รู้จัก ธนพิริยะ จากร้านแผงลอย สู่ร้านค้าปลีกมูลค่า 2,000 ล้าน

รู้จัก “ธนพิริยะ” จากร้านแผงลอย สู่ร้านค้าปลีกมูลค่า 2,000 ล้าน
 
ถ้าพูดถึงธุรกิจซูเปอร์มาร์เกต หรือไฮเปอร์มาร์เกต ที่มีชื่อเสียง โดยทั่วไปแล้วหลายคนอาจนึกถึง เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่รู้ไหมว่า ในภาคเหนือ มีอีกแบรนด์ซูเปอร์มาร์เกตที่เป็นที่นิยม นั่นก็คือ “ธนพิริยะ”
 
ที่น่าสนใจคือ ธนพิริยะ มีจุดเริ่มต้นมาจากร้านค้าแผงลอย แต่วันนี้ซูเปอร์มาร์เกตแห่งนี้มีมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านบาท เรื่องนี้เป็นอย่างไร 
 
จุดเริ่มต้นของธนพิริยะ เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2508
ครอบครัวพุฒิพิริยะ ได้ก่อตั้งร้านขายของชำแผงลอยในเทศบาลเชียงรายโดยใช้ชื่อว่า “โง้วทองชัย”
 
 
โดยจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจครอบครัวนี้ มาจาก คุณธวัชชัย พุฒิพิริยะ
คุณธวัชชัย เป็นทายาทรุ่นที่สองของครอบครัว ที่เห็นการทำธุรกิจค้าขายมาตั้งแต่ยังเด็ก
ต่อมา คุณธวัชชัย มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ และสังเกตเห็นว่าในช่วงนั้น เริ่มมีธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งสมัยใหม่เข้ามาเปิดสาขาในไทย เช่น 7-11 และห้างค้าส่งแม็คโคร ซึ่งทั้ง 2 บริษัทเริ่มเปิดสาขาแรกในช่วงปี พ.ศ. 2531-2532
 
เรื่องนี้ทำให้ คุณธวัชชัยคิดว่า ในอนาคตธุรกิจลักษณะนี้จะต้องเป็นที่นิยมในต่างจังหวัดด้วยอย่างแน่นอนและที่สำคัญคือ ช่วงนั้นธุรกิจค้าปลีกในต่างจังหวัด ยังไม่ค่อยมีรายใหญ่เจาะตลาดมากนัก เพราะฉะนั้นถ้ารีบเริ่มทำธุรกิจลักษณะนี้ในเชียงรายบ้านเกิดตนเอง ก็คงมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูง
 
เมื่อคุณธวัชชัย ศึกษาจบ ก็ได้แต่งงานกับ คุณอมร พุฒิพิริยะ และทั้งคู่ก็เริ่มต้นธุรกิจร้านค้าในจังหวัดเชียงราย โดยในช่วงแรก ทั้งคู่เริ่มจากการเปิดร้านค้าส่งก่อน เพราะต้องการเน้นการขายในปริมาณมาก ก่อนที่จะเริ่มมาทำธุรกิจค้าปลีกเพื่อให้สามารถสร้างกำไรได้มากขึ้น
 
ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ทั้งคู่ได้เริ่มปรับปรุงร้านค้าและตกแต่งร้านให้ดูทันสมัย และเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “พิริยะซุปเปอร์”
พิริยะมินิมาร์ท เริ่มเติบโตและเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ในเชียงราย และเริ่มขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น
 
จนในปี พ.ศ. 2558 ก็ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI ด้วยชื่อว่า “บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน)”
ปัจจุบัน ธุรกิจของธนพิริยะประกอบไปด้วยธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีสาขารวมกันทั้งสิ้น 28 สาขา แบ่งออกเป็นซูเปอร์มาร์เกต 27 สาขา และศูนย์ค้าส่ง 1 สาขา
 
ที่น่าสนใจคือ สาขาของธนพิริยะ ตั้งอยู่ในจังหวัดเพียง 3 จังหวัดในภาคเหนือเท่านั้น ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย 23 สาขา จังหวัดพะเยา 4 สาขา และจังหวัดเชียงใหม่ 1 สาขา
 
Cr. Techsauce
 
โดยในปี พ.ศ. 2562 รายได้ของธนพิริยะมาจากธุรกิจค้าปลีก 93% และธุรกิจค้าส่งอีก 7%
ผลประกอบการของ บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน)
ปี พ.ศ. 2560 รายได้ 1,607 ล้านบาท กำไร 61 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2561 รายได้ 1,780 ล้านบาท กำไร 65 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2562 รายได้ 1,965 ล้านบาท กำไร 89 ล้านบาท
 
จะสังเกตว่า รายได้ของธนพิริยะ มาจากจังหวัดเชียงรายเป็นหลัก เพราะฉะนั้น ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของธนพิริยะ ก็คงหนีไม่พ้นการเติบโตของเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย
 
ทั้งการเติบโตของรายได้ของชาวเชียงราย, จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือน และการเติบโตของการค้าตามแนวชายแดน เนื่องจากเชียงรายมีพื้นที่ชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว และ พม่า
 
และก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อบริษัทขยายสาขาไปยังจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจาก 3 จังหวัดนี้ จะสร้างความสำเร็จได้อีกมากน้อยแค่ไหน
เรื่องราวความเป็นมาของธนพิริยะ ก็เป็นกรณีศึกษาที่ดีเรื่องหนึ่งที่บอกเราว่า
 
การสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว และมองให้ออกว่า เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคืออะไร ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากในการเริ่มต้นทำธุรกิจ
และไม่ว่าธุรกิจของเราจะตั้งอยู่ที่ไหน ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด
 
ถ้าสินค้าและบริการของเราสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในพื้นที่นั้นๆ ได้ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จเหมือนที่ธนพิริยะทำได้ ในวันนี้..
 
Cr. ผู้จัดการออนไลน์
 
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ รู้หรือไม่ว่า ขณะที่หลายธุรกิจกำลังเจอความท้าทายมากมายในปีนี้ สะท้อนได้จาก SET Index นับจากปลายปีที่แล้ว ลดลงมาแล้วถึง 24% แต่สำหรับธนพิริยะนั้นกลับกัน ปัจจุบัน มูลค่าบริษัทของธนพิริยะบริษัทเท่ากับ 2,816 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ถึง 60% เลยทีเดียว
 
หมายเหตุ : บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นตัวนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
 
References
-แบบฟอร์ม 56-1 ปี 2562, บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน)
 
ที่มา : ลงทุนแมน
Visitors: 1,213,561