เจอโควิดหลังผ่านกักตัว ซากเชื้อค้างอยู่ได้ 105 วัน

เจอโควิดหลังผ่านกักตัว ซากเชื้อค้างอยู่ได้ 105 วัน

แม้ตอนนี้ “ประเทศไทย” สามารถ ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด–19 ได้ดี แต่อย่าคิดว่า “ปลอดภัย” เพราะ “ทั่วโลก” ยังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นอยู่ตลอด โดยเฉพาะ “ประเทศเพื่อนบ้าน” เริ่มมีการระบาดขยายวงกว้างจ่อประชิดชายแดนไทยใกล้เข้ามาทุกที

 

แถมมีการเดินทางข้ามพรมแดนโดยผิดกฎหมายอยู่มากมาย อีกด้านก็ยังมีมาตรการผ่อนปรนอนุญาตให้ “ผู้มีสัญชาติไทย” และ “คนสัญชาติอื่น” เข้ามาในราชอาณาจักรไทยได้ ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ เช่น มีใบรับรองแพทย์ผ่านการตรวจโควิด-19 ไม่เกิน 72 ชม. และการคัดกรองจากประเทศต้นทาง

 

เมื่อมาถึง “ในไทย” ต้องถูกคัดกรองเข้าสู่ระบบ “สเตตควอรันทีน” สถานที่กักตัวไม่น้อยกว่า 14 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำอีก ทำให้มีตัวเลขติดเชื้อในกลุ่มคนเดินทางกลับจากต่างประเทศนี้อยู่

 

และมิวายต้อง “เกิดเหตุผู้ติดเชื้อค้างเก่า” หลุดรอดการตรวจในสถานกักกัน แม้มีกระบวน “การกักกันตัว 14 วัน” ภายใต้การดูแลทีมแพทย์คัดกรองเข้มงวด เรื่องนี้ตอกย้ำความเสี่ยงโอกาสเกิดระบาดระลอกใหม่ยิ่งขึ้น

เหตุการณ์นี้ภายใน 1 เดือน เกิดขึ้นมาแล้ว 3 ราย...คือ รายแรก...เป็นหญิงอายุ 34 ปี จ.ชัยภูมิ กลับจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รายที่สอง...หญิงอายุ 35 ปี กลับจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เช่นกัน ที่เดินทางกลับไทย 24 มิ.ย. กักตัวครบ 14 วัน ตรวจเชื้อ 2 ครั้ง ไม่พบเชื้อ ได้รับอนุญาตกลับ จ.เลย กลับมาตรวจใหม่ พบสารพันธุกรรมเชื้อไวรัส

รายใหม่ล่าสุด...นักฟุตบอลชาวอุซเบกิสถาน ตามไทม์ไลน์...เดินทางถึง “ในไทย” วันที่ 13 ส.ค. เข้าสถานกักกัน 14 วัน มีการตรวจ 2 ครั้ง แพทย์อนุญาตออกจากการกักตัว ในวันที่ 8 ก.ย. เตรียมลงแข่งฟุตบอล จนตรวจพบเชื้อไวรัสขึ้น

 

กลายเป็นข้อสงสัยสัญญาณเตือนความเสี่ยงการระบาดระลอก 2 เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆถ้ายังเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือไม่ สาเหตุเรื่องนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หน.ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า

ปัจจุบันระบบการตรวจหาสารพันธุกรรมไวรัสโควิด-19 หรือ DNA ค่อนข้างมีความไวสูงมาก แม้ผู้ติดเชื้อมีไวรัสเพียงไม่กี่ตัวก็สามารถมองเห็นหาเชื้อได้ไม่ยาก ในการตรวจแบบขยายเพิ่มจำนวนพันธุกรรมไวรัสให้มากขึ้น ด้วยวิธี 2 ยกกำลัง 40 เช่น ไวรัส 1 ตัว หรือ DNA 1 เส้น ทำให้เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านตัวได้ ก่อนตรวจหามีเชื้อหรือไม่

เช่นนี้แล้ว...ถ้าร่างกายรับเชื้อมาเพียงเศษไม่กี่ตัว ก็สามารถขยายเชื้อขึ้นมาให้ตรวจพบได้ แต่การตรวจเจอพันธุกรรมไวรัสโควิด-19 ก็ไม่ได้บอกว่า “ไวรัสนั้นมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต” เพราะเป็นการตรวจชิ้นส่วนของไวรัส ที่ไม่ได้เป็นการตรวจหาไวรัสทั้งตัว อีกทั้งแม้ “ไวรัสตายอยู่ในร่างกาย” ก็ยังมัก “ทิ้งซากร่องรอย” ไว้อยู่เสมอ

กรณี “ตรวจเจอเชื้อหลังพ้นการกักตัว 14 วัน” อาจเป็นไปได้ มีการติดจากต่างประเทศแล้วหาย ก่อนเข้าสู่ “สเตตควอรันทีน” ก็ได้ เพราะปริมาณชิ้นส่วนไวรัสน้อยมากๆ แต่แน่นอนว่า...เพื่อความปลอดภัยให้ทุกคนสบายใจ ทำให้ต้องสอบสวนผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้งหมด เบื้องต้นยังไม่พบว่า “ผู้สัมผัสคนใด” มีผลตรวจเป็นบวกเกิดขึ้น

ต้องเข้าใจ... “ผู้ติดเชื้อโควิด-19” มีทั้งแสดงอาการ และไม่แสดงอาการ ในบางคนรับไวรัสมาแล้วอาจไม่มีอาการ จากนั้น “เชื้อก็ตายไปเอง” แต่การตายของเชื้อนี้ก็คงยัง “ทิ้งร่องรอยซาก” ในร่างกายได้นานตั้งแต่ 1 สัปดาห์จนถึง 105 วัน ที่สามารถตรวจหาไวรัสได้เช่นเดิม ทำให้แยกยากว่าเชื้อที่พบนี้มีชีวิตแพร่ติดต่อคนอื่นได้หรือไม่

ส่วนการที่จะรู้ว่า...เป็นเชื้อมีชีวิตสามารถแพร่สู่ผู้อื่นนั้น จะต้องนำไปเพาะเลี้ยงดูการมีชีวิตของไวรัสโควิด-19 เท่านั้น ทำให้ “บุคคลใด” เคยรับเชื้อโควิด-19 เมื่อตรวจหา “DNA ไวรัส” ก็ย่อมต้องเจอซากเชื้อเสมอ ดังนั้นการกลับมาตรวจเจอภายหลังพ้นกักตัวมากกว่า 14 วัน ที่เป็นเวลานานเกินไป ทำให้เชื้อไม่มีชีวิตแพร่ต่อให้คนอื่นไม่ได้

ประเด็น... “การพบเชื้อหลังพ้นการกักกันโรค 14 วัน” มีความเป็นไปได้ดังนี้ คือ...1.ระยะฟักตัวของโรคส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 2-7 วัน ที่อาจพบ ได้ถึง 14 วัน และเป็นไปได้น้อยมากถึง 21 วัน ดังนั้นในทางปฏิบัติผู้ที่พ้นระยะการกักกันโรค 14 วัน มักจะแนะนำให้ไปกักกันที่บ้านต่ออีก 14 วัน เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการป้องกันกระจายโรค

 

ส่วนที่ 2.การตรวจพบเชื้อหลังจาก 14 วันไปแล้ว ก็เป็นไปได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อเกิดขึ้นในช่วง 14 วัน ที่อยู่ในสถานที่กักกัน เช่น อดีตเคยเกิดขึ้นใน “เรือสำราญ” ดังนั้นในสถานที่กักกัน จึงต้องเคร่งครัดไม่ให้มีการพบปะกันระหว่างผู้ที่กักกันด้วยกัน หรือบุคคลภายนอกเด็ดขาด

และ 3... “ผู้ป่วยนั้นมาติดเชื้อในประเทศไทย มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก” เพราะไม่พบการติดต่อเกิดขึ้นในประเทศนานแล้ว ส่วน 4. มีความเป็นไปได้ที่ผู้นั้นติดเชื้อมาจากต่างประเทศ หรือป่วยอยู่ต่างประเทศแล้ว เมื่อมาถึงเมืองไทย เชื้อมีปริมาณน้อย ในบางช่วงอาจตรวจไม่พบเชื้อ และต่อมาอาจตรวจพบก็เป็นไปได้เช่นกัน

ก่อนหน้านี้...เคยศึกษาร่วมกับสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย กทม. ในผู้ป่วยออกโรงพยาบาล มักตรวจไม่พบเชื้อ เมื่อติดตามต่อพบว่า “มีเชื้อ” แต่เชื้อปริมาณน้อย ดังนั้นผู้ป่วยไม่มีอาการ รวมทั้งปริมาณไวรัสจำนวนน้อยก็มีโอกาสแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นน้อยเช่นกัน และก็ยังไม่พบในกลุ่มนี้มีการแพร่กระจายไปสู่ผู้ใด

ในส่วน “นักฟุตบอลติดเชื้อ” อาจมีระยะฟักตัวของโควิด-19 ส่วนใหญ่มีอาการชัดเจน 2 ถึง 7 วัน ในส่วนน้อยจะพบการติดเชื้อในระยะฟักตัวแสดงอาการถึง 14 วัน มีโอกาสเกิดขึ้นได้ต่ำกว่า 5% ของผู้ป่วย แสดงให้เห็นว่าหลัง 14 วัน ก็ยังมีการพบเชื้อได้ แต่ถ้าไปถึง 21 วันขึ้นไปแล้ว อาจจะต่ำมากกว่า 1% ของผู้ติดเชื้อ

ด้วยเหตุนี้ “จีน” ได้ให้ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ต้องเก็บตัวนาน 21 วัน ที่มีความเป็นไปได้น้อยกว่า 1% ดังนั้นถ้าดูระยะเวลาของนักฟุตบอลคนนี้น่าจะติดเชื้อมาจากต้นทางมากกว่าที่ติดในประเทศ เพราะเมื่อออกจากสถานกักกัน มักอยู่กับเพื่อน 3 คน และคนสัมผัสใกล้ชิดในทีมเดียวกัน “ก็ไม่พบผู้ติดเชื้อ”

อีกทั้งในการตรวจหาไวรัสจากนักฟุตบอลรายนี้ พบว่ามีไวรัสค่อนข้างต่ำด้วย โดยดูจากผลของ Ct (cycle threshold) อยู่ที่ประมาณ 35 ทำให้มีโอกาสแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นน้อย

คำถามมีอยู่ว่า...การกักตัว 14 วันเพียงพอหรือไม่นั้น ตามมาตรฐานสากลใช้การกักตัว 14 วันเป็นหลัก แม้จะคุมได้ไม่หมด แต่ก็จะให้ไปกักตัวที่บ้านต่ออีก ตามมาตรฐานในการป้องกันการแพร่กระจายโรคอีก 14 วัน รวมเป็น 28 วัน ก็น่าจะเพียงพอ แต่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดเมื่อกลับไปถึงบ้านแล้ว

ทว่า... “การระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน” โดยเฉพาะประเทศพม่าในช่วง 10 วันที่ผ่านมา มียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ในการระบาดมีแนวโน้มกระจายไปยังเมืองอื่น ทำให้ “ประเทศไทย” จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มอัตราการตรวจคุมเข้มงวด โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

แต่การนำแรงงานต่างด้าวมาควบคุมไปไว้รวมกัน ย่อมมีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อการระบาดเป็นอย่างยิ่ง เพราะสภาพแวดล้อมจะเอื้ออำนวยให้เกิดการระบาด สิ่งที่ถูกต้องจะต้องทำแบบ State quarantine สำหรับผู้ที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ก่อนที่จะส่งกลับประเทศต้นทาง แต่กระบวนการนี้อาจต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจำนวนมาก

นับแต่นี้ต่อไป... “การตรวจวินิจฉัยเชิงรุก” จำเป็นที่จะต้องเพิ่มความเข้มข้น เพราะประเทศไทยมีศักยภาพขีดความสามารถในการตรวจค้นหาเชื้อไวรัสค่อนข้างสูงมากอยู่แล้ว ทั้งห้องปฏิบัติการตรวจพันธุกรรมไวรัส 250 แห่ง แต่ปัญหามีอยู่ว่า ใครจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนนี้...

เพราะมีเหตุอยู่ว่า “ประเทศไทย” จำเป็นต้องอาศัยแรงงานจากต่างประเทศ ถ้ามีการ Quarantine ต้องมีค่าใช้จ่าย อาจเป็นเหตุหนึ่งให้แรงงานลักลอบเข้าเมือง เช่น การระบาดในสิงคโปร์ และมาเลเซีย ก็เกิดจากแรงงานต่างประเทศ จึงต้องนำบทเรียนนี้มาใช้ในการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดเกินการควบคุมของประเทศไทย

สิ่งจําเป็น... “ทุกคนต้องมีระเบียบวินัย” ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ กำหนดระยะห่าง และปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดตามแนวทางวิถีชีวิตใหม่ ที่จะลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อลดน้อยลง

การป้องกัน “โควิด-19” เข้ามาระบาดระลอก 2 นี้ “คนไทยการ์ดอย่าตก” ต้องร่วมกันต่อต้านโรคร้ายนี้เพื่อตัวเอง ครอบครัว และประเทศชาติ...

 

ที่มา : Thairath Online

Visitors: 1,380,175