ผลวิจัยพบ เด็กทารกที่ดูดนมขวดอาจได้รับไมโครพลาสติกมากถึงวันละ 1,600,000 ชิ้น
ผลวิจัยพบ เด็กทารกที่ดูดนมขวดอาจได้รับไมโครพลาสติกมากถึงวันละ 1,600,000 ชิ้น
ปัญหาไมโครพลาสติกปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เราได้ยินกันมาสักพักหนึ่งแล้ว แต่ไมโครพลาสติกส่วนหนึ่งยังมาจากบรรจุภัณฑ์ที่เราใช้บรรจุอาหารอีกด้วย
การที่มนุษย์เราได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัวแบบนี้มีผลต่อสุขภาพหรือไม่
เรื่องของกระทบต่อสุขภาพจากไมโครพลาสติกยังไม่มีงานวิจัยที่แน่ชัดและเป็นสิ่งที่ควรจะต้องเร่งศึกษาให้ทราบโดยเร็ว เพราะล่าสุดพบว่าแม้แต่เด็กทารกก็ยังได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน
ผลการวิจัยล่าสุดพบว่าทารกแต่ละคนที่ดูดนมจากขวด อาจจะได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายวันละมากกว่า 1 ล้านชิ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปริมาณมหาศาลของพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันนี้
งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ลงในวารสาร nature food เป็นผลงานการวิจัยจากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเคมี trinity college dublin
นักวิจัยทดลองวัดปริมาณไมโครพลาสติกจากนมผงที่ชงในขวดนม 10 ชนิด ที่พบว่ามีขายทั่วไปในพื้นที่ต่าง ๆ 48 แห่งทั่วโลก และนำมาทดลองต่อเนื่องกัน 21 วัน
นักวิจัยทดลองชงนมผง รวมถึงฆ่าเชื้อขวดนม ตามวิธีการที่เป็นมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก พบว่าในนมผงที่ชงแล้วปริมาตร 1 ลิตรอาจจะมีไมโครพลาสติกอยู่ระหว่าง 1,300,000 ชิ้น - 16,2000,000 ชิ้นแล้วแต่ชนิดของขวดนม และพบว่าตลอดการทดลอง 21 วัน ก็มีไมโครพลาสติกออกมาปนเปื้อนอยู่แบบนี้ทุกวันไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
จากนั้นนักวิจัยนำเอาตัวเลขดังกล่าวไปคำนวณร่วมกับอัตราส่วนการดื่มนมแม่จากเต้าและการดื่มนมจากขวดในแต่ละประเทศ จนได้ค่าเฉลี่ยออกมาว่า เด็กทารกที่ดูดนมขวดอาจจะได้รับไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกายมากถึงวันละ 1,600,000 ชิ้น ตลอดช่วงเวลา 12 เดือนแรกของชีวิต
ขวดนมที่นำมาทดลองทั้งหมดทำจากพลาสติกชนิดโพลีโพรพิลีน หรือที่ใช้โพลีโพรพิลีนเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งโพลีโพรพิลีนหรือ PP เป็นพลาสติกที่ใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งในขั้นตอนการเตรียมอาหารและบรรจุอาหาร
สิ่งที่น่าสนใจคือปริมาณไมโครพลาสติกจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อขวดนมเจอกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือการใช้น้ำร้อนในการฆ่าเชื้อและชงนม จากอุณหภูมิห้องที่ 25 องศาเซลเซียส ที่พบปริมาณไมโครพลาสติก 600,000 ชิ้นต่อของเหลว 1 ลิตร ถ้าใช้น้ำร้อนที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส จำนวนไมโครพลาสติกจะเพิ่มขึ้นเป็น 55 ล้านชิ้นต่อ 1 ลิตร
เรื่องนี้แก้ได้ด้วยการใช้น้ำเย็นที่ฆ่าเชื้อแล้วในการล้างขวดนม และชงนมในภาชนะอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พลาสติกก่อน คือปล่อยให้เย็นลงแล้วค่อยนำมากรอกใส่ขวดนมทีหลัง
โดยเด็กทารกในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างในอเมริกาเหนือ ยุโรปและโอเชียเนีย จะเป็นกลุ่มที่ได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายมากที่สุด วันละ 2,300,000 - 2,600,000 ชิ้น เมื่อเทียบกับในเอเชียและแอฟริกาที่เด็กจะได้รับไมโครพลาสติกน้อยที่สุด ทั้งนี้เป็นเพราะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีอัตราการให้นมบุตรของแม่ที่ต่ำกว่านั่นเอง
ทั้งหมดที่กล่าวมา นักวิจัยยังไม่ทราบถึงผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องเร่งศึกษากันต่อไป และนักวิจัยยังย้ำด้วยว่า การศึกษาชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการทำให้พ่อแม่ทั่วโลกตื่นตระหนก หรือว่าเลิกใช้น้ำร้อนลวกฆ่าเชื้อขวดนมให้ลูก
เพราะถ้าประเมินความเสี่ยงจากการไม่ฆ่าเชื้อขวดนมกับความเสี่ยงในการบริโภคไมโครพลาสติก...การติดเชื้อและอาการป่วยต่าง ๆ จากเชื้อโรคที่ขวดนมในเด็กทารก อาจจะรุนแรงมากกว่าหลายเท่าตัว
ที่มา : THaiPBS
|