TDRI ชี้ ระบบราชการไทยล้าสมัย 20 ปี เสนอ 4 ทางออกเร่งปรับปรุงเพื่อตอบโจทย์ประชาชน
TDRI ชี้ ระบบราชการไทยล้าสมัย 20 ปี เสนอ 4 ทางออกเร่งปรับปรุงเพื่อตอบโจทย์ประชาชน
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2563 ในหัวข้อ ‘ระบบราชการในฐานะระบบปฏิบัติการประเทศไทย’ วิเคราะห์ระบบราชการไทยว่ามีความมุ่งมั่นปฏิรูประบบมานาน แต่ยังทำงานซ้ำซ้อนและแยกส่วนกัน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการประชาชนได้ดีพอ ย้ำระบบราชการรู้อยู่แล้วว่าต้องทำอะไร จึงมีข้อเสนอเสริมการปฏิรูปว่าควรทำสิ่งเหล่านั้นอย่างไร
โดย ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เริ่มกล่าวเปรียบระบบราชการเทียบได้กับระบบปฏิบัติการ (Operating System: OS) ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะดึงทรัพยากรทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของประเทศมาใช้ให้บริการสาธารณะ หากสมรรถนะของ OS ไม่ทันสมัยหรือไม่ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็จะไม่สามารถประมวลผลออกมาเป็นบริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้
นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยตัวชี้วัดคุณภาพของระบบราชการ (Quality of Bureaucracy / Institutional Effectiveness and Excessive Bureaucracy) ที่จัดทำโดย The Economist แสดงให้เห็นว่าคุณภาพและประสิทธิผลของระบบราชการไทยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
“ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนข้อจำกัดนี้ได้ชัดเจนขึ้น โครงการเราไม่ทิ้งกันที่เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบมีปัญหาจากวิธีการช่วยเหลือที่ไม่ได้นำความต้องการหรือความสะดวกของประชาชนเป็นตัวตั้ง และโครงการช่วยเหลืออื่นของภาครัฐก็สะท้อนการทำงานที่ซ้ำซ้อนและแยกส่วนกัน เช่น บริการ e-Service ซึ่งแม้จะช่วยเพิ่มความสะดวกผ่านบริการออนไลน์ แต่ก็ยังเป็นบริการแยกส่วน ส่งผลให้ประชาชนต้องกรอกข้อมูลเดิมซ้ำๆ ที่รัฐเองก็เคยมีการเก็บข้อมูลอยู่แล้ว”
ทั้งนี้ การปฏิรูประบบราชการเป็นสิ่งที่ภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญมานานแล้วกว่า 20 ปี นับตั้งแต่การออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูประบบราชการ พ.ศ. 2540 โดยระบุสิ่งสำคัญที่ต้องการปฏิรูป เช่น การปรับลดกำลังคน ทบทวนบทบาทและภารกิจ ตลอดจนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ดังนั้นระบบราชการรู้อยู่แล้วว่าต้องทำอะไร ข้อเสนอของ TDRI จึงจะช่วยเสริมว่าควรทำสิ่งเหล่านั้นอย่างไร ซึ่งมีทั้งหมด 4 หัวข้อหลักๆ ดังนี้
ข้อ 1 ลดกำลังคนด้วยการลดงานที่รัฐทำ (ไม่จำเป็น ไม่สามารถ ไม่คุ้มค่า อย่าหาทำ) โดยงานที่ไม่จำเป็น เช่น งานเอกสาร ควรยกเลิกหรือใช้เทคโนโลยีทำแทน งานไม่สามารถคืองานที่ต้องปรับตัวเร็ว โดยให้เอกชนนำโดยรัฐอำนวยความสะดวก และงานไม่คุ้มค่าคืองานที่รัฐทำด้วยต้นทุนที่แพงกว่า ควรให้คนอื่นทำแทน
ข้อ 2 ออกแบบและดำเนินการให้บริการดิจิทัลของภาครัฐ (Digital Government) ตามความต้องการของประชาชน ประหยัดเวลาด้วยการเชื่อมข้อมูลเพื่อไม่ให้ประชาชนต้องกรอกซ้ำ
ข้อ 3 เพิ่มอำนาจการตัดสินใจและถ่ายโอนทรัพยากรแก่ท้องถิ่น ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของบริการสาธารณะที่ตอบโจทย์ประชาชนและพื้นที่ได้ตรงจุด
ข้อ 4 ทดลองการทำงานแบบใหม่ใน Sandbox เพื่อลองแก้ปัญหาบางประเด็น ก่อนที่จะมีการขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่ใหญ่ขึ้น การทำงานใน Sandbox จะต้องประกอบไปด้วย
ใช้ประเด็นปัญหาเป็นตัวตั้ง ยกเว้นกฎระเบียบเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ ดึงคนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกิจกรรม ตัวชี้วัด และเป้าหมายรับรองการทำงานใน Sandbox เพื่อไม่ให้ถูกแทรกแซงทางการเมือง และปกป้องคนของรัฐที่เข้ามาร่วมไม่ให้ถูกเอาผิดจากการทดลองเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานใหม่
ที่มา : The Standard
|