สรุปหนังสือความลับของคนที่ไม่เคยเอางานกลับไปทำที่บ้าน หนังสือขายดีของญี่ปุ่น

สรุปหนังสือ "ความลับของคนที่ไม่เคยเอางานกลับไปทำที่บ้าน" หนังสือขายดีของญี่ปุ่น
เขียนโดย เซนเซ แป๊ะ ผ่าน Blog "สรุปให้"
 
ทำงานดึก ขนกลับไปทำที่บ้าน ได้เงินไม่คุ้มเหนื่อย เคยรู้สึกอย่างนี้บ้างไหมครับ ผมไปเจอหนังสือที่ชื่อ Jibun Wo Ayatsuru Chou Shuchuryoku ชื่อไทยคือ ความลับของคนที่ไม่เคยเอางานกลับไปทำที่บ้าน จริงๆชื่อญี่ปุ่นมันบอกความลับไว้เสร็จเลยฮะ
 
“วิธีฝึกฝนพลังสมาธิ” นั่นเอง จากการทำงานกับชาวญี่ปุ่นกว่า 15 ปี ผมพบว่าพวกเขาทำงานได้นาน ไม่ว่อกแว่ก ทำงานคือทำงาน ไม่เล่นมือถือ ไม่คุย อะไรที่ฝึกให้พวกเขาเป็นแบบนี้ ไปเรียนรู้กันครับ ย้ำอีกรอบว่า มันเป็นการสรุปและรีวิว ผ่านความเข้าใจของผมเท่านั้น
 
หนังสือทุกเล่มที่คัดมาเล่าดีมาก อยากให้อุดหนุนกันครับ
เครดิต สำนักพิมพ์ Short cut
ผู้แปล กมลวรรณ เพ็ญอร่าม
หาซื้อได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป
 
( 1 ) หนังสืออะไร จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้ผมหยิบมันขึ้นมา นอกจากชื่อที่น่าสนใจ (มาก)คือ
 
1.1 บอกวิธีเพิ่มพลังสมาธิให้ทำงานเสร็จไว ไม่ต้องขนกลับไปทำที่บ้าน
1.2 เขียนโดย Mentalist Daigo นักเขียน ผู้โด่งดังของญี่ปุ่นยุคนี้
1.3 มียอดขายในญี่ปุ่นกว่า 350,000 เล่ม (เกิน 100,000 เล่มจัดว่าขายดี)
 
( 2 ) ใครเป็นคนเขียน ถ้าถามว่า 2-3 ปีที่ผ่านมาเวลาเข้าร้านหนังสือญี่ปุ่นแล้ว เห็นหน้าของใครบ่อยๆ คำตอบคือผู้ชายคนนี้
松丸 大吾 (มัทซึมารุ ไดโกะ) เขาเรียกตัวเองว่า Mentalist Daigo
 
จุดเด่นของเขาคือ
2.1 นักเขียน Best seller ของญี่ปุ่นที่ยอดขายหนังสือสะสมเกิน 1,000,000 เล่ม
2.2 นักอ่านใจคนด้วยเทคนิค Mentalism เพียงคนเดียวที่มีงานบรรยาย ออกรายโทรทัศน์
2.3 ฝึกพลังสมาธิจนอ่านหนังสือได้วันละ10-20 เล่ม
 
อันสุดท้ายนี่ทำผมพลิกไปอ่านก่อนเลย แต่ผมจะไม่บอกพวกเราตอนนี้ 555 อยากรู้ไปด้วยกันฮะมีคำตอบแน่นอน ไม่ก็เดินออกไปหาหนังสือมาอ่านฮะ ^^
 
( 3 ) กฎ 3 ข้อของคนที่มีพลังสมาธิสูง หนังสือเล่มนี้บอกกฎการเพิ่มพลังสมาธิที่คนเก่งรู้ไว้ 3 ข้อ ตามภาษาที่ผมใช้จะประมาณนี้
3.1 เข้าใจวิธีฝึกพลังสมาธิ
3.2 สมาธิสูง ≠ สมาธินาน
3.3 คุมพลังสมาธิด้วยสมอง
 
3-1 เข้าใจวิธีฝึกพลังสมาธิ เวลาผมถูกถามว่ารถยนต์คันไหนวิ่งได้ไกลกว่ากัน 
สิ่งที่ผมจะพิจารณามี 2 อย่าง
1.ความจุถังน้ำมัน : ยิ่งถังน้ำมันใหญ่ก็มีโอกาสวิ่งได้ไกล
2.อัตราเผาผลาญเชื้อเพลิง : ยิ่งประหยัดยิ่งไปได้ไกล
 
พลังสมาธิก็คล้ายๆกัน
ถ้าอยากมีสมาธิทำงานอะไรได้นานมี 2 วิธี
1.เพิ่มเกจพลังสมาธิให้ใหญ่ขึ้น (เพิ่มความจุถังน้ำมัน)
2.ประหยัดพลังงานที่ใช้ต่อกิจกรรมเดิมให้มากขึ้น (ลดอัตราเผาผลาญเชื้อเพลิง)
 
3.2 สมาธิสูง ≠ สมาธินาน
แต่เดิมพลังสมาธิไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ใช้นานๆอยู่แล้ว (นึกภาพถ้าต้องตื่นตัวจากการหนีงู ตลอด 24 ชั่วโมง เราคงเหนื่อยมากๆ)
เคล็ดลับของคนเก่ง คือ ไม่ใช้พลังสมาธิยาวๆ แต่จะซอยรอบของการใช้พลังสมาธิให้เป็นหลายๆครั้ง และระหว่างรอบจะมีการพักอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ พลังนั้นกลับมา
 
3-3 คุมความเหนื่อยด้วยสมอง หนังสือเล่มนี้พยายามอธิบายว่า สมองเหนื่อยไม่มีอยู่จริง (แต่พลังสมาธิหมดมีนะอย่าเพิ่งงง)
หากเราสามารถเปลี่ยนความเชื่อที่ว่า ถ้าร่างกายเหนื่อยสมาธิหรือสมองก็จะเหนื่อยได้ เราก็มีโอกาสจะเพิ่มพลังสมาธิได้ สมัยวัยรุ่น ผมชอบไปวิ่งตอนเช้ากับเพื่อนๆ วิ่งเสร็จเสร็จก็กินข้าวต่อ เพื่อไปตีแบตต่อไม่ก็ดูหนังกับแฟน แม้ร่างกายจะเหนื่อยแต่จริงๆแล้วผมรู้สึกสดชื่นมากๆ สมองไม่เหนื่อยเลย
 
แต่โดยส่วนมากแล้วเวลาร่างกายเหนื่อย สมองจะสั่งการให้เราพัก (ทั้งที่จริงๆเรายังมีพลังสมาธิอยู่) นักกีฬาระดับโลกส่วนใหญ่ จะใช้เวลากับการฝึกสมองให้เข้าใจสิ่งนี้ ด้วยกิจกรรมที่เรียกว่า อัลติจูตเทรนนิ่ง หรือการฝึกให้สมอง อยู่ในภาวะได้รับออกซิเจนน้อยกว่าปกติ 
 
วัตถุประสงค์คือเพื่อให้ก้าวข้ามสิ่งที่สมองสั่งการ (หมายเหตุ :ไม่แนะนำให้ฝึกเองนะฮะ)
 
สรุปคือถ้าอยากก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมอย่าเพิ่งเชื่อร่างกายและสมองที่สั่งเราว่า จงหยุดพัก ให้ลองฝืนสักนิดดูก่อน นั่นเอง
 
(4) 3 เครื่องยนต์เพิ่มพลังสมาธิ จริงๆในหนังสือมี 7 แต่ผมว่า แค่ 3 นี่ก็เกินคุ้มแล้วฮะ
4-1 สถานที่
4-2 อาหาร
4-3 ออกกำลังกาย
 
4-1 สถานที่ ถ้ายังจำเรื่องของหัวหน้าผม ที่เล่าไว้ใน รีวิวหนังสือ Toyota No Sodatekata เรื่อง 5 ส และการจัดระเบียบโต๊ะทำงาน
 
จะพบว่าสถานที่ทำงาน มีผลมากๆกับการรักษาระดับพลังสมาธิ หนังสือเล่มนี้ให้เทคนิคเพิ่มไว้อีกหลายอย่าง ที่ผมชอบคือ
แยกสถานที่ตามกิจกรรม (ที่ทำงาน ที่พักผ่อน ที่กินข้าว) เพื่อให้สมองได้จดจ่อ ลดความสับสน ใช้สีฟ้าในห้องทำงาน หรือ พื้นที่ที่ต้องการสมาธิ เพียงเท่านี้ก็ได้ทั้ง เพิ่มเกจพลังสมาธิและประหยัดพลังสมาธิไปในตัว
 
4-2 อาหาร
เคยไหมที่หลังมื้อเที่ยงหนักผ่านไป สมองจะเบลอ ง่วงนอน และตั้งสมาธิไม่ค่อยได้ เพราะอาหารมีผลกับร่างกายและสมาธิสูงมาก แม้สมองมีน้ำหนักเพียง 2% ของน้ำหนักตัว แต่บริโภคพลังงานถึง 18% ของพลังงานทั้งหมด และสมองบริโภค กลูโคส เป็นหลัก การรักษาระดับ กลูโคสให้พอดีจึงสำคัญ คุณ Daigo พูดถึงเทคนิคการทานอาหารที่จะช่วย รักษาระดับสมาธิไว้ว่า
1.ให้กินอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังธัญพืช แอปเปิ้ล
2. ทานอาหารว่างเวลาสมาธิตก ส่วนใหญ่ระดับพลังสมาธิมักจะตกลงเมื่อ ระดับน้ำตาลกลูโคส ลดลง หลังทานอาหารไป 2 ชั่วโมง
ถ้าทานข้าวเช้า 8 โมง 10 โมงก็ควรทานอาหารว่างเสริม (คุณ Daigo แนะนำ ถั่ว)
3.ดื่มกาแฟไม่เกิน 3 Shot/day เพื่อไม่ให้สมองทำงานหนักเกินไป วิธีพิเศษที่ Daigo ทำคือ ดื่มกาแฟ คู่กับ โยเกิร์ต เพื่อลดอาหารปวดเมื่อย หลังฤทธิ์คาเฟอีนหมด หลังๆตัวผมเอง ทานทั้งหมดก่อนเที่ยง วันทำงานมักเป็นกาแฟดำ 1 แก้ว ตอนหกโมง และกาแฟใส่นมตอน 10 โมง (รวม 2 Shot) ส่วนวันพักผ่อนก็อาจจะเปลี่ยนเป็นกาแฟเย็น ตอน 10 โมงแทน (รวม 3 Shot)
 
ผลปรากฏว่า หลับได้ดีขึ้นและไม่ตื่นกลางคืนนาน เหมือนตอนที่ดื่มวันละหลายๆแก้วและดื่มตอนบ่ายด้วย ท่านไหนมีอาการเหมือนผมลองปรับกันดูนะครับ
 
4-3 ออกกำลังกาย
มีงานวิจัยที่ระบุว่า เพียงขยับร่างกายในพื้นที่ที่มีต้นไม้ แม้จะเป็นแค่สวนเล็กๆในออฟฟิศ สักราวๆ 5 นาที ก็ช่วยฟื้นฟูพลังสมาธิได้แล้ว
ดังนั้นหากอยากสดชื่นหลังทานข้าวเที่ยง หรือก่อนเข้างาน ก็ลองแวะเดินชิวๆ สัก 5 นาที ตรงไหนก็ได้ของที่ทำงานที่มีสีเขียวดูนะครับ
สมัยทำงานที่ญี่ปุ่น ช่วงพักเที่ยง ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นยังไง ผมจะเห็นชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนเสื้อผ้า ออกไปวิ่งเสมอฮะ ตอนแรกก็คิดว่า บ้าป่าว(วะ) 555 แต่พอลองทำตามเบาๆด้วยการ ลงไปเดินที่สนามทดสอบรถยนต์ เดิน 1 รอบใช้เวลาสัก 20 นาที มองต้นไม้ข้างๆสนามทดสอบไปเพลินๆ ผลปรากฏว่าช่วงบ่ายอาการเบลอ และง่วงนอนก็ลดลงจริงๆ ไม่ต้องเชื่อคุณ Daigo ไม่ต้องเชื่อผม ทำกันดูฮะ
 
( 5 ) 3 วิธีบำบัดรีเซตเหนื่อย
-เคล็ดลับการนอน-
แต่สุดท้ายแล้วพลังสมาธิก็มีขีดจำกัด เมื่อเราใช้จนหมดแล้วก็จำเป็นต้องพักผ่อน แล้วพักแบบไหนหละที่ทำให้ฟื้นได้ เร็วและมีประสิทธิภาพ
หนังสือเล่มนี้บอกไว้ 3 อย่างฮะ
5-1 นอนหลับ
5-2 ใช้ประสาทสัมผัส
5-3 เขียนระบาย
อันที่คิดว่ามีประโยชน์ที่สุดใช้ได้กับทุกคนคือ เคล็ดลับการนอน การนอนที่ดีที่หนังสือเล่มนี้แนะนำไว้คือ นอนให้พอดี (กับร่างกายตัวเอง)
 
มนุษย์เราจะมีระยะเวลานอนที่เหมาะสมกับร่างกายตัวเอง
คนส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 6-8 ชั่วโมง
แต่ก็จะมีคนส่วนน้อยที่อยู่ได้เพียงได้นอนวันละ 3-4 ชั่วโมง
แล้วก็มีคนอีกกลุ่มที่ต้องการการนอนวันละมากกว่า 9 ชั่วโมง
นอนมาก ไม่ได้ได้สำคัญเท่า นอนพอดี กับที่ร่างกายต้องการหรือเปล่า
 
B. นอนให้ตรงช่วงเวลาสำคัญ ช่วงเวลาที่มนุษย์จะหลั่ง Growth Hormone ออกมา เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ มากที่สุดคือ สี่ทุ่มถึงตีสอง (10PM-2AM) ดังนั้นช่วงเวลานี้เราต้องพยายามนอนกัน ไม่ง่ายแต่ถ้าทำได้ พลังสมาธิเราก็จะฟื้นฟูเต็มร้อย
 
C. หลับให้มืด มนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ชินกับการนอนในถ้ำหรือกลางคืน ที่มืดสนิท และตื่นตามธรรมชาติด้วยแสง การตื่นๆด้วยเสียงนาฬิกาปลุกนั้น เปรียบเสมือนตื่นจากการถูกสัตว์ป่าไล่ล่าไม่ดีนักกับร่างกาย ตอนนอนทำให้มั่นใจว่าห้องนอนมืดพอ (อาจจะหาม่านกั้นแสงมาใช้)
และตอนตื่นพยายามตื่นด้วยแสงอาทิตย์กันนะฮะ
 
ต้นศตวรรษที่ 20 ยุคสมัยที่อุตสาหกรรมการผลิตครองโลก ชาร์ลส์ ชวาบ ประธานบริษัทเหล็กยักษ์ใหญ่ เบทลิเฮมสตีล ในสหรัฐอเมริกา กำลังกลุ้มใจกับ productivity ของบริษัท เขาตัดสินใจไปปรึกษาชายคนหนึ่ง พร้อมขอ คำแนะนำที่จะช่วยให้บริษัทของเขาเปลี่ยนแปลงอย่างทันตาเห็นในระยะเวลาสั้นๆ ที่ปรึกษาคนนั้น ขอให้เขาทำเรื่องง่ายๆดังนี้
 
  • List งานสำคัญที่สุด 6 อย่าง/วัน
  • ทำอันดับบนให้เสร็จก่อนเสมอ
  • ยกยอดวันถัดไปถ้าไม่เสร็จ
พร้อมกับบอกว่า ยังไม่ขอรับเงินค่าที่ปรึกษาและอนุญาตให้จ่ายเท่าที่ผลลัพธ์เกิด หลังผ่านไป 3 เดือน ชาร์ลส์ ชวาบ เซ็นเช็คให้ผู้ชายคนนี้
เป็นจำนวนกว่า 15 ล้านบาทเมื่อเทียบกับมูลค่าเงินในปัจจุบัน ที่ปรึกษาคนนั้นชื่อ Ivy Lee สิ่งที่เขาให้ ชาร์ลส์ ชวาบ และ บริษัททำนั้นสุดจะเรียบง่าย แต่ทำให้สมองจดจ่อ และ ใช้พลังสมองได้สูงสุด
 
เรื่องนี้เกิดมาแล้วกว่า 100 ปีแต่ผมก็ยังเชื่อว่ามันยังคงดีพอที่เราจะใช้ต่อไป ลองกันดูนะฮะ ลิสต์ เรียงลำดับ และทำทีละอย่าง เพียงเท่านี้คุณก็จะประหยัดพลังสมาธิ และทำงานได้ไวขึ้น
 
อะไรนะ 10-20 เล่มต่อวันเนี่ยนะ บ้าไปแล้ว!!! ตอนแรกผมก็คิดว่าคุณ Daigo เขียนผิดฮะ เลยรีบเปิดมาอ่านว่า เขาทำได้ยังไง
น่าเสียดายที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกรายละเอียดเทคนิคไว้ให้ แต่ ”คนใคร่รู้สูง” อย่างผม (คำนี้ดี 555) ก็ลงมือ Search Google ทันที
จากเว็บไซด์ญี่ปุ่นที่ชื่อ https://studyhacker.net/columns/daigo-tadokujyutsu
 
ผมได้ข้อสรุปคร่าวๆว่า คำว่า 10-20 เล่มต่อวันนั้น อย่าไปคิดว่ามันคือการอ่านแบบ ปกหน้ายันปกหลัง อ่านทุกหน้า แต่มันคือเลือกหนังสือ 
  • อ่านเฉพาะที่ยังไม่รู้ 
  • กำหนดเป้าหมาย 3 อย่าง 
  • จำกัดเวลาการอ่าน (5 นาที/เล่ม) อ่
  • านเฉพาะส่วนสำคัญ (ตัวหน้า รูปโมเดล สรุป)
 
เพียงเท่านี้ก็พอจะเป็นไปได้แล้วครับ แล้วก็คุณ Daigo บอกไว้ว่าจะไม่อ่านทั้งวัน แต่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงเช้าที่พลังสมาธิ ยังดีอยู่อ่านและจดบันทึก ส่วนเวลาบ่ายและค่ำ จะไว้ใช้ทำงานกับพักผ่อน อยากให้เน้นคำว่า อ่านและจดบันทึกครับ เพราะมันเข้ากับหลักการหลายๆอย่าง หนังสือ The power of output หนังสือขายดีอีกเล่มที่ผมเคยรีวิวในพอดแคส ของจิตแพทย์นักเขียนชื่อดัง Kabazawa Shion
ก็บอกว่า ถ้าการอ่านคือ Input วิธีที่ทำให้จดจำ เนื้อหาได้ดีที่สุดคือเปลี่ยนมันให้เป็น Output สอดคล้องกับ งานวิจัยของ National Training Laboratories Institute หัวเรื่อง Learning Pyramid ที่ว่า คนเราจะมีความทรงจำระยะยาวได้กับเรื่องใดๆก็ต่อเมื่อ เปลี่ยน Input ให้เป็น Output เช่น ลองทำ หรือ สอนไว้ผมอ่านแล้วได้รายละเอียดเทคนิคเพิ่มเติม รวมกับสรุปไอเดียได้แล้วจะมาขยายให้ฟังเพิ่มนะฮะ
 
 
One page summary
หวังว่าจะมีประโยชน์นะครับ อย่าลืมไปอุดหนุนหนังสือกันด้วยน้า
 
Visitors: 1,405,377