ปัญหาโลกร้อนในมือว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ : ทรัมป์ vs ไบเดน

ปัญหาโลกร้อนในมือว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ : ทรัมป์ vs ไบเดน
 
เมื่อความแตกต่างในนโยบายปัญหาโลกร้อนของนายทรัมป์ และ ไบเดน ส่งผลต่อนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ
 
ปัญหาโลกร้อนในมือว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ : ทรัมป์ vs ไบเดน
 
ในการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปีนี้ ประเด็นหาเสียงหนึ่งที่แตกต่างกันยิ่งระหว่างประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ แห่งพรรคริพับลิกัน และคู่ชิง ‘นายโจ ไบเดน’ แห่งพรรคเดโมแครต คือนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มุมมองและมาตรการรับมือปัญหาโลกร้อน ตลอดจนเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
 
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามีความสำคัญ เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ ทิศทางนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ย่อมส่งผลต่อนโยบายของประเทศอื่นๆ ทั้งส่งผลต่อความจริงจังในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งผลต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของทั้งโลก
 
ในประเด็นใหญ่สุด เรื่องโลกร้อน ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศต่อสาธารณะเสมอว่าโลกร้อนเป็นเรื่องเหลวไหล หลังนายทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้ประกาศถอนตัวจากความตกลงปารีสปี 2015 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ 195 ประเทศเซ็นความตกลงกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ
 
ขณะที่นายไบเดนหาเสียงว่า โลกร้อนเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน หากได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี จะนำสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมความตกลงปารีส และจัดประชุมร่วมผู้นำจากประเทศต่างๆ เพื่อกำหนดเป้าหมายให้จริงจังขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
 
ความแตกต่างในนโยบายปัญหาโลกร้อนของนายทรัมป์และไบเดน ส่งผลต่อนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น นโยบายด้านพลังงาน ที่นายทรัมป์ไม่สนับสนุนพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาด แต่สนับสนุนพลังงานจากแก๊สและถ่านหิน ขณะที่นายไปเดน สนับสนุนพลังงานสะอาด ตั้งเป้าผลักดันให้สหรัฐฯ บรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ภายใน 2050 และเสนอให้จำกัดการให้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันและแก๊สบนที่ดินของรัฐ นอกจากนี้ยังตั้งเป้าลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดมูลค่าถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 4 ปีข้างหน้า เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ขนส่ง รถยนต์ ที่อยู่อาศัยและสิ่งก่อสร้าง
 
ตามแผนของไบเดนในการจัดการปัญหาโลกร้อน ไบเดนตั้งใจใช้มาตรการผสมผสานทั้ง มาตรการทางภาษี งบประมาณจากรัฐบาลกลาง ระเบียบกติกาต่างๆ และนโยบายด้านการต่างประเทศ
 
หรืออย่างนโยบายต่อพื้นที่ราบชายฝั่งของเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอาร์กติก (Arctic National Wildlife Refuge - ANWR) ในรัฐอะแลสกา ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ที่นายทรัมป์มุ่งมั่นเปิดสัมปทานให้ขุดเจาะน้ำมันได้ ซึ่งคาดว่าเป็นบริเวณที่มีน้ำมันดิบสะสมจำนวนมาก ขณะที่ไบเดนยืนยันว่าจะปกป้องพื้นที่ ANWR จากธุรกิจพลังงาน
 
ในแง่นโยบายต่อโลกร้อน นอกจากทรัมป์จะไม่เคยมีนโยบายหรือแสดงความสนใจต่อปัญหาแล้ว ยังสนับสนุนธุรกิจถ่านหิน โดยลดระเบียบหรือกติกาที่ควบคุมการใช้ถ่านหิน สนับสนุนโครงการวางท่อส่งก๊าซขนาดใหญ่ สนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงจากฟอซซิล ซึ่งตรงข้ามกับนายไบเดนที่เน้นควบคุมหรือลดการพัฒนาพลังงานสกปรก ทั้งฟอซซิลและถ่านหิน
 
ขณะที่ไบเดนหาเสียงว่า จะร่วมกับนานาประเทศสนับสนุนลดการใช้พลังงานจากฟอซซิล สนับสนุนเงินทุนให้ประเทศต่างๆ พัฒนาพลังงานสะอาด และตั้งเป้ายกเลิกการใช้พลังงานจากฟอซซิลผลิตไฟฟ้าใน 15 ปี และสานต่อนโยบายด้านพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อมจากยุคโอบามา
 
บทความโดย คอลัมน์โอกาสแห่งอนาคต โดย ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล กรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/905341?anb=
Visitors: 1,430,161