ภาพรวมการใช้โซเชียล มีเดีย ช่วง 6 เดือนแรก ปี 2563

สรุปภาพรวมการใช้ ‘โซเชียล มีเดีย’ ครึ่งแรกปี 63 แบรนด์ไหน ‘ปัง’ แบรนด์ไหน ‘แป้ก’


อัพเดทภาพรวมการใช้โซเชียล มีเดีย ช่วง 6 เดือนแรก ปี 2563 พบมีการใช้สูงขึ้นทั้งจากผู้ใช้และแบรนด์ต่าง ๆ  โดยกลุ่มธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงที่ใช้แล้วมีเอ็นเกจเมนต์เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ได้แก่ กลุ่ม Delivery กลุ่ม Consumer Electronics และ กลุ่ม Home & Office Appliances  ขณะที่ Government & State enterprise มีเอ็นเกจเมนต์โตสูงกว่าธุรกิจอื่นอยู่ที่ 235%

ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 ในไทย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค และการใช้ชีวิตแบบ New normal ที่ทำให้ยอดการใช้งาน ‘โซเชียลมีเดีย’ พุ่งสูงขึ้น จนกลายเป็นช่องทางที่ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้งาน และแบรนด์ต่าง ๆ ต่างให้ความสำคัญมากขึ้น

ทาง WISESIGHT ได้ทำการรวบรวมสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้โซเชียล มีเดีย ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ใน เมื่อ 4 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ Facebook, Instagram, Twitter และ YouTube พบว่า มีจำนวนโพสต์จากแบรนด์รวมกันทั้งสิ้น 1,064,226 โพสต์ และแต่ละช่องทางเกิดการมีส่วนร่วมอย่างมหาศาล

Facebook : 554M Engagements
Twitter          : 30M Engagements
Instagram : 35M Engagements
YouTube : 5.1B Views

เมื่อโฟกัสไปที่แพลตฟอร์มที่สร้างการมีส่วนร่วมสูงอย่าง Facebook และ YouTube พบว่า ทั้ง Facebook และ YouTube เกิดการมีส่วนร่วมจากผู้บริโภคอย่างก้าวกระโดดในช่วงเมษายนและพฤษภาคม แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ช่วงเวลากักตัวหรือ COVID-19 ที่ผ่านมาผู้บริโภคหันมาเสพเนื้อหาบนออนไลน์มากขึ้น และโซเชียลมีเดียก็มีผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจเกือบทุกประเภท

ธุรกิจใดรุ่ง-ร่วงในโซเชียลมีเดีย ช่วง COVID-19 ระบาด

จากการเก็บข้อมูลเอ็นเกจเมนต์ของแบรนด์ที่ทำผลงานบนโซเชียลมีเดียผ่านช่องทางหลัก คือ  Facebook Instagram YouTube และ Twitter ช่วงวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2563 สามารถแบ่งประเภทของธุรกิจเป็น 3 ประเภท

ประเภทแรก RISE & DECLINE กลุ่มธุรกิจที่รุ่งขึ้นมาในช่วงการระบาดของ  COVID-19 และร่วงในภายหลัง โดยจำนวนเอ็นเกจเมนต์มีการเติบโตอย่างมากในช่วง COVID-19  และกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงต่อมา ได้แก่

– Banking จากมาตรการเยียวยา 5,000 บาทที่มีธนาคารกรุงไทยเป็นผู้จัดการระบบลงทะเบียนรับเงินเยียวยา , Convenience Store หรือร้านสะดวกซื้อ จัดทำคอนเทนต์ให้กำลังใจและโปรโมชั่นสินค้าผ่าน #คนไทยไม่ทิ้งกัน

– Hypermarket & Supermarket ที่พยายามจัดโปรโมชั่นผ่านการซื้อสินค้าออนไลน์ในช่วงโควิด

ประเภทที่สอง RISING STAR กลุ่มธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงที่เอ็นเกจเมนต์มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่

– Delivery Service Provider เนื่องจากการต้องปฏิบัติตามนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้ลูกค้าหันมาใช้บริการ Food Delivery แทน และทางฝั่งของแบรนด์เองก็มีการปล่อยโปรโมชั่นร่วมกับร้านอาหาร ขณะที่บริการรับส่งพัสดุก็มียอดเอ็นเกจเมนต์สูงขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเรื่องระบบการขนส่ง

– Consumer Electronics และ Home & Office Appliances เนื่องจากการปรับการเรียนการสอน รวมถึงวิธีการทำงานผ่านทางออนไลน์ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกในการทำงาน และเป็นเสมือนอีกปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นขณะนี้

– E-marketplace นับตั้งแต่ COVID-19 มีการระบาดในประเทศ ผู้คนต้องอยู่บ้าน หรือ Work From Home ธุรกิจการซื้อขายออนไลน์ จึงเข้ามาตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี หลาย ๆ แพลตฟอร์มออนไลน์มียอดเอ็นเกจเมนต์ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะ 2 ยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada และ Shopee

ประเภทที่สาม RECESSING กลุ่มธุรกิจที่ร่วงโดยมีเอ็นเกจเมนต์ลดลงหลังเกิดการระบาด COVID-19 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจ Chain restaurants และ Shopping mall ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการล็อกดาวน์ ทำให้ฝั่งแบรนด์ชะลอการปล่อยแคมเปญทางสื่อออนไลน์ ยอดเอ็นเกจเมนต์จึงมีแนวโน้มลดลง ยกเว้นกรณีที่แบรนด์นั้นมีการทำ Delivery Service อย่าง KFC ที่ยังมียอดเอ็นเกจเมนต์สูงอยู่ตลอด รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจ Building And Design Material ที่ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากความตั้งใจในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคลดลงในช่วง COVID-19  ระบาด

นอกเหนือจากกลุ่มแบรนด์ข้างต้นแล้ว Government & State enterprise เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีการเติบโตของ เอ็นเกจเมนต์ที่สูงกว่าธุรกิจอื่น ๆ โดยเอ็นเกจเมนต์เพิ่มขึ้น 235% เมื่อเทียบระหว่างเดือนมกราคมและเดือนมิถุนายน การเติบโตของจำนวนเอ็นเกจเมนต์ดังกล่าว หลักๆ มาจากการแถลงการณ์สถานการณ์ COVID-19  รายงานข่าว ความคืบหน้าผลการสอบสวนและควบคุมโรค และความรู้เกี่ยวกับเรื่อง COVID-19  ส่วนยอดเอ็นเกจเมนต์ในเดือนพฤษภาคมมาจากการคลายล็อกดาวน์ในช่วงกลางเดือนดังกล่าว

สำหรับโพสต์ส่วนใหญ่ที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงจะเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชน บุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการโรค COVID-19  โดยโพสจากสสส. เรื่องการลงชุมชนให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเสี่ยงสำหรับต้นแบบชุดเครื่องมือดูแลตนเอง “สู้! โควิด-19 ไปด้วยกัน” เป็นโพสต์ที่ได้ Engagement สูงที่สุด รองลงมาคือ รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 และ เซเว่นอีเลฟเว่น มอบชุด PPE ให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์

คนไทยตอบกลับคอนเทนต์ ด้วย Emotion Icon เพิมขึ้น

นอกจากแบรนด์มีการโพสต์คอนเทนต์ที่เกี่ยวกับโรคระบาดนี้ถี่ขึ้นและผู้ใช้งาน Facebook เองก็มีการตอบกลับคอนเทนต์เหล่านี้ด้วยปุ่ม Love และ Sad มากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนเมษายนที่มียอดการกด Love และ Sad สูงที่สุด ในคอนเทนต์ที่เป็นการให้กำลังใจและให้ความช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจากฝั่งของแบรนด์ แม้จะจำนวนการกด Love และ Sad ลดลง หลังที่สถานการณ์ไทยคลี่คลาย

แต่ในทางตรงกันข้ามการตอบกลับคอนเทนต์ด้วย Emotion Icon อื่นๆ เริ่มมีมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่คุ้นชินและปรับตัวได้กับสถานการณ์นี้ ซึ่งในฝั่งของแบรนด์เองก็เริ่มมีการปล่อยคอนเทนต์อื่นๆ นอกเหนือจาก COVID-19  มากขึ้นด้วย เช่น การปล่อยแคมเปญและการจัดโปรโมชั่น

ทั้งหมด คือ ภาพรวมของการใช้โซเชียล มีเดีย ใน 6 เดือนแรก ของปี 2563 ซึ่งเราจะเห็นถึงบทบาทและความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของช่องทางนี้จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่ง ส่วนภาพรวมในครั้งปีหลังจะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้มากน้อยเพียงใด และเกิดจากปัจจัยอะไร ก็เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยสำหรับนักการตลาดที่จะเอามาเป็นข้อมูลในการวางกลยุทธ์

 

ที่มา :wisesight

Visitors: 1,217,700