
ความหวังของประเทศไทย อยู่ที่บริษัท AstraZeneca ที่เราได้ลงนามกับทางบริษัทไปแล้ว เป็นการลงนามที่ไม่ต้องวางมัดจำมากมายเหมือนของบริษัทไฟเซอร์ เพราะเรามีความพร้อมที่จะผลิตวัคซีนเองได้ โดยบริษัทสยามไบโอซายน์
 
เราจะรับเทคโนโลยีมาผลิตเอง ทำให้ลดราคาจากเข็มละ 20 เหรียญ เหลือเพียง 5 เหรียญ เป็นความหวังของไทยที่จะต้องช่วยกันลุ้นให้บริษัท AstraZeneca ทำสำเร็จ เราก็จะมีวัคซีนเริ่มได้กลางปีหน้าเป็นต้นไปครับ
 
 
Reference
กมธ. การสาธารณสุข วุฒิสภา
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม
 
ขอบคุณที่มา : ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย
Visitors: 1,427,746