ถอดแนวคิด คนตัวเล็ก ญี่ปุ่นมองลึก อย่าทำแค่ แบนพลาสติก แล้วจบ

ถอดแนวคิด "คนตัวเล็ก" ญี่ปุ่นมองลึก อย่าทำแค่ "แบนพลาสติก" แล้วจบ
 
ยังจำกันได้ไหม? มาตรการกึ่งหักดิบ ‘แบนพลาสติก’ ตัวการร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม อย่าปล่อยให้ความพยายามสูญเปล่า เพราะการมาของ ‘โควิด-19’ (COVID-19) เปิดแนวคิดจาก ‘คนตัวเล็ก’ ในดินแดนซากุระ...ที่มีผลในระดับชาติ
 
เริ่มต้นครึ่งปีหลัง 1 กรกฎาคม 2563 กับการประกาศคิดค่าธรรมเนียม ‘ถุงพลาสติกหูหิ้ว’ 3-5 เยนต่อถุง (ประมาณ 1-1.50 บาท) ในซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ทั่วประเทศญี่ปุ่น หลังปริมาณถุงพลาสติกหูหิ้วสูงถึง 3 หมื่นล้านถุงต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 5.6 จากทั่วโลก คิดดูว่ามากกว่าปริมาณการใช้ถุงพลาสติกในสหราชอาณาจักรที่มีประชากรน้อยกว่าญี่ปุ่นครึ่งหนึ่งถึง 17 เท่า
 
หากปล่อยให้เป็นไปอย่างที่เคยเป็น ปริมาณขยะพลาสติกอาจไม่ได้อยู่แค่ตามถังขยะทั่วไป แต่จะลามไปป่าเขา แม่น้ำ ลำคลอง และลงในทะเล
แล้วใครกันที่ได้รับผลกระทบหากเป็นแบบนั้น คำตอบก็คงรู้กันอยู่แล้ว ก็ ‘มนุษย์’ เราเองนี่แหละ!
 
แต่มาตรการ ‘แบนพลาสติก’ แบบหักดิบในทุกๆ ผลิตภัณฑ์เลย โฆษกผู้ประกอบการค้าปลีกเจ้าดังก็ยอมรับว่า "ยากที่จะการันตีมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารในห่วงโซ่การขนส่ง"
 
ดังนั้น สิ่งที่ ‘ญี่ปุ่น’ ทำคือ ความพยายามที่จะค่อยๆ ลดการสร้างขยะพลาสติก ตั้งแต่การออกกฎหมายในปี 2534 เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงหลัก 3R (ใช้น้อย, ใช้ซ้ำ, นำไปรีไซเคิล) ตลอดทั้งกระบวนการผลิต และมีส่วนรับผิดชอบในการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ของตัวเอง
 
แต่ว่าตามจริง เวลานั้นหลายประเทศก็เริ่มประกาศลดให้ถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้งกันมานานแล้ว การที่ ‘ญี่ปุ่น’ เพิ่งประกาศเลิกให้ ‘ถุงฟรี’ จึงดูเริ่มเคลื่อนไหวช้าไปบ้าง
 
แล้วก่อนหน้านั้น เกิดอะไรขึ้นกับ ‘ญี่ปุ่น’...?
 
 
เคยได้ยินประโยคทำนองนี้กันไหม?
"วัฒนธรรมห่อพลาสติก...เพิ่มคุณค่าสินค้า"
นี่ล่ะ! คือ ‘คำตอบ’
 
‘รอย ลาร์ค’ ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัย Waikato บรรณาธิการฝ่ายการตลาดเว็บไซต์ JapanConsuming อธิบายไว้ว่า คนญี่ปุ่นในยุค 2500-2510 ติดการใช้พลาสติกมาก ในตอนนั้นญี่ปุ่นเป็นฐานการผลิตของโลก แต่เมื่อเศรษฐกิจในประเทศเริ่มเติบโตจึงมีแผนการเปลี่ยนภาพลักษณ์จากที่เคยผลิตสินค้าราคาถูกกลายเป็นผู้ค้าปลีกสินค้าพรีเมียม
 
ผู้ผลิตสินค้าจึงให้ความสำคัญกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม เพื่อมาตอบโจทย์รสนิยมของผู้บริโภคที่ต้องการมองหาสินค้าคุณภาพสูง จึงกลายเป็นมาตรฐานของผู้ค้าปลีกที่เชื่อว่าผู้ซื้อจะชอบการห่อหีบสินค้าอย่างประณีตงดงาม
 
"ผู้ค้าปลีกรายใหญ่มองว่า ตัวเองเป็นผู้ตัดสินใจเลือกคุณภาพสินค้าที่ดีแทนผู้บริโภค พวกเขาจะปฏิเสธสินค้าที่บรรจุภัณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือดูธรรมดาเกินไปออกจากร้าน"
 
ในหนังสือเรื่อง "Wrapping Culture: Politeness, Presentation in Japan and Other Societies" ปี 2536 โดย นักมานุษยวิทยา ‘จอย เฮนดรี’ เขียนถึงวัฒนธรรมการบรรจุหีบห่อพลาสติกที่ขยายความนิยมไปจนถึงการห่ออาหาร แน่แหละว่าเพื่อความสะอาดรวมถึงความสวยงาม นอกจากนั้นการห่ออาหารด้วยพลาสติกยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมความสุภาพของคนญี่ปุ่นที่แสดงถึงการให้บริการอย่างใส่ใจ การห่อด้วยพลาสติกยังทำให้ของราคาถูกดูมีราคาสูงขึ้น ทั้งยังสร้างความประทับใจแก่ผู้ซื้อว่าร้านค้านี้มีการบริการลูกค้าอย่างเอาใจใส่ในรายละเอียด แต่ว่าไป...
 
ถึงใช้เยอะ แต่ก็รีไซเคิลเยอะ
 
 
อย่าง ‘ประเทศไทย’ สร้างขยะพลาสติกมากกว่า 2 ล้านตันต่อปี และสามารถนำมารีไซเคิลได้เพียงร้อยละ 25 ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นสร้างขยะพลาสติกประมาณ 9 ล้านตันต่อปี แต่อัตราการรีไซเคิลพลาสติกของญี่ปุ่นอยู่ที่ร้อยละ 84 จากข้อมูลของสถาบันการจัดการขยะพลาสติกในญี่ปุ่น
 
ในประเทศญี่ปุ่นมีการยึดหลักการ 3R คือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำไปรีไซเคิล อย่างเคร่งครัด โดยรัฐบาลแต่ละท้องถิ่นจะมีข้อมูลในเว็บไซต์ กำหนดวันทิ้งขยะและรายละเอียดการแยกขยะแต่ละประเภทอย่างละเอียด ซึ่งในแต่ละท้องที่อาจมีมาตรการบางอย่างที่แตกต่างกันไป บางที่ต้องเขียนชื่อไว้บนถุงขยะเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ และหากนำถุงขยะมาทิ้งผิดประเภทผิดวันรถขยะจะไม่เก็บถุงนั้นไปด้วย ตัวอย่างการแยกขวดน้ำพลาสติกจะต้องล้างทำความสะอาดก่อนทิ้งแยกฝาขวด ฉลาก และตัวขวดต่างถังขยะกัน นอกจากนี้ยังมีเบอร์โทรศัพท์สายด่วนเพื่อเรียกให้มาเก็บขยะพิเศษ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และขยะติดเชื้อ
 
แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีรูปแบบการจัดการขยะที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วระบบรีไซเคิลก็ยังรับปริมาณขยะพลาสติกที่ล้นหลามไม่ไหว ที่ศูนย์รีไซเคิลเอนจิเนียริ่ง อิชิคาวะ คันคโย (Ichikawa Kankyo Engineering recycle center) รับขยะพลาสติกจากเขตคัตสึชิกะ เขตหนึ่งในโตเกียวมารีไซเคิลทุกวัน มากถึงวันละ 10 ตัน
 
อย่าปล่อย...ความพยายามรักษ์โลกที่สูญเปล่า
 
แม้ตัวเลขการรีไซเคิลในญี่ปุ่นจะสูง แต่มันก็ซ่อนนัยสำคัญบางอย่างในนั้น ‘ชิซาโต โจโน' โฆษกกรีนพีซประจำประเทศญี่ปุ่น กล่าวไว้ว่า
เมื่อคนญี่ปุ่นคัดแยกขยะพลาสติกเป็นอย่างดีก่อนนำไปทิ้ง พวกเขาคิดว่าขยะเหล่านั้นจะกลายมาเป็นพลาสติกชิ้นใหม่ ในทางกลับกันขยะพลาสติกส่วนมากที่ทิ้งลงถังมานั้นจะไม่ถูกนำมาผลิตใหม่ เพราะคุณภาพของพลาสติกที่ต่ำลงรวมถึงปริมาณพลาสติกที่มีเยอะเกินไป ส่วนหนึ่งจึงต้องนำไปกลบฝัง และมากกว่าครึ่ง ประมาณร้อยละ 56 ถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงพลังงาน เป็นกระบวนการที่เรียกว่ารีไซเคิลความร้อน นำมาสร้างกระแสไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นมลพิษกับสิ่งแวดล้อมด้วย
 
ขยะพลาสติกและเศษตัดพลาสติกอีกส่วนหนึ่งยังส่งออกไปต่างประเทศ ในปี 2561 ญี่ปุ่นเป็นประเทศอันดับหนึ่งในการส่งออกขยะพลาสติก ปริมาณกว่า 1 ล้านตัน ซึ่งจะสร้างปัญหาใหม่เมื่อขยะได้ส่งไปถึงประเทศปลายทาง
 
"เราไม่รู้ว่าขยะเหล่านั้นจะถูกนำไปรีไซเคิลด้วยวิธีที่เหมาะสมหรือไม่ และกระบวนการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน" โจโนกล่าว เนื่องจากอุตสาหกรรมรีไซเคิลเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษสูง ทำให้อากาศปนเปื้อนและเป็นตัวก่อโรคมะเร็ง
 
ทว่าประเทศที่เคยเป็นที่รับซื้อขยะอย่างจีนประกาศแบนขยะพลาสติกนำเข้า ในเดือนสิงหาคม ปี 2560 ส่งผลให้ขยะพลาสติกในญี่ปุ่นเริ่มถมสูงด้วยกำลังของคลังเก็บที่ไม่เพียงพอ ญี่ปุ่นจึงเบนเป้าส่งออกไปยังประเทศอื่น เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย และประเทศไทย ซึ่งทำให้ยอดนำเข้าของไทยสูงขึ้นมากถึงร้อยละ 2,000-7,000 ในปี 2562 จากที่เคยนำเข้า จำนวน 2,508 ตัน เพิ่มขึ้นเป็น 9,860 ตัน
 
ด้าน ‘ยู’ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมกล่าว คนญี่ปุ่นคิดว่าวิธีการที่พวกเขาจัดการขยะอย่างดีแล้ว ก่อนทิ้งภาชนะพลาสติกจะต้องล้างทำความสะอาดแล้วตากให้แห้ง และแยกประเภทอย่างละเอียด แต่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาของขยะพลาสติกจะยังเพิ่มขึ้น ถ้าพวกเขายังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมที่นำไปสู่การลดปริมาณการใช้ อย่างการปฏิเสธที่จะรับถุงเมื่อซื้อสินค้า "นั่นจะเป็นตัวกระตุ้นให้ฝั่งผู้ขายเริ่มคิดเปลี่ยนไม่ใช้พลาสติกห่อสินค้า"
 
 
• แนวคิดจากคนตัวเล็ก
ในตำบลเล็กๆ ของญี่ปุ่นแห่งหนึ่งได้เริ่มปฏิการมุ่งสู่การสร้างขยะเท่ากับศูนย์ ตั้งแต่ปี 2546 ที่ตำบลคามิคัทสึ ผู้นำศูนย์จัดการขยะทำหน้าที่ให้ความรู้แก่คนในชุมชนเรื่องการคัดแยกประเภทขยะ แบ่งได้ถึง 45 ประเภท ทำให้นำไปรีไซเคิลได้ง่าย รวมทั้งเรื่องการลงทุนซื้อของใช้ในบ้านที่ใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมาคามิคัทสึได้เข้าใกล้เป้าหมายโดยสามารถนำขยะไปรีไซเคิลได้ถึงร้อยละ 80.7 จากขยะทั้งหมดที่เมืองสร้าง ส่วนที่เหลือหากยังใช้งานได้ก็จะนำมาตั้งไว้ในร้านค้าหมุนเวียนกลายเป็นของใช้มือสองที่ให้คนมาหยิบไปได้และมีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว
 
นอกจากนี้ ยังมีการออกอุบายจูงใจคนในชุมชนให้หลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว ด้วยการสร้างเครือข่ายร้านค้าในชุมชนให้ช่วยกันลดการสร้างขยะ มีการสะสมคะแนนเมื่อผู้ซื้อปฏิเสธการรับถุง แล้วคะแนนที่ได้จะนำไปจับสลากแลกของรางวัลได้ ตัวแทนศูนย์คัดแยกขยะกล่าว
 
ในเมืองที่ใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อยก็มีมาตรการลดขยะเช่นกัน ในปี 2561 เมืองคาเมโอกะเป็นเมืองแรกในญี่ปุ่นที่ประกาศแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียว และตั้งเป้าให้เลิกใช้ทั้งหมดภายในปี 2573
 
แล้วอนาคตการใช้ ‘พลาสติก’ เป็นอย่างไร?
 
 
ปลายปีที่แล้วมีอย่างน้อย 90 ประเทศที่มีการแบน หรือลดอย่างจริงจังในกลุ่มพลาสติกใช้ครั้งเดียว เช่น ถุงหูหิ้ว หลอด แก้ว ที่ประเทศจีนมีแผนจะแบนพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ในหลายเมืองใหญ่ปลายปีนี้ และแบนทั้งประเทศภายในปี 2565 ส่วนประเทศญี่ปุ่นรวมมาตรการทั้งสร้างแรงจูงใจและกีดกันให้ผู้ซื้อลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว และส่งเสริมการรีไซเคิลในภาคอุตสาหกรรม
ตัวผู้ซื้อเองต้องตระหนักถึงการสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในการกำหนดคุณค่าและโมเดลการทำธุรกิจในอนาคต
 
ฝ่ายธุรกิจเองก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ในปี 2562 ร้านสะดวกซื้อที่มีสาขาทั่วประเทศ อย่างเซเว่น อีเลฟเว่น ได้เปลี่ยนวัสดุที่ใช้ห่อข้าวปั้นเป็นพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากพืช ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่มีนัยสำคัญเพราะร้านสะดวกซื้อผลิตข้าวปั้นกว่า 2.2 พันล้านลูกต่อปี จะประมาณการลดการสร้างขยะพลาสติกได้ถึง 260 ตัน และลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 403 ตันต่อปี
 
โจโน โฆษกกรีนพีซยังแสดงความเห็นแย้งว่า ทางออกของปัญหาขยะไม่ใช่การสร้างขยะที่เป็นพลาสติกชีวิภาพที่ย่อยสลายง่าย แต่ต้องเป็นการหาหนทางที่จะเลิกใช้พลาสติกไปเลย เพราะการทำพลาสติกชีวภาพก็เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างเกินจำเป็นเหมือนกัน เธอยกตัวอย่างร้านที่ขายข้าว ถั่ว ธัญพืช อาหารแห้ง ที่ต้องการให้ผู้ซื้อนำภาชนะมาตวงสินค้าเองตามที่ต้องการซื้อแล้วขายตามน้ำหนัก
 
อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีการประกาศเลิกใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีนี้ แต่เพราะสถานการณ์โรคระบาดที่ส่งเสริมให้ธุรกิจส่งอาหารเติบโต เป็นแรงผลักให้ประเทศไทยกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งเพื่อลดการสร้างขยะพลาสติกอีกครั้ง หลังจากนี้ในไทยและอีกหลายประเทศจำเป็นต้องมองหาแนวทางร่วมกับธุรกิจส่งอาหารให้คำนึงถึงการลดการสร้างขยะพลาสติก เช่น เปลี่ยนไปใช้วัสดุที่ย่อยสลายง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังต้องส่งเสริมให้คนไทยคัดแยกขยะอย่างจริงจังเพื่อลดต้นทุนในการนำไปรีไซเคิลอีกด้วย
 
ที่มา : Thairath Online
Visitors: 1,430,148