เจาะดราม่า ตะไคร้หอม ทำไมถึงถูกขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย

เจาะดราม่า “ตะไคร้หอม” ทำไมถึงถูกขึ้นทะเบียน “วัตถุอันตราย”
 
"ตระไคร้หอม" หนึ่งใน พืชสมุนไพร 13 ชนิด ถูกขึ้นทะเบียน "วัตถุอันตราย" ชนิดที่ 2 และกำลังจะปลดล็อคให้เป็นชนิดที่ 1 เนื่องจากถูกใช้ประโยชน์ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช
 
 
"ตะไคร้" สมุนไพรพื้นบ้านของไทยที่มีสรรพคุณหลากหลาย ตั้งแต่การใช้เป็นส่วนประกอบของเมนูอาหารประจำชาติอย่าง ‘ต้มยำ’ ไปจนถึงการนำมาผลิต ‘น้ำมันหอมระเหย’ จากตะไคร้หอม สำหรับการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ให้ประโยชน์แก่วงการเกษตรกรรมไทยมากมาย
 
ทั้งนี้ข้อถกเถียงเรื่อง ตะไคร้ ถูกพูดถึงในวงการสมุนไพรอยู่ตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากในปี 2552 กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้ตะไคร้หอมและพืชสมุนไพรอื่นๆ ได้แก่ สะเดา ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก รวม 13 ชนิด ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2
 
และล่าสุดเมื่อ 13 ก.ค. 2563 มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ผู้เป็นประธานในการประชุมการกำหนดพืชสมุนไพร 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ออกมาเปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำข้อมูลเพื่อยกร่างเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อปลดล็อคบัญชีพืชสมุนไพรจากการเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2
 
จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำให้เกษตรกรบางส่วนพึงพอใจต่อการพิจารณาที่เกิดขึ้น ส่วนใครที่ยังสงสัยและงงๆ อยู่ว่า "ตะไคร้หอม" และสมุนไพรอื่นๆ อีก 12 ชนิดดังกล่าว ทำไมจึงถือว่าเป็นวัตถุอันตราย?
 
เราจะชวนมาเจาะลึกข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายเหล่านี้กัน
 
ความหมายของ วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 และ 2 คืออะไร
พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ระบุว่า วัตถุอันตรายมีลักษณะดังต่อไปนี้
วัตถุระเบิดได้ วัตถุไวไฟ วัตถุออกซิไดซ์และวัตถุเปอร์ออกไซด์ วัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค วัตถุกัมมันตรังสี วัตถุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง และวัตถุอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใด ที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม ที่มีการผลิตขึ้นมา หมายความว่า ทำ เพาะ ปรุง ผสม แปรสภาพ ปรุงแต่ง แบ่งบรรจุ หรือ รวมบรรจุ
 
โดยมีการจำแนกการควบคุมไล่ระดับจากความอันตรายน้อยไปจนถึงอันตรายมาก ดังนี้
 
 
วัตถุอันตรายชนิดที่ 1
ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
วัตถุอันตรายชนิดที่ 2
ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดด้วย
วัตถุอันตรายชนิดที่ 3
ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องรับใบอนุญาต
วัตถุอันตรายชนิดที่ 4
ได้แก่ วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง
 
ทั้งนี้พืชสมุนไพร 13 ชนิด คือ สะเดา ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก ถูกประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2
 
 
เพราะอะไร "ตะไคร้หอม" ถึงจัดเป็น "วัตถุอันตราย"
มาถึงคำถามคาใจใครหลายคนที่ว่า ทำไมสมุนไพรที่คนไทยคุ้นเคยดีนั้นจึงถูกจัดเป็นวัตถุอันตราย?
โดยเฉพาะ 13 สมุนไพร ได้แก่ สะเดา ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายยาก
 
มีคำตอบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า พืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิด ถูกนิยามไว้ว่าเป็นพืชที่เกษตรกรได้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสารควบคุมแมลงเพื่อทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
 
จึงสรุปง่ายๆ ได้ว่าพืชทั้ง 13 ชนิดนั้นถูกใช้ประโยชน์ในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช และสารสกัดธรรมชาติจากพืชเหล่านั้นมีความเสี่ยงต่อความเป็นพิษ จึงต้องถูกควบคุมตามกฎหมาย โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ครอบครองที่จะมีไว้ใช้ จะต้องทำการขึ้นทะเบียน และแจ้งการดำเนินงานกับกรมวิชาการเกษตร
 
 
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
 
Visitors: 1,217,430