โควิด-19 ยังไม่บรรเทาไวรัสเห็บ มาระบาดในจีนอีก ไขปริศนาโรคที่กำลังแพร่ระบาดในจีน อันตรายร้ายแรงแค่ไหน

"โควิด-19" ยังไม่บรรเทา "ไวรัสเห็บ" มาระบาดในจีนอีก ไขปริศนาโรคที่กำลังแพร่ระบาดในจีน อันตรายร้ายแรงแค่ไหน?
 
 
 
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 จากจีนสู่หลายประเทศทั่วโลกยังไม่บรรเทาเบาบางลง ก็มีไวรัสชื่อใหม่มาให้หวาดผวากันอีก โดยสำนักข่าวโกลบัล ไทม์ส ของจีน รายงานเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ว่าพบการระบาดของโรคที่เกิดจาก "ไวรัสเห็บ" Severe Fever with Thrombocytopenia Syndrome Bunyavirus- SFTSV ในมณฑลเจียงซู ทางภาคตะวันออกของประเทศ โดยครึ่งแรกของปีนี้ มีผู้ติดเชื้อแล้ว 37 ราย เสียชีวิต 9 ศพ และต่อมาพบว่าเชื้อแพร่กระจายไปยังมณฑลอันฮุย มีผู้ติดเชื้ออีก 23 ราย ทำให้เกิดความหวาดวิตกว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ "ไวรัสเห็บ" จากจีน อาจกลายเป็นภัยด้านสาธารณสุขครั้งใหม่ที่คุกคามไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทย
.
"ไวรัสเห็บ" คืออะไร
ไวรัสเห็บ เป็นเชื้อไวรัสในตระกูล "ไวรัสบันยา" เป็นกลุ่มที่มีสารพันธุกรรม RNA ติดเชื้อจากคนสู่คนได้ผ่านระบบทางเดินหายใจ ทางเลือดและน้ำมูก โดยมีเห็บเป็นตัวพาหะ ไม่ว่าจะเป็นเห็บสุนัขและเห็บแมว ซึ่งที่ตัวเห็บก็จะพบเชื้อไวรัสนี้เช่นเดียวกัน โดยการได้รับเชื้อส่วนใหญ่เป็นการรับเชื้อโดยตรงจากพาหะ หากเราไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกเห็บกัด ก็ไม่มีอะไรน่าวิตกกังวล
 
นอกจากนี้ ยังมีการติดเชื้อในสัตว์ชนิดอื่นอย่าง แกะ แพะ หมู วัว ควาย สุนัข ไก่ นก หนู และสัตว์ป่าบางชนิด ที่ผ่านมาพบการแพร่ระบาดในคน ใน 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และยังไม่เคยมีรายงานการพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ในไทยมาก่อน
 
เป็นเชื้อไวรัสชนิดใหม่หรือไม่
ทั่วโลกรู้จักไวรัสเห็บ เป็นครั้งแรกจากข่าวการพบผู้ติดเชื้อรายแรกที่มณฑลอานฮุย ของจีน เมื่อปี 2549 ต่อมาพบการระบาดอีกครั้ง ในปี 2552 แต่คราวนี้เป็นการระบาดเป็นวงกว้าง มีผู้ติดเชื้อถึง 171 รายใน 6 มณฑล ได้แก่ เหลียวหนิง ซานตง เหอหนาน อานฮุย เจียงซู และหูเป่ย
 
และในปี 2560 แพทย์พบว่า นอกจากโดนเห็บกัดติดเชื้อ หรือติดผ่านทางการหายใจแล้ว ไวรัสชนิดนี้ยังสามารถติดจากศพผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน โดยมีผู้สัมผัสใกล้ชิดศพเหยื่อไวรัสเห็บแล้วติดเชื้อไป 16 ราย เสียชีวิต 1 ศพ
 
นับจากนั้นมา จีบพบการระบาดของไวรัสเห็บทุกปี ทางภาคกลางและภาคตะวันออก โดยระหว่างปี 2556-2559 มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 7,419 ราย เสียชีวิต 355 ศพ คิดเป็น 5.3% ขณะที่ในช่วงปลายเดือน ก.ค. 2560 พบผู้ป่วยหญิงชาวญี่ปุ่น อายุ 51 ปีเสียชีวิตจากการติดเชื้อ SFTSV ที่มีเห็บแมวเป็นพาหะ
 
 
หากติดเชื้อจะมีอาการเป็นอย่างไร
แพทย์ระบุว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสเห็บ จะมีไข้สูง มีอาการไอ เกล็ดเลือดต่ำ หากในกรณีผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงก็สามารถหายได้เอง โดยโกลบัลไทม์ส รายงานกรณีศึกษาผู้ป่วยไวรัสเห็บรายหนึ่งในเมืองนานจิง มณฑลเจียงซูชื่อว่า นางหวัง วัย 65 ปี ซึ่งมีอาการไข้สูงถึง 40 องศาเซลเซียส และไอไม่หยุด แพทย์พบเกล็ดเลือดต่ำ หลังรับการรักษาที่โรงพยาบาลอยู่ 1 เดือน นางหวังก็ออกจากโรงพยาบาลได้ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านสาธาณสุขสหรัฐฯ เผยแพร่ผลงานวิจัยที่ระบุว่า การแพร่ระบาดของ SFTS ที่ไม่ได้มีการเฝ้าระวังโรคเป็นอย่างดี จะนำไปสู่ภาวะการติดต่อและแพร่ระบาดเชื้อที่รุนแรง ทั้งในคนและสัตว์
 
โอกาสในการแพร่ระบาดข้ามประเทศ
สถานการณ์โควิด-19ในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศได้เหมือนเมื่อก่อน ทำให้ลดความเสี่ยงที่จะมีการส่งผ่านไวรัสเห็บจากจีนไปยังประเทศอื่น แต่ในทางการแพทย์มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับ ฝูงนกอพยพ ที่ย้ายถิ่นระยะไกลเพื่อหาอาหารและขยายพันธุ์ ซึ่งพวกมันได้เคยส่งต่อเชื้อโรคอย่างไข้หวัดใหญ่ โรคไลม์ที่เกิดจากแบคทีเรีย เชื้อไวรัสเวสต์ ไนล์ มาแล้ว และนกพวกนี้อาจจะนำเชื้อโรคและปรสิต ตลอดจนเห็บไปด้วยได้
 
ที่มา : indiaexpress ,globaltimes
Visitors: 1,216,436