ฮีโร่ใหม่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน : ปกป้องวาฬ 1 ตัว ดีกว่าปลูกต้นไม้ 1000 ต้น

ฮีโร่ใหม่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน : ปกป้องวาฬ 1 ตัว ดีกว่าปลูกต้นไม้ 1000 ต้น
 
หลายปีที่ผ่านมาทราบกันดีว่าปัญหาโลกร้อนเกิดจากผลของระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเหล่าก๊าซเรือนกระจกต่างๆที่สูงขึ้นในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 สามารถวัดได้ถึง 415 ppm ถือเป็นค่าสูงสุดตั้งแต่ที่ได้มีการเก็บบันทึกมา
 
การรณรงค์ส่วนใหญ่จะเน้นให้ปลูกต้นไม้หรือเพิ่มพื้นที่สีเขียว จนเมื่อ International Monetary Fund (IMF) หรือ กองทุนเงินตราระหว่างประเทศบอกว่า การช่วยปกป้องปลาวาฬหนึ่งตัวนั้นเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้หลายพันต้นเลยทีเดียว
 
Royalty Free illustration
 
วาฬกับคาร์บอนไดออกไซด์
สิ่งสำคัญคือวาฬเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่โตและมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะวาฬที่มีขนาดใหญ่ ปกติวาฬจะมีอายุขัยโดยเฉลี่ยอยู่ประมาณ 60 ปี ซึ่งในช่วงชีวิตหนึ่งจะสามารถสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 33 ตัน ในขณะที่ต้นไม้ต้นหนึ่งสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แค่ 0.022 ตันต่อปีเท่านั้น
 
เมื่อวาฬตายลงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านั้นจะจมลงไปยังก้นมหาสมุทรพร้อมกับร่างของวาฬและถูกเก็บอยู่ในนั้นเป็นเวลาหลายร้อยปี เรียกกลไกนี้ว่า ‘carbon sink’ เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ชั้นบรรยากาศได้มีประสิทธิภาพมาก
 
วาฬกับแพลงก์ตอนพืช
แพลงก์ตอนพืชขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนแหล่งใหญ่ของโลกที่อยู่ในทะเล ถึงแม้จะมีขนาดเล็กแต่ด้วยปริมาณที่มีอยู่ แพลงก์ตอนพืชผลิตออกซิเจนคิดเป็น 50% จากปริมาณออกซิเจนทั้งหมดบนโลก และยังสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 37 ล้านล้านตัน คิดเป็น 40% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกผลิตขึ้นอีกด้วย ซึ่ง IMF กล่าวว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระดับนี้ต้องใช้ต้นไม้ที่เจริญเติบโตเต็มที่ถึง 1.7 ล้านล้านล้านต้นในการดูดซับ คิดเป็นป่าอเมซอนถึง 4 ผืน
 
 
อุจจาระของวาฬทำให้แพลงก์ตอนพืชเจริญเติบโตได้ดี ส่งผลให้มีแหล่งผลิตออกซิเจนและดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น [imf.org]
นอกจากนี้ วาฬยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มปริมาณแพลงก์ตอนพืชจากพฤติกรรมที่เรียกว่า ‘Whale pump’
 
ปกติวาฬใหญ่จะดำน้ำลึกเพื่อหาอาหารและจะลอยขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ของเสียเหล่านี้อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืชทั้งธาตุเหล็กและไนโตรเจน ทำให้แพลงก์ตอนพืชเจริญเติบโตได้ดี
 
อีกเหตุผลคือ วาฬเป็นสัตว์อพยพ ย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาลทำให้สามารถเดินทางข้ามมหาสมุทรได้ไกล ส่งผลให้การกระจายสารอาหารเป็นไปอย่างทั่วถึงกินบริเวณกว้าง
 
เส้นทางการอพยพที่เป็นไปได้ของวาฬหลายๆชนิด [imf.org]
 
IMF รายงานว่าการเพิ่มขึ้นของแพลงก์ตอนพืชเพียง 1% จากปริมาณทั้งหมดที่มีอยู่ จะสามารถเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากหลายร้อยล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับต้นไม้ที่เติบโตเต็มที่ถึง 2 ล้านล้านต้น
 
วาฬกับการอนุรักษ์
แต่ถึงอย่างนั้นประชากรของวาฬทั่วโลกยังอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง ถึงแม้การล่าวาฬเพื่อการค้าจะถูกสั่งห้ามอย่างเป็นทางการในหลายๆประเทศไปตั้งแต่ปี 1986 แต่ยังมีวาฬมากกว่า 1000 ตัวถูกฆ่าในแต่ละปีจากข้อมูลของ World Wildlife Fund (WWF)
 
นอกจากการล่า วาฬยังเป็นสัตว์ใหญ่ในทะเลที่มีอัตราการเสียชีวิตจากการกินขยะพลาสติกสูง มีรายงานวาฬเกยตื้นเสียชีวิตแล้วผ่าท้องพบขยะพลาสติกอุดตันในระบบทางเดินอาหารตั้งแต่ 1 กิโลกรัมไปจนถึง 40 กิโลกรัม
 
วาฬคูเวียร์ถูกพบเสียชีวิตเกยตื้นที่ประเทศฟิลิปินส์ หลังจากผ่าพิสูจน์ซาก พบขยะพลาสติกในท้องทั้งหมดหนักประมาณ 40 กิโลกรัม มีกระสอบข้าวอยู่ถึง 16 กระสอบ ถ่ายโดย : MARY GAY BLATCHLEY, D'BONE COLLECTOR MUSEUM [nationalgeographic.com]
 
สาเหตุการเสียชีวิตหลักอีกอย่างคือผลกระทบการจากอุตสาหกรรมประมง ไม่ว่าจะเป็นอาการบาดเจ็บเพราะชนเรือหรือติดอวนลากโดยไม่ได้ตั้งใจ
 
มูลค่าของวาฬหนึ่งตัว [imf.org]
 
IMF ได้ประมาณมูลค่าของวาฬ 1 ตัวว่ามีค่ามากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐแค่เฉพาะจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชมวาฬตามแหล่งธรรมชาติ ซึ่งถ้ารวมจำนวนวาฬที่มีทั้งหมดในปัจจุบันจะมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
จากทั้งหมดที่กล่าวมา ถ้าเราสามารถเพิ่มปริมาณวาฬวาฬที่มีอยู่ในปัจจุบันราว 1.3 ล้านตัวให้เป็น 4-5 ล้านตัวได้ จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 1.7 ล้านล้านตันต่อปี ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการอนุรักษ์วาฬตกอยู่ที่ประมาณคนละ 500 บาทต่อปีเท่านั้น
 
References/อ้างอิง >>
Visitors: 1,430,167