กรุงไทย พ้นสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา
กรุงไทย พ้นสถานะการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา
ธนาคารกรุงไทย หรือ บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ส่งเอกสารรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยชี้แจงว่า ธนาคารกรุงไทย “ไม่มีลักษณะเป็นรัฐวิสาหกิจ” ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา
โดยในเอกสารฉบับดังกล่าว มีใจความสำคัญสรุปได้ว่า
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งผลการพิจารณา ว่า บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไม่มีลักษณะเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ตาม (2) และ (3) ของบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของธนาคารกรุงไทยตามความเห็นข้างต้น อาจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารและต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจหลายฉบับ
ทั้งนี้ธนาคารกรุงไทยอยู่ในระหว่างการพิจารณาถึงผลกระทบด้านต่างๆ ซึ่งหากมีความชัดเจนแล้ว จะแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป
ที่น่าสนใจคือ ธนาคารกรุงไทยได้แจ้งว่าหลังจากการศึกษาความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของธนาคาร สรุปได้ว่า “ผู้บริหารสูงสุด ตลอดจนพนักงานของธนาคาร ไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518”
ทั้งนี้ สาระสำคัญของ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 คือ
“คำนิยาม” รัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
“รัฐวิสาหกิจ” หมายความว่า
(1)องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งขึ้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
(2)บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ
(3)บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตาม (1) หรือ (2) หรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) และ (2) หรือที่รัฐวิสาหกิจตาม (2) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ
ประเด็นของเรื่องนี้คือ ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของ ธนาคารกรุงไทย คือ กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งถือหุ้นอยู่จำนวน 55.07% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
ซึ่งผลที่ออกมาเช่นนี้จากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็แสดงว่า กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกิน 50% ในบริษัทธนาคารกรุงไทย มีสถานะ "ไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ"
ก็เลยทำให้ ธนาคารกรุงไทย ไม่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามไปด้วย นั่นเอง..
|