กิ้งกือมังกรสีชมพู สิ่งมีชีวิตหายากที่มีสีสันสวยงามสะดุดตา และพบได้ในผืนป่าของประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก

"กิ้งกือมังกรสีชมพู" สิ่งมีชีวิตหายากที่มีสีสันสวยงามสะดุดตา
และพบได้ในผืนป่าของประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก
 
กิ้งกือมังกรสีชมพู (ภาพจาก facebook ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
 
ย้อนกลับไปในเดือน พ.ค. 2550 ที่บริเวณป่าเขาหินปูนแถบภาคกลางตอนบนต่อกับภาคเหนือตอนล่างของบ้านเรา สมาชิกในชมรมคนรักกิ้งกือได้สำรวจพบสัตว์ชนิดใหม่ของโลกที่มีลักษณะเหมือนกับกิ้งกือ แต่กลับมีสีชมพูสดใส
 
เขาจึงได้แจ้งเรื่องไปยัง ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ซึ่งได้ศึกษาเจ้ากิ้งกือชนิดนี้เพิ่มเติมภายใต้โครงการวิจัยกิ้งกือและไส้เดือนดิน ร่วมกับ ศ.เฮนริค อิงฮอฟ (Henrik Enghoff) ผู้เชี่ยวชาญด้านกิ้งกือจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน
 
ทำให้ได้รู้ว่ามันเป็นกิ้งกือชนิดใหม่ของโลก จึงตั้งชื่อให้ว่า กิ้งกือมังกรสีชมพู (shocking pink millipede) และให้ชื่อวิทยาศาสตร์ Desmoxytes purpurosea โดยตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานการค้นพบนี้ในวารสารนานาชาติ Zootaxa ด้วย
 
ภาพจาก facebook ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
 
ต่อมาในวันที่ 23 พ.ค. 2551 International Institute for Species Exploration หรือสถาบันไอไอเอสอี (IISE) ของมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศให้กิ้งกือมังกรสีชมพูเป็นสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกเป็นอันดับที่ 3 รองจากปลากระเบนไฟฟ้าในแอฟริกา และฟอสซิลไดโนเสาร์ปากเป็ดอายุ 75 ล้านปี ในอเมริกา
 
กิ้งกือมังกรสีชมพู จัดอยู่ในวงศ์ (family) กิ้งกือมังกร (Paradoxosomatidae) ที่มีสีชมพูสดใส และยังมีปุ่มหนามคล้ายกับมังกรอีกด้วย
 
เมื่อโตเต็มวัยมันจะมีลำตัวยาวประมาณ 7 ซม. มี 20 - 40 ปล้อง และมีต่อมข้างลำตัวที่สามารถขับสารพิษพวกไซยาไนด์ออกมาเพื่อป้องกันตัวจากศัตรูธรรมชาติจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู
 
ในปัจจุบันเราสามารถพบเห็นกิ้งกือแสนสวยชนิดนี้ได้ที่บริเวณหุบป่าตาด ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี โดยมันอาจจะอยู่ตามข้างทาง พื้นดิน ใต้ต้นไม้ หรือตามแอ่งน้ำ
 
แต่มันจะออกมาให้เราได้ยลโฉมในช่วงเวลาหนึ่งของปีเท่านั้น ตั้งแต่เดือน พ.ค. - พ.ย. ของทุกปี ขึ้นอยู่กับความชุ่มชื้นของผืนป่า
 
ภาพจาก facebook ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
 
กิ้งกือน่าจะเป็นสัตว์ลำดับต้น ๆ ที่หลายคนขยะแขยง แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศมาก เพราะช่วยพรวนดิน ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ โดยทำงานร่วมกับจุลินทรีย์ที่อยู่ในตัว ซึ่งช่วยเปลี่ยนให้ซากพืชซากสัตว์เหล่านั้นกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติให้กับต้นไม้ต่อไป
 
 
Visitors: 1,431,134